rmutk คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานนักศึกษา มทร.กรุงเทพ แฟชั่นใต้น้ำ

8 นักศึกษาสุดเจ๋ง ผลงานภาพถ่ายแฟชั่นใต้น้ำ มทร.กรุงเทพ

Home / วาไรตี้ / 8 นักศึกษาสุดเจ๋ง ผลงานภาพถ่ายแฟชั่นใต้น้ำ มทร.กรุงเทพ

ซัมเมอร์ร้อนๆ แบบนี้ ใครๆ ก็คิดถึงการไปทะเลกันใช่มั้ยล่ะ? แน่นอนว่าการดับร้อนด้วยการลงน้ำถือว่าเป็นการดีที่สุด ฉะนั้นวันนี้ผลงานที่เราจะเอามา Show ให้เพื่อนๆ ชาว Campus Star ได้ชมกันก็เป็นผลงานที่เกี่ยวกับน้ำเช่นกัน เป็นผลงานน้องๆ นักศึกษาจาก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ภาควิชา Underwater Videography มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ที่จะมาพาเราด่ำดิ่งลงไปดูแฟชั่นใต้น้ำพร้อมๆ กัน!!

สุดเจ๋ง! 8 นักศึกษา กับผลงานภาพถ่ายแฟชั่นใต้น้ำ มทร.กรุงเทพ

ดา-สุดารัตน์ แก้วโมกข์

ดา-สุดารัตน์ แก้วโมกข์ ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ทําไมถึงเลือกมาเรียนด้านนี้
อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยากทำอะไรที่ท้าทายความคิด และความสามารถของตัวเองค่ะ

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรคผลงาน
มาจากการที่อยากจะดึงความมีเสน่ของผู้หญิงออกมาค่ะ เพราะยิ่งเป็นใต้น้ำจะยิ่งดึงความมีเสน่ออกมาได้มากยิ่งขึ้น

ความน่าสนใจของผลงาน
การถ่ายภาพใต้น้ำมีความยาก และความน่าสนใจในตัวอยู่แล้ว การลอยตัว การเคลื่อนไหว ความพริ้วไหวที่ทำให้ได้มุมมองภาพที่แตกต่าง ความน่าสนใจของงานนี้จึงอยู่ที่ สไตล์การถ่ายแบบ Retro style ฉีกกฎเกณฑ์แฟชั่นแบบเดิมๆ สร้างอารมณ์ให้รู้สึกแปลกใหม่ ผ่านการถ่ายภาพได้น้ำได้อย่างลงตัว และมีความเป็นอิสระ การจัดวางองค์ประกอบ รวมถึงสีสันเสื้อผ้า และการแต่งกาย วางรูปแบบโทนสีร้อน เข้าถึงความร้อนแรงของ Retro ผสมสีเย็นกับลวดลายแสงสีใต้น้ำใน Abtract ที่แปลกตา

ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน
การวางแผนการถ่ายทำก่อนที่จะลงน้ำถ่ายจริง มีทั้งเรื่องการสื่อสาร ของทางทีมงานกับบนางแบบ การโพสของนางแบบ เพราะการถ่ายภาพใต้น้ำยากกว่าการถ่ายภาพปกติ ทั้งการจัดคอมโพส แสง และสี จึงต้องวางแผนการถ่ายเป็นอย่างดีก่อน

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้
สำหรับน้องๆ ที่ชอบเรื่องการถ่ายภาพ และอยากเปิดโลกทัศน์ใหม่ ประสบการณ์ใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ  อยากจะรู้จักโลกใต้น้ำมากขึ้น ก็ลองมาเรียนด้านถ่ายภาพใต้น้ำดูค่ะ รับลองได้ประสยการณ์อะไรที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครแน่นอน

