ผู้พิการ ม.มหิดล หลักสูตรนานาชาติ หูหนวก โครงการ

โครงการ คลังคำศัพท์ภาษามือเรื่องการจัดการ – มุ่งผลิตบุคลากรคุณภาพสู่ธุรกิจ

Home / วาไรตี้ / โครงการ คลังคำศัพท์ภาษามือเรื่องการจัดการ – มุ่งผลิตบุคลากรคุณภาพสู่ธุรกิจ

หนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ คือเรื่องของ Quality Education หรือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ให้ความสำคัญอยู่เช่นกัน เนื่องในวาระครบปีที่ 25 ที่ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูง เพื่อธุรกิจยุคใหม่ พร้อมขยายเป้าหมายมุ่งพัฒนาสังคมและธุรกิจ สู่ความยั่งยืน

โครงการ คลังคำศัพท์ภาษามือเรื่องการจัดการ

จึงนับเป็นโอกาสอันดี ที่วันนี้จะชวนทุกคนร่วมพูดคุยกับ ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์ รองคณบดีงานสนับสนุนการศึกษาและวิชาการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนจุดบกพร่องทางการได้ยิน สู่โอกาสทางการศึกษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้พิการ ด้วยความยึดมั่นในปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริง อยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” นำไปสู่การริเริ่มการพัฒนาโครงการ “คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ”

ที่มาของโครงการ

· โอกาสที่ขาดหายไป … จากความบกพร่องที่เลือกไม่ได้

ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องการใช้ศักยภาพของอุดมศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการเรียนรู้ และการทำงานสำหรับผู้พิการ เล่าถึงที่มาของการพัฒนา ” คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ ” ว่า จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบจำนวนผู้พิการในประเทศไทยนั้นมีอยู่ประมาณ 3.7 ล้านคน โดยกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินนั้น คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของประชากรผู้พิการทั้งหมด

โอกาสที่ขาดหายไป ... จากความบกพร่องที่เลือกไม่ได้

สถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

นอกจากนี้ ยังมีสถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในปี 2562 ที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทย มีผู้พิการที่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานจำนวนน้อย โดยผู้พิการที่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน มีเพียงร้อยละ 24.5 ทั้งนี้ในจำนวนดังกล่าวพบว่า ผู้พิการส่วนใหญ่จำนวนร้อยละ 71 จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาเพียงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีความรู้ที่น้อย  ส่วนผู้พิการที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษา พบเพียงร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ จำนวนนักเรียนผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในขณะที่อัตราการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากข้อมูลการสำรวจของทีมวิจัย พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 7.2

· เติม “องค์ความรู้” ให้ผู้พิการ นอกจาก “ทักษะ”

จากสถิติดังกล่าวที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า การมีต้นทุนทางการศึกษาที่น้อย ก็จะส่งผลให้โอกาสยิ่งน้อยตามไปเช่นกัน ยกตัวอย่าง เรื่องการเข้าถึงเรื่องของเงินทุน ภาครัฐ หรือแม้กระทั่งโอกาสในการทำงาน เพราะบริษัทส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีคิดในการจ้างงานแบบคนทั่วไป คือ หากคุณจะทำงานคุณต้องจบปริญญาตรี ปวช. หรือ ปวศ. เท่านั้น ซึ่งกลุ่มผู้พิการเหล่านี้จบเพียงแค่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ไม่มีการศึกษาในระดับที่สูงมากพอ สุดท้ายแล้วการทำงานของผู้พิการทางการได้ยิน จึงเป็นอาชีพที่เน้นใช้ทักษะมากกว่าการใช้ความรู้

นอกจากนี้ การขาดความรู้และคำที่จะใช้ในการสื่อสาร ทำให้ผู้พิการทางการได้ยิน ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่างในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น การถูกละเมิดสิทธิ การถูกเอาเปรียบ การถูกดูแคลน การถูกเลือกปฏิบัติ หรือการถูกกีดกันออกจากสังคมที่มีการสื่อสารคนละแบบ การมีความรู้เพิ่ม และการเพิ่มความสามารถในการสื่อสาร จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาที่ผู้พิการทางการได้ยินกำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้ การศึกษายังสามารถสร้างและขยายโอกาส ในการทำงานในระดับที่สูงขึ้น และมีศักยภาพในการเป็นเจ้าของกิจการเพิ่มมากขึ้น

ภาษามือในเรื่องของการจัดการ

ภาษามือในเรื่องของการจัดการ

ผศ.ดร.บุริม เล่าต่อว่า โครงการ ” คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ ” มีจุดเริ่มต้น จากความต้องการที่จะสอนภาษามือ ให้กับผู้พิการทางการได้ยิน ในเรื่องของการจัดการ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสในชีวิตมากขึ้น เนื่องจากมีผู้พิการทางการได้ยินจำนวนน้อยที่มีการศึกษาในระดับสูง จึงทำให้ผู้พิการกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการที่จะทำงาน ในลักษณะงานที่เป็นผู้สั่งการ ผู้ควบคุม ในระดับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ หรือแม้กระทั่งการเป็นเจ้าของกิจการ ที่มีขนาดกลางถึงใหญ่ งานที่ผู้พิการกลุ่มนี้ทำส่วนใหญ่จึงเป็นงานลักษณะที่ทำซ้ำ ๆ ใช้เพียงแค่ทักษะ (Skilled Worker) ดังนั้น การเสริมองค์ความรู้ภาษามือ เรื่องการจัดการนั้น เพื่อเป็นการยกระดับ ให้กลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินให้มีโอกาสก้าวหน้าในบริษัทได้

