เป็นประจำทุกปี ที่เราจะได้เห็นผลการสำรวจเกี่ยวกับอาชีพในฝันของเหล่าเด็กไทย และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็มีข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับผลการสำรวจดังกล่าวมาบอกกันด้วย ซึ่งเป็นการสำรวจโดยกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ที่ได้มีการจัดทำการสำรวจ “อาชีพในฝันของเด็กไทย” ครั้งที่ 11 ประจำปี 2563 ที่ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเด็กไทยที่มีอายุระหว่าง 7 – 14 ปี จำนวน 4,050 คน จากทั่วทุกภูมิภาคของไทย
5 อาชีพในฝันของเด็กไทย ปี 2563 อยากเรียนต่อด้านนี้ ต้องทำอย่างไร?
พบว่า อาชีพในฝันของเหล่าเด็กไทยในปีนี้อันดับ 1 ยังคงเป็น “แพทย์” เช่นเดิมเหมือนกับในปี 2562 ที่ผ่านมา ด้านอันดับที่ 2 ก็ยังคงเป็นอาชีพ “ครู” เช่นกัน ทั้งจากการสำรวจยังพบว่า ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่เลือกอาชีพแพย์ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่อาชีพครูส่วนใหญ่แล้วเด็กที่เลือกจะเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ สะท้อนให้เราได้เห็นถึงค่านิยมในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันออกไป
โดยอาชีพที่มาแรงในปีนี้ ได้แก่ “ยูทูปเบอร์” ที่สามารถไต่อันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 แซงหน้าอาชีพ “นักกีฬา” และ “ทหาร” ซึ่งเด็กไทยส่วนใหญ่มองว่าอาชีพยูทูปเบอร์ เป็นอาชีพที่สามารถทำในสิ่งที่ตนเองชอบได้ และมีรายได้สูงนั่นเอง
และน้อง ๆ คนค้นหาตัวเองกันเจอหรือยัง? สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ยังไม่แน่ใจว่าในอนาคตตนเองอยากจะเรียนต่อด้านไหนหรือประกอบอาชีพอะไรดีนั้น ก็สามารถจะมีดู 5 อาชีพในฝันของเด็กไทยเป็นแนวทางค้นหาตนเองกันได้เลย จะได้เตรียมตัวกันทันนะ เพราะในแต่ละอาชีพนั้นก็มีเกณ์การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อที่แตกต่างกันออกไป
อันดับ 1 แพทย์
อยากเรียนต่อแพทย์ ต้องทำอย่างไร?
รับตรงผ่าน กสพท. ซึ่งเป็นสนามสอบเข้าเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ยังรวมถึงคณะทันตแพทย์ สัตวแพทย์ และเภสัชศาสตร์อีกด้วย ใครสามารถสมัครสอบได้บ้าง…
1. คณะแพทยศาสตร์ เปิดสมัครรับทั้งเด็กที่จบสายวิทย์-คณิตฯ และสายศิลป์ ส่วนเด็กซิ่วที่ยังเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 1 ไม่สามารถสมัครได้ ถ้าหากต้องการสมัครจะต้องทำการลาออกเสียก่อน และต้องไม่ศึกษาอยู่ในคณะที่ต้องการสมัครใหม่ด้วย
2. มีผลคะแนน GPAX เกรดเฉลี่ยสะสมระดับ ม.ปลาย
3. ต้องมีคะแนนสอบวิชาสามัญ 9 วิชา โดยน้อง ๆ จะต้องเลือกสอบ 7 วิชา ดังนี้
- ฟิสิกส์
- เคมี
- ชีววิทยา
- คณิตศาสตร์ 1
- ภาษาอังกฤษ
- ภาษาไทย
- สังคมศึกษาฯ
4. ต้องมีคะแนนสอบวิชาความถนัดแพทย์ ที่จัดสอบโดย กสพท.