กอล์ฟ-ปิยภัทร ฤกษ์อาษา

กอล์ฟ-ปิยภัทร ฤกษ์อาษา ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ทําไมถึงเลือกมาเรียนด้านนี้
อยากจะมีความสามารถทักษะในด้านการถ่ายใต้น้ำ และอีกอย่าง มหาวิทยาลัยราชมงคงเทคโนโลยีกรุงเทพ มีการเรียนการสอนของวิชานี้ เป็นที่เดียวเท่านั้นของประเทศไทย ก็เลยคิดว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่ น่าสนใจมากๆ อยากที่จะลองเรียนดู

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรคผลงาน
แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน คือ การทำงานของสาว Office ในแต่ละวัน

ความน่าสนใจของผลงาน
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของการเรียนในภาควิชานี้ คือ การถ่ายภาพวิดีโอใต้น้ำ การได้รู้ TRICK ของ Camera Movement ใต้น้ำ ถึงแม้จะยังปฎิบัติได้ไม่ดี แต่ผมชอบมาก ที่จะได้เห็นการเคลื่อนไหวใต้น้ำ ได้เห็นความพริ้วไหวต่างๆ ของผลงานที่ได้ถ่ายทำไป ด้วยการใช้ Style ของคนทำงาน Office เน้นความสบาย และความเรียบง่าย สดใสของคนวัยทำงาน ซึ่งการใช้รองทำส้นสูงจะช่วยสื่อให้เห็นถึงความเป็นคนวัยทำงานได้ และเน้นในเรื่องของ Movement การ Action ของนางแบบ เพื่อแสดงถึงการไปทำงานของสาว Office และรวมถึงการใช้ Prop เป็นตุ็กตาลิงเพื่อแสดงถึงความสนุกในการทำงานตลอดเวลา

ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน
ความยากในการสร้าสรรค์ผลงานคือ การควบคุม Prop ตุ็กตาลิงให้ Smooth มากที่สุด เพราะตุ็กตาจะลอยตลอดเวลาทำให้ควบคุมตรงจุดนี้ได้อยากมากที่สุด และอีกอย่างคือ ความลึกของน้ำ การควบการหายใจในขณะดำน้ำ ทำให้การสร้างสรรค์ผลงานนั้นยากขึ้นกว่าเดิมมาก

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้
สำหรับน้องที่สนใจการถ่ายภาพใต้น้ำ ถึงจะไม่มีทักษะในการดำน้ำ แต่ขอให้มีความตั้งใจเป็นเลิศ ถึงจะไม่เก่งแต่ขอให้มีความพยายามที่จะทำให้ได้ออกมาดีที่สุด ถึงแม้การถ่ายภาพใต้น้ำจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ขอแค่น้องๆ มีคววามพยายามที่จะเรียน และพกความมั่นใจมาเต็มๆ ก็พอแล้วครับ

กุ๊ก-บุศวรรณ แย้มเจริญ

กุ๊ก-บุศวรรณ แย้มเจริญ ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ทําไมถึงเลือกมาเรียนด้านนี้
เป็นคนชอบเล่นน้ำอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ มันเย็นๆ เบาๆ ลอยๆ แต่ตัวกุ๊กเองนั้นว่ายน้ำไม่แข็ง แต่ก็มาคิดจริงจังกับวิชานี้ เพราะวิชาการผลิตสื่อใต้น้ำมันไม่ได้มีหลายมหา’ลัย มันมีที่นี่เป็นที่แรก และที่เดียวในตอนนี้ ฉะนั้นเราก็อาจจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่สำมาทำงานนี้ได้มากกว่าคนอื่นๆ ให้เราได้วิชาชีพติดตัวแบบที่ไม่เหมือนใครดีค่ะ แล้วเราก็รู้สึกสนุกที่ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ท้าทายมากๆ เหมือนเราได้หนีออกจากโลกใบเดิมๆ ไปหาโลกใบใหม่ที่ไม่ได้ไกลจากตัวเราเลย

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรคผลงาน
มาจากการที่ต้องการเห็นทุกๆ คนมีรอยยิ้ม มีความสุข และหัวเราะกันเยอะๆ ค่ะ เลยเลือกที่จะใช้เป็นตัวตลกโบโซ่

