งานวิจัย มมส

ม.มหาสารคาม ติด Top 10 ระดับประเทศ จากการจัดอันดับของ Nature Index 2020

Home / วาไรตี้ / ม.มหาสารคาม ติด Top 10 ระดับประเทศ จากการจัดอันดับของ Nature Index 2020

ผลงานตีพิมพ์ระดับประเทศด้าน Earth & Environmental Sciences และ Physical Sciences ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ติดอันดับที่ 4 ร่วม และด้าน Chemistry ติดอันดับที่ 5 ร่วม จากการจัดอันดับล่าสุดของดัชนีวารสารชั้นนำระดับโลก Nature Index 2020

ตัวชี้วัดคุณภาพงานวิจัยชั้นเลิศ – Nature Index 2020

รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า เว็บไซต์ www.natureindex.com ได้เผยแพร่ข้อมูลการจัดอันดับ จากดัชนีวารสารชั้นนำระดับโลก Nature Index โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563

ปรากฏว่า ผลงานวิจัยตีพิมพ์ด้าน Earth & Environmental Sciences และ Physical Sciences มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ติดอันดับที่ 4 ร่วมของประเทศไทย และ ผลงานวิจัยตีพิมพ์ด้าน Chemistry ติดอันดับที่ 5 ร่วม

ม.มหาสารคาม ติด Top 10 ระดับประเทศ จากการจัดอันดับของ Nature Index 2020

โดยภาพรวม ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการจัดอันดับที่ 9 ระดับประเทศไทย อันดับที่ 186 ร่วมระดับเอเชีย และอันดับที่ 374 ร่วมระดับโลก ซึ่งผลการจัดอันดับที่ปรากฏขึ้นนี้ เกิดจากการขับเคลื่อนนโยบายด้านการวิจัย การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และที่สำคัญได้รับความร่วมมือ จากอาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นอย่างดี นำไปสู่การยอมรับในระดับชาติและระดับสากล

Nature Index เป็นตัวชี้วัดคุณภาพงานวิจัย โดยจัดอันดับประเทศและสถาบัน โดยพิจารณาจากการตีพิมพ์บทความวิจัย (ต่อปี) เป็นที่ยอมรับของแต่ละสาขาในเครือ Nature Research ซึ่งแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ

วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) เคมี (Chemistry) และวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม (Earth & Environmental Sciences)

ซึ่งจะใช้ 2 ตัวชี้วัดหลักในการพิจารณาจัดอันดับ ได้แก่ จำนวนบทความตีพิมพ์ (Count) และ จำนวนสัดส่วน/ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของบทความ ที่จัดสรรให้กับสถาบันหรือประเทศ (Fractional Count)

ทั้งนี้ วารสาร Nature ถือว่าเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการระดับโลก มีค่า Impact Factor สูงติดอันดับ Top 10 ของโลก ดังนั้นบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารดังกล่าว จึงถือเป็นบทความที่มีคุณภาพในระดับสากล