5. ต้องมีผลคะแนนสอบ O-NET (วิทย์ คณิต อังกฤษ ไทย สังคมฯ)
** ทั้งนี้เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกแต่ละปี อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นน้อง ๆ จะต้องคอยติดตามรายละเอียดข้อมูลการสมัครของแต่ละสถาบัน หรือที่เว็บไซต์ กสพท. กันด้วยนะจ๊ะ
การสมัครในรูปแบบอื่น ๆ ที่เราสามารถสมัครได้
นอกจากคณะด้านการแพทย์ จะรับสมัครผ่านทาง กสพท. แล้วนั้น ยังสามารถสมัครเข้าเรียนต่อในโครงการต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นรอบโควตา มหาวิทยาลัยจะทำการจัดสอบเอง เช่น MD02 ของ ม.ขอนแก่น ฯลฯ และรอบรับตรง ที่มหาวิทยาลัยเป็นคนจัดสอบ พร้อมกำหนดเกณฑ์คัดเลือกเอง เป็นต้น
บทความเพิ่มเติม > เรียนแพทย์ 6 ปี ต้องเจออะไรบ้าง? รายชื่อสถาบันการศึกษาที่เปิดสอน
อันดับ 2 ครู
อยากเป็นครู ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?
การเป็นครู จะต้องเรียนรู้หลักการ ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับการสอน และการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งเราจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจว่า มนุษย์สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างไร และทำอย่างไรเราจึงจะเป็นผู้สอนที่ดีได้ สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมถึงจริยธรรมให้นักเรียนเข้าใจ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ พร้อมทั้งเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไปในอนาคต
โดยน้อง ๆ จะเรียนรู้ตั้งแต่วิชาพื้นฐานจนถึงวิธีการจัดการวางแผนการสอน เช่น พื้นฐานการศึกษาและวิชาชีพครู การออกแบบและการจัดการการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การวัดและประเมินผลทางการศึกษา และจิตวิทยาพื้นฐานการศึกษา เป็นต้น
ซึ่งวิชาเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการวางแผนการสอน การจัดการเรียนในห้องเรียน และการวัดผลเด็กนักเรียน โดยในขณะเดียวกันน้อง ๆ ก็จะได้เลือกสาขาวิชาเอกตามที่ตนเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสาขาการสอนวิชาต่าง ๆ ทั้งสายวิทย์-คณิตฯ สายศิลป์ และการสอนในระดับต่าง ๆ เป็นต้น
เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือก
1. ผลคะแนน GPAX เกรดเฉลี่ยสะสมระดับ ม.ปลาย
2. ต้องมีผลคะแนนสอบ GAT/PAT (PAT5 วิชาวัดความถนัดทางอาชีพครู)
3. มีผลคะแนนสอบ O-NET
4. ต้องมีคะแนนสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ดังนี้
- ภาษาไทย
- สังคมศึกษาฯ
- ภาษาอังกฤษ
- คณิตศาสตร์ 1
- ฟิสิกส์
- เคมี
- ชีววิทยา
- วิทยาศาสตร์
- คณิตศาสตร์ 2
** ทั้งนี้ในบางสถาบันการศึกษาอาจจะมีการใช้ผลคะแนนสอบ 9 วิชาสามัญที่ต่างกัน เช่น บางทีอาจจะใช้ผลคะแนน 7 วิชา ได้แก่ ไทย สังคม อังกฤษ คณิต 1 ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา (สำหรับเด็กสายวิทย์-คณิต) แต่ในบางทีอาจจะใช้ผลคะแนนสอบ คณิต 2 และวิทยาศาสตร์ แทนคณิต 1 และ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา (สำหรับเด็กสายศิลป์) เป็นต้น
บทความเพิ่มเติม > เรื่องน่ารู้ก่อนตัดสินใจเรียน ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ – สาขาวิชาที่เปิดสอน
อันดับ 3 ยูทูปเบอร์
สำหรับอาชีพมาแรงในปีนี้ ต้องยกให้กับ อาชีพยูทูปเบอร์ เลยค่ะ ที่ไต่อันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 แซงหน้าอาชีพนักกีฬาและทหารได้สำเร็จ โดยเด็กไทยมองว่ายูทูปเบอร์เป็นอาชีพที่สามารถทำในสิ่งที่ตนเองชอบได้ มีอิสระ รายได้สูง และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก โดยที่น้อง ๆ หลายคนได้รับแรงบันดาลใจมาจากยูทูปเบอร์และนักแคสเกมที่ตนเองชื่อชอบ
น้อง ๆ คนไหนที่อยากจะเป็น ยูทูปเบอร์ ก็สามารถที่จะลองเปิดช่องยูทูปของตนเองได้เลย ถึงแม้ว่าเราจะยังเรียนไม่จบก็ตาม เพียงแค่เราหาในสิ่งที่ตนเองถนัดและชื่นชอบได้ก็สามารถลองทำอาชีพนี้ได้แล้วค่ะ
อันดับ 4 นักกีฬา
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา เรียนเกี่ยวกับอะไร?
