นักศึกษาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น ศิลปกรรมศาสตร์ มธบ.ร่วมอนุรักษ์ผ้าไทย ออกแบบ ผ้าขาวม้าไทยใน 3 ชุมชน ภายใต้โครงการ Creative Young Designer สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์-สินค้าไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ สอดรับทุกเทรนด์แฟชั่น สร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน
ศิลปกรรม DPU ร่วมอนุรักษ์ผ้าไทย
นายปรัชญา พิระตระกูล หัวหน้าวิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวถึงโครงการ Creative Young Designer ซึ่งได้นำเสนอในงาน Sustainability Expo 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.ย. – 2 ต.ค. 2565 ว่า
ตามที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี เพื่อพัฒนาสินค้าชุมชน โดยมุ่งเน้นเรื่องของผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นเสมือนวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละชุมชน และเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานนั้น ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม ในการดีไซน์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าในแต่ละชุมชน ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่มช่วงอายุ ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนรุ่นเก่า
นายปรัชญา กล่าวต่อว่าโครงการ Creative Young Designer มีการดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ซึ่งก่อนจะเข้าร่วมโครงการนั้น ทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มธบ. ได้มีโครงการให้นักศึกษาลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมออกแบบ ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าในชุมชนอยู่แล้ว อย่าง การออกแบบผ้าขาวม้าของชุมชนที่ จ.หนองบัวลำภู
ปรัชญา พิระตระกูล (ที่ 5 จากขวา)
ทั้งนี้ เมื่อทางไทยเบฟฯ เข้ามาสนับสนุนโครงการดังกล่าว จึงได้เข้าร่วมตั้งแต่ปีแรก โดยได้พัฒนาออกแบบผ้าขาวม้าของชุมชนบ้านน้ำมอญแจ้ซ้อน จ.ลำปาง ซึ่งจะเป็นผ้าขาวม้าย้อมมือสีธรรมชาติ นักศึกษาก็ได้ออกแบบเป็นชุดเสื้อผ้าสไตล์มินิมอล เรียบแต่สวยเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่
ต่อมาปีที่ 2 ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ของชุมชนหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย ผ้าขาวม้าจะเป็นลักษณะสีดำ ขาว และขณะนั้นมีสโมสรสุโขทัยเข้าร่วมสนับสนุน นักศึกษาจึงออกแบบจากผ้าขาวม้า และผสมผสานกับผ้าทอเส้นด้ายรีไซเคิล จากเสื้อผ้าเก่าของบริษัทเอส ซี แกรนด์ กลายเป็นชุดสปอร์ตตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ที่สนใจรักสุขภาพ หรือเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าสปอร์ต และสอดรับกับความต้องการของผู้สนับสนุนในการนำชุดกีฬาจากผ้าขาวม้า ไปสวมใส่แข่งขัน
ขณะที่ปีล่าสุด ชุมชนนาหมื่นศรี จ.ตรัง ผ้าขาวม้าจะสีสันฉูดฉาดมาก โดยได้นำไอเดียเสื้อผ้าแนวสตรีท (Street Fashion) ของเด็กรุ่นใหม่ มาปรับใช้โดยมีการตัดต่อที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหลายกลุ่ม โดยภายในงาน Sustainability Expo 2022 ได้มีการลงนามความร่วมมือโครงการ Creative Young Designers ปี 2565 และมีพิธีส่งมอบผลงานแฟชั่นไลฟ์สไตล์ให้กับชุมชน เมื่อ 27 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา
“การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ชุมชน เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งทำให้พวกเขาได้เห็นว่าผ้าไทย และชุมชนมีการผลิตวัตถุดิบอย่างไรบ้าง และเห็นความสำคัญของผ้าไทย เพราะต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่อาจจะมีมุมมองแบบตะวันตก การที่ไทยเบฟร่วมสนับสนุน และเปิดโอกาสให้เด็กเข้าร่วม ถือเป็นการสร้างสรรค์เสื้อผ้าไทย วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในกลุ่มของนักศึกษาเอง และคนทั่วโลก
เพราะเมื่อเกิดการสร้างสรรค์ผ้าขาวม้า ให้เป็นผลิตภัณฑ์ตามเทรนด์ใหม่ๆ นอกจากจะทำให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชน สร้างความยั่งยืนแก่นักศึกษา เกิดไอเดียนำผ้าเก่ามาใช้ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ยังทำให้คนไทยและคนทั่วโลกรู้จักผ้าไทยและรู้จักการอนุรักษ์สวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น” นายปรัชญา กล่าว
นายปรัชญา กล่าวต่อว่า นักศึกษารุ่นใหม่เขามีไอเดีย เข้าถึงเทรนด์ต่างๆ ได้มากมาย ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เรียนรู้ และได้นำความรู้ไปใช้ได้จริงสำคัญอย่างมาก การเรียนของวิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น ได้เน้นให้นักศึกษาเรียนรู้จากการลงมือทำจริงๆ จากโจทย์ที่มาจากชุมชน หรือผู้สนับสนุนจริงๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย สินค้าไทยให้เป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ หรือของที่ระลึกที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าผ่านการใช้ไอเดียสร้างสรรค์ในการสร้างผลงาน
“การที่นักศึกษาได้เห็นชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีศักยภาพอย่างมากในการดูแลผ้าไทย จะเป็นการสร้างความตระหนัก ปลูกฝัง และได้นำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า และบริการ เป็นการเพิ่มรายได้ สร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน และเปิดมุมมองให้แก่นักศึกษา ขณะเดียวกันลูกค้า ผู้บริโภคก็จะได้เห็นผ้าไทยในมิติใหม่ๆ ที่สอดรับกับยุคสมัย ใครๆ ก็สามารถใส่หรือใช้ผ้าไทยได้” นายปรัชญา กล่าว
ด้าน น.ส.เกวลี กิตติอุดมพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธบ. กล่าวว่า ตนเองได้มีโอกาสร่วมออกแบบในโครงการ Creative Young Designer ในส่วนสินค้าไลฟ์สไตล์ของชุมชนนาหมื่นศรี จ.ตรัง ซึ่งเป็นการนำผ้าขาวม้าที่มีสีสันฉูดฉาด มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หมอนอิง กระเป๋า พวงกุญแจ ของที่ระลึกต่าง ๆ ที่นอกจากจะออกแบบให้ทันสมัย เหมาะกับคนรุ่นใหม่แล้ว ยังให้คุณค่าเดิมของคนในชุมชนที่ยังรักษาวิถีชีวิตทอผ้าขาวม้า โดยเพิ่มเติมรูปแบบใหม่และให้มีสีสัน ลวดลายถูกใจผู้บริโภค
“ก่อนจะลงพื้นที่ชุมชน ได้มีการจัดทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความต้องการใช้ผ้าขาวม้า หรือผ้าไทย พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความต้องการใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าไทย แต่มีความกังวลเรื่องของลวดลาย หรือสีสัน ดังนั้น เมื่อได้ลงพื้นที่ชุมชนนาหมื่นศรี จ.ตรัง ได้นำไอเดีย เทคนิคการตัดต่อมาใช้ลวดลายเป็นลายริ้ว ใช้สีที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้จึงมีคุณค่าอย่างมาก เพราะได้ความรู้เกี่ยวกับผ้าขาวม้า การทอผ้า วิถีชีวิตของคนในชุมชน และเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้เป็นที่นิยม และร่วมอนุรักษ์ผ้าไทยให้เกิดความยั่งยืน” น.ส.เกวลี กล่าวในตอนท้าย