เราอยากให้เขา เป็นผู้ประกอบการที่เลี้ยงชีพด้วยตัวเขาเองได้ โดยเป้าหมายสูงสุด คืออยากเห็นผู้พิการหูหนวกเป็นเจ้าของสตาร์ทอัพ ที่อาจจะรับผู้พิการหูหนวกเข้ามาเป็นผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งรับคนปกติทั่วไป เข้าไปทำงานเป็นลูกน้องเขาก็ได้ การมีความรู้เพิ่มและการเพิ่มความสามารถในการสื่อสาร จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหา ที่ผู้พิการทางการได้ยิน กำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้ การศึกษายังสามารถสร้างและขยายโอกาส ในการทำงานในระดับที่สูงขึ้น และมีศักยภาพในการเป็นเจ้าของกิจการเพิ่มมากขึ้น

“ในแง่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐเราเชื่อว่า การให้ความรู้คน เป็นสิ่งที่จะทำให้คนมีโอกาสในชีวิต และมีความสามารถเชิงความคิดเพิ่มมากขึ้น ถ้าคนพิการทางการได้ยินมีความรู้มากขึ้น เขาจะมีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้นและทำงานได้ดีขึ้น” ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์

นำร่องโมเดลประเทศไทย สู่ Dictionary "การจัดการ" ระดับสากล

องค์ประกอบหลัก 7 กิจกรรม

· นำร่องโมเดลประเทศไทย สู่ Dictionary “การจัดการ” ระดับสากล

โครงการ “คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ” ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 7 กิจกรรม คือ

  1. การพัฒนากระบวนการออกแบบการสร้างคลังคำศัพท์ภาษา
  2. การพัฒนาชุดความรู้เรื่องการจัดการจำนวน 2 ชุดความรู้
  3. การสอนเนื้อหาให้คุณครูผู้สอนภาษามือ
  4. การพัฒนาคลังคำศัพท์
  5. การจัดทำคู่มือคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ
  6. การจัดทำสื่อการสอนคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ
  7. กระบวนการทดลองใช้กับผู้พิการทางการได้ยิน

โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่าง ขั้นตอนการสอนเนื้อหาด้านการจัดการ ให้กับคุณครูผู้สอนภาษามือ และการพัฒนาคลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ ให้กลายเป็นภาษามือกลาง ในเรื่องของการจัดการที่ผู้พิการใช้ ในรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ

“นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นต้นแบบ ที่จะขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งมีจำนวนผู้พิการทางการได้ยินจำนวนมาก แต่ก็ถูกละเลยเหมือนกัน ดังนั้น หากเราเป็นฮับได้ จะทำให้คนกลุ่มนี้ กลายเป็นทุนที่สำคัญของประเทศได้ และข้อสำคัญคือเขาไม่ต้องไปเรียนรู้วิทยาการใหม่ เพียงแค่เอาสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ และทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ก็เพียงพอแล้ว” ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์ กล่าวเสริม

ความร่วมมือจากหลายฝ่าย

เบื้องต้น โครงการคลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ ได้รับความร่วมมือ จาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (CPALL) โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย (สหท.) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่อง ของการฝึกทักษะ เพื่อให้กลุ่มผู้พิการได้ฝึกทักษะไปพร้อมๆ กับเรียนองค์ความรู้ด้านการจัดการ

โครงการ คลังคำศัพท์ภาษามือเรื่องการจัดการ

เปลี่ยนความบกพร่องให้เป็นทุน

ท้ายที่สุดนี้ โครงการ “คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ” คือ การต่อยอดองค์ความรู้ งานวิจัย ในด้านการจัดการจาก CMMU สู่การตอบแทนสังคม ในฐานะมหาวิทยาลัยที่อยู่เคียงคู่สังคมไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยการเปลี่ยนความ “บกพร่อง” ของชีวิต ให้กลายเป็น “ทุน” ของประเทศ เพิ่มโอกาสและสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงาน โดยที่ผู้บกพร่องทางการได้ยิน สามารถนำเอาความรู้ไปปรับใช้ในธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความรู้สึกด้อย ความไม่เท่าเทียม

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาส ให้ผู้บกพร่องทางการได้ยิน ได้เรียนองค์ความรู้ที่สูงขึ้น เป็นต้นแบบในการพัฒนาบทเรียนอื่นๆ ที่จำเป็น ต่อการประกอบวิชาชีพหลังจบการศึกษาไปในโรงเรียน เพราะถ้าพวกเขาเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้น สุดท้ายพวกเขาก็จะกลับมาช่วยเหลือสังคมต่อไป ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามโครงการได้ที่ ..

ผู้สนใจศึกษาโครงการคลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ สามารถติดตามได้ที่ช่องทางยูทูป Mahidol University – Hearing Loss

สมัครเข้าศึกษาต่อ

และสำหรับผู้สนใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลักสูตรไทย-หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 24 มกราคม 2565 ที่ https://apply.cm.mahidol.ac.th/web หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือติดตามข้อมูลได้ที่เพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol

ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์

ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์

บทความแนะนำ