ความน่าสนใจของผลงาน
การผลิตสื่อใต้น้ำเป็นอะไรที่น่าสนใจมากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาพนิ่ง หรือวิดีโอ โดยเฉพาะเวลาที่เราได้เห็นตรงที่ใต้ผิวน้ำมีทั้ง กระจกเงาในตัวที่สะท้อนให้เห็นตัวแบบใต้น้ำ ไหนจะแสงที่พริ้วไหวของเส้นริ้วผิวน้ำ และการโพสท่าของแบบเองก็สามารถโพสท่าได้ตามสบาย จะนั่ง นอน เหาะเหิน คือ มันทำอะไรได้เต็มที่ตามที่เราต้องการจริงๆ และจุดที่น่าสนใจสำหรับงานชิ้นนี้คือ ตัวตลก เป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงรอยยิ้ม ความสุข ความสนุกสนาน ดังนั้นกุ๊กจะต้องสื่อสารให้แบบโพสท่าออกมาให้เห็นถึงความสนุกสนาน ความเป็นตัวตลก และชุดอุปกรณ์ต่างๆที่เลือกมานั้น เป็นโทนสีที่มีสีสันความสดใสแปล่งประกายออกมาจากผ้าสีแดง และสีผมของโบโซ่ บวกกับการถ่ายใต้น้ำทำให้ภาพนี้ ออกมาดูมีความสุขที่อิสระไม่จำกัด ไม่มีขอบเขตค่ะ

ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน
การสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นนั้นยากมากจริงๆ เพราะใต้น้ำ จะต้องควบคุมตนเองให้อยู่ โดยเฉพาะการลอยตัว การกำหนดลมหายใจให้ได้ การบังคับมือจับโฟกัสให้นิ่งก่อนถ่าย การสื่อสารระหว่างช่างภาพกับแบบ คือบนบกเราจะบอก สั่งท่าไปแล้วก็กดปุ่มอะไรถ่ายได้ง่ายๆ เลย แต่พอเป็นในน้ำมันจะเพิ่มความยากในการถ่ายเข้าไปอีก ฉะนั้นการจะจับภาพแต่ละภาพมันไม่ง่ายเลยจริงๆ แต่พอได้เรียน ได้ทำไปเรื่อยๆ ภาพแต่ละภาพก็จะสร้างประสบการณ์ให้เรา และค่อยๆ ทำให้เราพัฒนาจนมีความชำนาญมากขึ้น

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้
ถ้ากล้าที่จะค้นหา อยากที่จะทดลอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่โลกใบเดิมๆ ก็ขอชวนน้องๆ ทุกคนที่สนใจจะเรียนด้านนี้มาลองเรียนกันดูนะคะ มันเป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้จริงๆ เพราะที่นี่เปิดสอนด้านนี้เป็นที่แรก และที่เดียว ที่ให้ทุกๆ คนทดลองด้วยตนเองจริงๆ อุปกรณ์ทุกอย่างจะต้องจับต้องประกอบถ่ายเองได้ทั้งหมด ถ้าสนใจจริงๆ พี่ก็อยากแนะนำให้เข้ามาหาข้อมูลกันทาง มทร.กรุงเทพ ดูนะคะ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งในการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ แก่น้องๆ เข้ามาดูด้วยตัวเองได้เลยค่ะว่ามันน่าสนใจยังไง เพราะร้อยคำบอกเล่า ก็ไม่เท่าการลงมือทำจริงนะคะ

กุ๋ย-ศุภณัฐ ยอดศรี

กุ๋ย-ศุภณัฐ  ยอดศรี ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ทําไมถึงเลือกมาเรียนด้านนี้
ส่วนตัวผมเป็นคนชอบอะไรด้านนี้อยู่แล้วจึงเลือกที่จะเรียนด้านนี้ และที่มหา’ลัยนี้ก็เป็นที่เดียวที่มีหลักสูตรนี้ที่สอนให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงาน และลงมือทำงานจริงในแบบที่มหา’ลัยอื่นไม่มี

