ม.ธรรมศาสตร์

วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ ดันงานวิจัยเปเปอร์ สู่นวัตกรรมใช้ได้จริง

Home / วาไรตี้ / วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ ดันงานวิจัยเปเปอร์ สู่นวัตกรรมใช้ได้จริง

นักวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ปักธงแก้ปัญหางานวิจัยไทย ดัน “งานวิจัยเปเปอร์” สู่ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” และ “นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ” ที่ได้รับการผลิตและพร้อมปรับใช้ในทุกบริบทสังคม ตอกย้ำนโยบายคณะ มุ่งผลักดันงานวิจัยเกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม สอดรับความต้องการสังคมและอุตสาหกรรม อาทิ ‘Space Walker’ อุปกรณ์ช่วยเดินแบบมีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน สู่ธุรกิจสตาร์ทอัพสร้างรายได้แก่นักศึกษาเจ้าของผลงาน หรือ ‘Tham-Robot’ หุ่นยนต์จัดส่งเวชภัณฑ์ ลดเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยใน รพ. ธรรมศาสตร์ฯ เล็งเสนอแนะนักวิจัยไทยเร่งผลิตวิจัยยุคใหม่ ขานรับยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยการ “วิจัยตรงความต้องการประเทศ – วิจัยทันกระแส พร้อมแก้ปัญหาสังคม”

วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ ดันงานวิจัยเปเปอร์ สู่นวัตกรรมใช้ได้จริง

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า ปัจจุบันนักวิจัยไทย ยังเผชิญปัญหาการทำวิจัยอย่างครบวงจร ด้วยข้อจำกัดด้านกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ในการผลักดัน “งานวิจัยหรือนวัตกรรมต้นแบบ” (Prototype) สู่ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” และ “นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ” ที่ได้รับการผลิตและพร้อมปรับใช้ในบริบทต่าง ๆ ของสังคม โดยที่ TSE มีนโยบายในการผลักดันงานวิจัย (Full Paper) ให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม ตลอดจนสอดรับความต้องการสังคมและภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากในภาวะวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) นักวิจัย TSE ได้มีส่วนร่วมในการผลิตนวัตกรรมใหม่ สนับสนุนการทำงานปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ไทย อาทิ

‘Tham-Robot’ หุ่นยนต์จัดส่งเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย ภายในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ‘Tham – UV Clean’ ตู้ฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยใน 5 นาที ใช้ซ้ำสูงสุด 10 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับสภาพหน้ากาก) รับสถานการณ์หน้ากากอนามัยขาดแคลน

และล่าสุด โครงการวิจัยของคณาจารย์ TSE เรื่อง ‘นวัตกรรมการออกแบบระบบห้องและการปรับอากาศความดันลบสำหรับการกักตัวผู้ติดเชื้อ COVID-19 และโมเดลคอมพิวเตอร์ที่สามารถจำลองการเคลื่อนที่ของละอองฝอย’ (Droplets) ยังได้ทุนสนับสนุนการวิจัย จากงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าด้วยแนวคิดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา COVID-19 ที่เพิ่งประกาศล่าสุด บ่งชี้ถึงศักยภาพในการทำวิจัยและนวัตกรรมของ TSE

ผลงานที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา TSE จึงมีนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับกระแสตอบรับเชิงบวกจำนวนมาก อาทิ ‘Space Walker’ อุปกรณ์ช่วยเดินแบบมีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่เป็นใบเบิกทางสำคัญสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ที่สร้างรายได้แก่นักศึกษาเจ้าของผลงาน นายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร ศิษย์เก่าหลักสูตรปริญญาตรีและโท ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ‘นวัตกรรมอาหารแช่แข็งอบร้อนไมโครเวฟ’ ที่ได้ขยายผลงานวิจัยจาก เปเปอร์สู่เชิงพาณิชย์ในร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ผลงานวิจัยโดย ศ. ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช และคณะ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี งานวิจัย ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยค้นหาข้อเท็จจริง ช่วยสร้างความเชื่อมั่น เพื่อตอกย้ำแนวคิดหรือหักล้างความเชื่อดั้งเดิม อันก่อให้เกิดวิทยาการหรือเทคโนโลยีใหม่เพิ่มขึ้น ที่นำมาสู่การแก้ไขปัญหา สร้างการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนขับเคลื่อนพฤติกรรมของผู้คน สังคม และเศรษฐกิจในเชิงบวก นอกจากนี้ งานวิจัย ยังเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัย สามารถคาดการณ์เหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ในอนาคตได้อย่างมีหลักการและเชื่อถือได้ รศ. ดร.ธีร กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ประจำภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. (TSE) และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวเสริมถึงผลสำรวจงานวิจัยไทยที่พบว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีงานวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) หรือ นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคมในมิติต่าง ๆ ร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเติมเต็มนวัตกรรมขานรับยุทธศาสตร์ชาติ นักวิจัยไทย ต้องเร่งเดินหน้าพัฒนางานวิจัยยุคใหม่ใน 2 รูปแบบ ดังนี้

2 รูปแบบงานวิจัยยุคใหม่

1. วิจัยตรงความต้องการประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จึงมีความต้องการนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีหลากรูปแบบ ที่พร้อมสนับสนุนการทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เช่น นวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุนภาคการผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ รวมถึงยกระดับสิ่งเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม สู่นวัตกรรมที่มาพร้อมฟังก์ชันใหม่

2. วิจัยทันกระแส พร้อมแก้ปัญหาสังคม เพราะการทำงานวิจัยที่เท่าทันสถานการณ์ หรือมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาสุขภาพคนไทย ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ย่อมได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนแบบทวีคูณ ทั้งด้านงบประมาณพัฒนางานวิจัยให้สมบูรณ์ และเข้าสู่กระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรม เพื่อนำไปปรับใช้ในบริบทต่าง ๆ ของสังคม

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาวิจัย ในขั้นตอนเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการอ้างอิงผลวิจัย จากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ นั้น ภาครัฐ โดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ควรยื่นมือให้การช่วยเหลือนักวิจัยไทยและบัณฑิตศึกษา ผ่านการปรับเกณฑ์พิจารณางานวิจัยชั่วคราว ดังนี้ ผ่อนปรนหรือขยายเวลาทำวิจัย ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาในการพัฒนางานวิจัย ที่อาจส่งผลให้การส่งงานเล่มของนักวิจัย ล่าช้ากว่าที่กำหนด อว. จึงควรมีมาตรการผ่อนปรนหรือขยายช่วงเวลาการพัฒนาและส่งเล่มวิจัยเพิ่มขึ้น และ ปรับเกณฑ์ประเมินวิจัยใหม่ ในกรณีที่นักวิจัย สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยหรือนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับกระแสสังคม อว. ควรพิจารณาให้งานวิจัยดังกล่าว สามารถเก็บเครดิตทดแทนวิจัยเดิมได้ ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าว

ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ FB : ENGR.THAMMASAT และ www.engr.tu.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. โทร. 094-664-7146

อ่านบทความอื่นๆ