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยส่วนใหญ่แล้วจะเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬา ให้สามารถเล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ สรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา ชีวกลศาสตร์ โภชนาการ มาใช้ในการเรียนรู้ นอกจากนี้น้อง ๆ ยังจะต้องศึกษาเกี่ยวกับระบบการทำงานของมนุษย์ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด อีกด้วย
เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือก
1. ต้องมีผลคะแนน GPAX เกรดเฉลี่ยสะสมระดับ ม.ปลาย
2. ผลคะแนนสอบ GAT/PAT
3. ผลคะแนนสอบ O-NET
4. ต้องมีคะแนนสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ดังนี้
- ภาษาไทย
- สังคมศึกษาฯ
- ภาษาอังกฤษ
- คณิตศาสตร์ 1 หรือ คณิตศาสตร์ 2
- วิทยาศาสตร์
- ฟิสิกส์
- เคมี
- ชีววิทยา
** ซึ่งในแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีการกำหนดเกณฑ์คะแนนที่ใช้ที่แตกต่างกันออกไป น้อง ๆ ควรศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อนตัดสินใจสมัครกันด้วยนะ เข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเลยนะ
นอกจากนี้ คณะวิทยศาสตร์การกีฬาก็ไม่ได้เรียนจบออกมาเป็นนักกีฬาได้เพียงอย่างเดียว ยังสามารถประกอบอาชีพอื่นได้อีกด้วย เช่น นักจิตวิทยาการกีฬา เทรนเนอร์ฟิตเนส โค้ชฝึกสอนกีฬา และนักโภชนาการกีฬา เป็นต้น
บทความเพิ่มเติม > วิทยาศาสตร์การกีฬา เรียนจบไป สามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง?
อันดับ 5 ทหาร
สำหรับการสมัครสอบเข้าเป็นนักเรียนทหารของทุกเหล่าทัพนั้น จะมีการเปิดรับสมัครเป็นประจำในทุกปี โดยจะมีการแบ่งออกเป็นบุคคลพลเรือนและบุคคลที่ทำงานอยู่ในกรมหรือกองของเหล่าทัพนั้น ๆ โดยเปิดรับสมัครทั้งน้อง ๆ ที่เรียนจบในระดับชั้น ม.3 ม.6 ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรี เช่น การสมัครเป็นทหารหญิง และการสมัครเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายสิบทหารบก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การสมัครเข้าเป็นทหารหญิง (ทุกเหล่าทัพ)
ต้องเรียนจบระดับใด ถึงจะสมัครได้?
1. เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
น้อง ๆ สามารถใช้วุฒิ ม.3 สมัครสอบบรรจุได้ในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยสามารถทำการตรวจสอบรายละเอียด จากระเบียบการต่าง ๆ ของแต่ละเหล่าทัพ ได้ตามหน่วยงานราชการที่เปิดสอบ ไม่ว่าจะเป็น กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ เมื่อสอบได้ก็จะมีการอบรม และติดยศนายสิบ (จ่าตรี หรือจ่าอากาศตรี ขึ้นอยู่กับแต่ละเหล่าทัพ)
2. เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ จบ ปวช. หรือ ปวส.
