EDUCA ครู วิชาชีพครู

EDUCA ระดมพลังภาครัฐ – เอกชน ปลุกการศึกษาไทย สร้างโรงเรียนแนวคิด SLC ตอบโจทย์โลกอนาคต

Home / วาไรตี้ / EDUCA ระดมพลังภาครัฐ – เอกชน ปลุกการศึกษาไทย สร้างโรงเรียนแนวคิด SLC ตอบโจทย์โลกอนาคต

นับเป็นปีที่ 12 แล้วของการจัดงาน มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) ซึ่งสามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงการตอบรับจากครูทั่วประเทศอย่างล้นหลาม โดยปีนี้มีครูเข้าร่วมงาน EDUCA 2019 กว่า 7,000 คน คิดเป็นเกือบ 30,000 ที่นั่ง ที่มาอัปเดตองค์ความรู้และเทรนด์การศึกษาใหม่ ๆ ของไทย และนานาชาติ พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำเวิร์คชอปที่สามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้

EDUCA ระดมพลังภาครัฐ – เอกชน ปลุกการศึกษาไทย

ในฐานะผู้จัดงาน มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) โดย นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความพิเศษของงาน EDUCA 2019 นั้น นอกจากจะเป็นการจัดงานที่เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 แล้ว ยังมีการประชุมนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 (The 7th International Conference of School Learning Community 2019) โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้มีความเข้มแข็งผ่านงาน EDUCA 2019

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้ (The Power of Learning Community)” มีนักการศึกษาระดับโลกร่วมเป็นวิทยากร เช่น ศาสตราจารย์มานาบุ ซาโต ประธานเครือข่ายนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ศาสตราจารย์คิโยมิ อากิตะ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยโตเกียว และ รองศาสตราจารย์คริสทีน คิม อิ๊ง ลี สถาบันครุศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง เป็นต้น

EDUCA 2019 

“การดำเนินงาน EDUCA เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ต้องการช่วยการศึกษาของประเทศ เป็นการรวมพลังของผู้คนที่ใส่ใจเรื่องนี้ มีเอกชนเป็นผู้นำและมุ่งหวังเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูให้ดีขึ้น โดยนำความเชี่ยวชาญในเรื่องการสื่อสาร (Communication) มาสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพครู ไม่เพียงแต่พันธมิตรในไทยเท่านั้น แต่ยังมีพันธมิตรจากต่างประเทศมาร่วมขับเคลื่อนการศึกษาด้วย เห็นได้จากการประชุมนานาชาติเรื่องโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC: School as Learning Community) ที่มาจัดในงาน EDUCA นั้นก็เป็นแนวคิดที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพการศึกษาได้ในระยะยาว”

ศาสตราจารย์มานาบุ ซาโต ประธานเครือข่ายนานาชาติ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้
ศาสตราจารย์มานาบุ ซาโต ประธานเครือข่ายนานาชาติ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้

ศาสตราจารย์มานาบุ ซาโต ประธานเครือข่ายนานาชาติ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (The International Network for School as Learning Community) ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนแนวคิด SLC เกี่ยวข้องกับปรัชญาทางการศึกษา 3 ด้าน ได้แก่ ปรัชญาความเป็นส่วนรวมและสาธารณะ เป็นเรื่องการเปิดเผยห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของทุกคน, ปรัชญาประชาธิปไตย เคารพในความหลากหลายของปัจเจกบุคคล และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง, ปรัชญาความเป็นเลิศ ส่งเสริมให้เด็กได้รับการเรียนรู้ที่ดี และได้รับการพัฒนาศักยภาพตามความเก่งในแบบของตัวเอง

โดยโรงเรียนแนวคิด SLC ไม่มีสูตรและเทคนิคตายตัว แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ ด้วยความตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของครู เด็ก และผู้ปกครอง ซึ่งทุกคนมีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน

“สำหรับธีมงานของการประชุมนานาชาติ SLC ปีนี้ คือ การสืบสอบและความร่วมมือรวมพลังโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและห้องทำงานของครู โดยเรามองว่าการปฏิรูปโรงเรียนไม่ได้อยู่ที่ชั้นเรียนเท่านั้น ต้องผนวกเรื่องการสืบสอบและความร่วมมือทั้งในห้องเรียนและห้องพักครูเข้าด้วยกัน ซึ่งขณะที่มีการสืบสอบก็จะเกิดการสนทนาและปรึกษากัน เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการเรียนรู้