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรคผลงาน
แค่คิดว่า เราต้องการสร้างภาพแนวใหม่ๆ ที่ผู้คนไม่เคยเห็น หรือไม่ค่อยเห็นได้ทั่วไป โดยอาศัยข้อดีของการอยู่ใต้น้ำมาสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมามีสีสันที่สวยงาม

ความน่าสนใจของผลงาน
สีสันที่สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ ตัดกับพื้นผิวของน้ำ และแสดงถึงความเป็นญี่ปุ่น ตัวผมเองผมชอบการถ่ายภาพใต้น้ำ เพราะมันมีมุมมองที่ต่างออกไปจากภาพบนบกทำให้ได้ภาพที่แปลกใหม่ ไร้แรงโน้มถ่วง

ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน
ความยากในการถ่ายภาพใต้น้ำก็จะเป็นเรื่องของการควบคุมตัวใต้น้ำให้ได้ดั่งใจ และการใช้อุปกรณ์ให้คล่องเพราะ มีความต่างกับการถ่ายภาพบนบกอยู่มาก รวมทั้งแสงที่สะท้อนในน้ำทำให้จัดการได้ยาก

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้
สำหรับน้องๆ ที่จะเรียนในด้านนี้นะครับ ก็อยากให้มาลองศึกษาดูก่อนว่าชอบมั้ย ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีทักษะ หรือความรู้ในด้านนี้มาก่อนเลยก็สามารถฝึกฝนกันได้ เพราะการสร้างผลงานด้านนี้อยู่ที่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ และความพยายามของน้องๆ มากกว่า

แล้วแต่-สุรศักดิ์ ผกามาศ

แล้วแต่-สุรศักดิ์ ผกามาศ ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ทําไมถึงเลือกมาเรียนด้านนี้
เพราะมีความน่าสนใจ วิชา Underwater Videography เป็นวิชาที่แปลกใหม่ โดยปกติการทำงานในด้านโทรทัศน์ส่วนมากจะทำกันแต่บนบก ซึ่งในปัจจุบันได้มีการริเริ่มในส่วนของการถ่ายทำใต้น้ำกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น วิชานี้จึงมีประโยชน์ต่อการทำงานในสายงานโทรทัศน์ในอนาคตได้

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรคผลงาน
แรงบัลดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานทุกอย่าง เกิดจากการถูกสั่งสอนให้ทำเพื่อส่วนรวมของอาจารย์ผู้สอน จึงทำให้เกิดความอยากที่จะทำผลงานให้กับหลักสูตร ทำผลงานให้กับรายวิชานี้ ผลงานให้กับสาขา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลภายนอกว่าเมื่อได้เรียนและจบออกไปแล้วจะเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพในการทำงานต่อไป

ความน่าสนใจของผลงาน
มีแนวความคิด rain and lonely แสดงถึงหลากหลายอารมณ์ ความความชุ่มฉ่ำ ความอิสระ ความสดใส ลึกลับ ในขณะที่อยู่คนเดียวไม่จำเป็นเสมอไป ที่ต้องเป็นแนวเศร้า สิ่งที่ทำให้ภาพนี้ดูสื่อถึงอารมณ์ความสดใสมากขึ้น คือ ท่าทางของนางแบบลอยตัวอยู่กลางอากาศ และ ส่วนประกอบที่ทำให้ภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เป็นร่ม ที่ตรงกับแนวความคิดของภาพ ช่วยทำมีความแปลกใหม่ ดูแปลกตาขึ้น นอกจากนั้นภาพยังดูมีความลึกลับ ด้วยตัวแบบที่สวมหน้ากาก

ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน
ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่เราจะถ่ายทอดออกมาผ่านภาพ เผื่อสื่อให้คนที่ได้ดูเข้าใจในแนวความคิดของเรา และ สิ่งที่ยากอีกอย่างหนึ่ง คือในการกดชัตเตอร์แต่ละครั้งต้องแม่นยำ รอบคอบในทุกๆด้าน เพราะภาพทุกภาพ เราจะต้องทำให้เหมือนเป็นภาพสุดท้ายที่เราจะได้ถ่าย และจะยากในเรื่องของการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ในการถ่ายในน้ำ จะต้องทนน้ำได้ ท่าทางของนางแบบ ในส่วนของขั้นตอนการผลิตก่อนที่จะลงน้ำ อุปกรณ์ที่จะลงถ่ายทำ จะต้องประกอบ เช็คภาพของอุปกรณ์ เพื่อไม่ให้น้ำเข้าสู่กล้องได้ ทำความสะอาดของอุปกรณ์ทุกอย่าง เช็คสภาพของแสง ทิศทางของแสง ความผิดเพี้ยนของสี ความลึกของน้ำก่อนที่นางแบบจะลงไปถ่าย และสุดท้ายอยู่ที่เรื่องของความปลอดภัยใต้น้ำของทุกคน

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้
หากน้องๆ คนไหนที่สนใจด้านนี้ อยากจะค้นหา อยากลองทำสิ่งใหม่ๆ อะไรที่ท้าทาย การถ่ายภาพใต้น้ำนี่ล่ะ สามารถตอบโจทย์เราได้อยากเต็มที่ เพราะเมื่อได้ลองทำมันแล้วอาจจะติดใจกับความสวยงามของมัน ทำให้เราได้เจอกับโลกใบใหม่ที่คุณอาจจะไม่เคยเห็นก็เป็นได้ รับรองว่าไม่มีผิดหวังแน่นอน

โอม-ภัทรวรรธน์ ไกรปิยเศรษฐ์

โอม-ภัทรวรรธน์ ไกรปิยเศรษฐ์ ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ทําไมถึงเลือกมาเรียนด้านนี้
ตอนแรกเองตัวผมไม่ได้มีความถนัดในด้านนี้เลย แต่เกิดจากความกล้า ความอยากรู้อยากลองให้กับชีวิตของตัวเอง หาความท้าทายใหม่ๆ การถ่ายภาพ และการผลิตสื่อใต้น้ำนั้นเป็นสิ่งที่หาเรียนได้ยากมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ารู้ และน่าลองมาเรียนดูจริงๆ ก็เลยตัดสินใจมาเรียนด้านนี้

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรคผลงาน
ความอยากจะเปรียบเทียบกับอารมณ์ที่ร้อนแรงของมนุษย์บนพื้นโลก สร้างจินตนาการความสงบ หยุดกับความเย็นในน้ำลึก แรงบันดาลใจการคิดสร้างสรรค์ฉีกแนววออกไปอย่างไร้กฎเกณฑ์

ความน่าสนใจของผลงาน
สิ่งที่น่าสนใจในชั่วโมงเรียนนั่น คือ การได้ลองปฏิบัติงานจริง แบบไม่กั๊กเครื่องมือกันเลย ได้ใช้ความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ในระหว่างการเรียนรู้ก็มีทั้งลองถูกและลองผิด อาจารย์ผู้สอนเปิดโอกาสให้ได้คิดและลงมือทำจริงๆ สามารถสัมผัสถึงความสนุกสนานในการเรียนสไตล์แบบนี้ได้ไม่น้อยเลย ส่วนความน่าสนใจในผลงานชิ้นนี้คือ การนำเอาสีแดงตัดดำมานำเสนอคู่สีที่ดึงดูดสายตา ดูแล้วจับจังหวะที่สวยงาม และลูกเล่นจากลายกางเกงซึ่งมี patterm ทำให้ดู modern บวกกับการโพสท่า เป็นการทำตัวเหมือนกับโลดแลนในสภาพไร้น้ำหนัก ใช้ลูกเล่นของความพริ้วไหวของผ้าเเดง ทำให้ภาพเกิดความมีชีวิตชีวา

ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน
การคิดสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ซ้ำกับผู้อื่น การใช้ประสบการณ์ของเรา การวางแผน ซึ่งการวางแผนของการถ่ายภาพและการผลิตสื่อใต้น้ำนั้นเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดเพราะเราจะต้องคุยถึงหลักการหรือสิ่งที่เราออกแบบไว้บนบกก่อนลงไปถ่ายใต้่น้ำ เนื่องจากการลงไปสื่อสารกันใต้น้ำนั้นทำกันได้ยาก