น้อง ๆ สามารถใช้วุฒิตามที่เรียนมาได้เลยในการสมัครสอบเข้าบรรจุ โดยสามารถทำการตรวจสอบรายละเอียดจากระเบียบการต่างๆ ของแต่ละเหล่าทัพ ซึ่งเป็นการสอบโดยตรงกับ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ เมื่อสอบได้ก็จะมีการอบรม และติดยศนายสิบ (จ่าตรี หรือจ่าอากาศตรี ขึ้นอยู่กับแต่ละเหล่าทัพ)
3. เรียนจบในระดับปริญญาตรี
น้อง ๆ สามารถใช้วุฒิตามที่เรียนมาได้เลยในการสมัครสอบเข้าบรรจุ ซึ่งตำแหน่งที่เปิดรับอาจจะระบุคุณวุฒิการศึกษา ที่ทางหน่วยราชการต้องการ หรือในบางตำแหน่งอาจจะไม่ได้ระบุ โดยตรงกับกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ เมื่อสอบได้ก็จะมีการอบรม และติดยศร้อยตรี (เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นอยู่กับแต่ละเหล่าทัพ)
ห้วงเวลาที่เปิดรับในแต่ละปี
- สนามสอบบุคคลพลเรือน เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ (ห้วง มกราคม)
- สนามสอบพยาบาลเหล่าทัพ (ห้วง มกราคม-มีนาคม)
- สนามสอบนายสิบกองหนุนเหล่าแพทย์ (ห้วง กุมภาพันธ์)
- สนามสอบนายสิบกองหนุน เหล่าการเงิน (ห้วง มีนาคม)
- สนามสอบ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ห้วง พฤษภาคม)
- สนามสอบบุคคลพลเรือน เข้ารับราชการในกองทัพเรือ (ห้วง กรกฎาคม-สิงหาคม) เปิดรับครั้งเดียว
- สนามย่อยต่าง ๆ (ห้วงไม่แน่นอน) บางปีไม่เปิดสอบ
บทความเพิ่มเติม > เปิดเส้นทางการสอบเข้า ทหารหญิง ทุกเหล่าทัพ ต้องเรียนจบด้านไหน
สมัครเรียนต่อที่ โรงเรียนนายสิบทหารบก
คุณสมบัติของผู้สมัคร
1. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือสายอาชีพ หรือเทียบเท่า และผู้ที่กำลังรอผลการศึกษา (ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ)
2. เป็นชายไทย อายุตั้งแต่ 18 – 22 ปี ไม่รับสมัครผู้ที่มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองประจำการ และผู้ที่ขอผ่อนผันทุกกรณี ยกเว้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหาร ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 (รด.ปี 3) ขึ้นไป ซึ่งต้องมีหลักฐานใบสำคัญ หรือหากเป็นทหารกองหนุนต้องมีใบกองหนุน (สด.8) หรือใบรับรองผลการตรวจเลือกฯ (สด.43) มาแสดงต่อกรรมการรับสมัคร
3. ทหารกองประจำการ, พลทหารประจำการ (พลอาสาสมัคร) และอาสาสมัครทหารพราน ในส่วนของกองทัพบก ต้องมีอายุไม่เกิน 24 ปี (ถ้าสมัครนักเรียนนายสิบเหล่าทหารราบจะต้องประจำการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี)
4. มีสัญชาติไทย และบิดา – มารดา มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด แต่ถ้าบิดาเป็นนายทหารสัญญาบัตรหรือนายทหารประทวน ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดแล้ว มารดาจะมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดก็ได้
5. เป็นชายโสด ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรม ไม่เป็นผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
6. ต้องว่ายน้ำได้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 25 เมตร
7. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างเป็นจำเลยในคดีอาญา และไม่เคยต้องคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดในลักษณะลหุโทษ หรือ ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
8. ไม่เป็นผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ในปีที่สมัครสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบทหารบก
วิธีการคัดเลือก มีดังนี้
1. สอบข้อเขียน เป็นการสอบภาควิชาการ เนื้อหาที่ออกสอบจะเป็นวิชาเรียนในระดับ ม.ปลาย ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
2. ผู้ที่สอบผ่านรอบวิชาการ จะได้เข้ารับการสอบสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย และทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
** เมื่อน้อง ๆ ที่เรียนจบจากโรงเรียนนายสิบทหารบกแล้ว สามารถสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้ และเมื่อเรียนจบจะได้รับการติดยศสิบตรี
บทความเพิ่มเติม > 13 เหล่าน่าเรียน โรงเรียนนายสิบทหารบก – เรียนฟรี มีเงินเดือนให้
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://adecco.co.th