อีกทั้งการสืบสอบและความร่วมมือรวมพลังยังถือว่าเป็นหัวใจหลักของการเป็นพลเมืองประชาธิปไตย เพราะจะเกิดผู้ฟังและผู้ตามที่ดี ขณะที่ในห้องเรียน เด็กทุกคนจะมีปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้ผ่านครูที่มี Jumping Task หรือออกแบบและมอบหมายงานที่มีความท้าทายให้กับเด็ก เพื่อให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้อย่างก้าวกระโดด”

รองศาสตราจารย์คริสทีน คิม อิ๊ง ลี จากสถาบันครุศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์
รองศาสตราจารย์คริสทีน คิม อิ๊ง ลี จากสถาบันครุศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์

ด้าน รองศาสตราจารย์คริสทีน คิม อิ๊ง ลี จากสถาบันครุศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Jumping Task ว่า เป็นโจทย์สำคัญของครูในการออกแบบงานที่ทำให้เด็กเกิดความร่วมมือกันในการสืบสอบและเรียนรู้ โดยต้องเป็นบทเรียนที่เป็นพลวัต เพื่อให้เด็กเกิดการ รับฟังและสะท้อนข้อมูลระหว่างกันผ่านการสนทนา

ซึ่งการร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มจะกระตุ้นให้เด็กฝึกคิดและเรียนรู้ได้มากกว่า อีกทั้งเมื่อมีการช่วยเหลือกัน ก็ส่งผลให้ผลงานที่ออกมามีคุณภาพสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ครูจะต้องสร้างบรรยากาศที่ไว้วางใจกันในห้องเรียน เพราะความเชื่อเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรม หากเด็กๆ เกิดความเชื่อใจกันก็จะมีความรับผิดชอบต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น

“ในระหว่างการเรียนการสอน อาจให้ครูจากรายวิชาอื่นมาร่วมสังเกตการณ์ห้องเรียน แล้วสะท้อนกลับไปยังครูประจำวิชานั้น ๆ ว่าการสอนของเขาเป็นอย่างไร เด็กมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับแผนการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก โดยการเข้าร่วมสังเกตการณ์ยังทำให้ครูเกิดความเข้าใจเด็กในมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความตั้งใจในการสร้างความรู้เชิงลึกแก่นักเรียน”

EDUCA 2019 

โดย รองศาสตราจารย์คริสทีน คิม อิ๊ง ลี ได้ยกตัวอย่างถึงการออกแบบกิจกรรมการสืบสอบและความร่วมมือ รวมพลังของโรงเรียนในประเทศสิงคโปร์ว่า เดิมการทดลองในวิชาวิทยาศาสตร์นั้นครูจะบอกนักเรียนอย่างชัดเจนและเป็นขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นครูให้เพียงวัสดุกับนักเรียน แล้วให้เด็กตัดสินใจเองว่าจะทำการทดลองอะไร ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาได้วิเคราะห์ พัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ และเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมชั้นและครูอย่างใกล้ชิด

“ประเทศสิงคโปร์เชื่อว่าครูเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา เราจึงลงทุนเรื่องครูอย่างมาก เพราะมองว่าระบบการศึกษาใดก็ตามไม่สามารถดีได้หากคุณภาพครูไม่ดี โดยสิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือการสังเกตการณ์ และการพูดคุยระหว่างครู ซึ่งมีพลังมากในการเสริมคุณภาพของครูให้สามารถออกแบบหรือปรับปรุงบทเรียนได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาและมีศักยภาพสูงตามไปด้วย” รองศาสตราจารย์คริสทีน คิม อิ๊ง ลี กล่าวปิดท้าย

ศาสตราจารย์คิโยมิ อากิตะ มหาวิทยาลัยโตเกียว
ศาสตราจารย์คิโยมิ อากิตะ มหาวิทยาลัยโตเกียว

EDUCA 2019 

EDUCA 2019 

บทความที่น่าสนใจ