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้
การมาเรียนด้านนี้ก็จะทำให้เราได้เพื่อนที่เข้าใจกันเป็นอย่างดี เพราะต้องมีการสื่อสารแบบที่สามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้โดยไม่ต้องพูดอะไรมาก กลับมาเยอะเลยทีเดียว แถมการเรียนการสอนยังถือว่าคุ้มค่าที่ได้เข้ามาเรียน และสามารถสัมผสได้ถึงความสนุกสนานอีกด้วย สุดท้ายรับรองได้เลยว่าจะได้ประสบการณ์ในชีวิตที่แสนล้ำค่าแน่นอน

เต้-เกรียงไกร พละสนธิ

เต้-เกรียงไกร พละสนธิ ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ทําไมถึงเลือกมาเรียนด้านนี้
ผมอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้เลยว่ามันสามารถทำได้จริงๆ  มันเป็นอีกมิติหนึ่งที่สร้างความสวยงามได้อย่างไม่น่าเชื่อ ผมเลือกเรียนด้านนี้เพราะอยากท้าทายในสิ่งที่ตนเองคิดเสมอว่าไม่สามารถทำได้ มันจะทำได้จริงหรอ? และในตอนนี้ผมก็ทำมันได้ครับ

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรคผลงาน
สำหรับแรงบันดาลใจอันดับแรกคืออาจารย์เลยครับ อาจารย์ทุ่มเทให้ทุกอย่าง เป็นนางแบบให้ เรียนแบบใกล้ชิด เพราะอาจารย์เต็มที่ในทุกอย่างจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างสรรค์ผลงานออกมา และความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะนำภาพผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาไปเป็นแบบอย่างทางการศึกษาของน้องๆ รุ่นต่อไป

ความน่าสนใจของผลงาน
สำหรับงานถ่ายภาพใต้น้ำ ผมคิดว่ามันมีความน่าสนใจหลายๆ อย่าง เสน่ห์ของน้ำที่ทำให้วัตถุพริ้วไหว เสน่ห์ของน้ำที่ทำให้เห็นการสะท้อนของวัตถุที่เกิดความสวยงาม และอีกหลายๆ อย่าง ผลงานนี้ก็มีความน่าสนใจในความโดดเด่นของชุดลายเสือ ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวสำหรับสาวนำเทรนด์ จับคู่กับผ้าสีดำที่เบรกความแรงของลายเสือ ซึ่งผ้าสีดำที่พริ้วไหวกับสายน้ำจะขับความโดดเด่นของลายเสือให้ดูสะดุดตามากขึ้น โดยมีหมวก และรองเท้าส้นสูงลายเสือเป็นเครื่องประดับ เพื่อสร้างลุคที่ดูจี๊ดจ๊าดขึ้นในแบบที่ไม่เยอะเกินไป

ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน
การควบคุมชุดกระโปรงลายเสื้อที่มีลักษณะเป็นผ้าที่ไม่ซับน้ำ จึงทำให้เกิดการลอยตัวของกระโปรง ส่งผลให้การโพสท่าและการทรงตัวของนางแบบค่อนข้างยาก (วัสดุที่เป็นผ้าชุดนี้ เป็นผ้าที่ไม่ซับน้ำ ทำให้เวลาลงน้ำแล้วมันลอยขึ้นมา ทำให้การโพสท่าและการจับท่วงทำนองขณะกดชัตเตอร์มีความยากมากขึ้นไปอีก) นอกจากนี้ก็เป้นเรื่องของการสื่อสารของช่างภาพ และนางแบบ การควบคุมแสง ทุกอย่างยากคูณสองถ้าเปรียบเทียบกับการถ่ายภาพแบบธรรมดาบนบก แต่ความยากที่แลกมากับประสบการณ์ และความสวยงามอีกมิติหนึ่ง ผมว่าคุ้มครับ

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้
สำหรับน้องที่จะสนใจงานด้านนี้นะครับ ผมก็ขอเชิญชวนให้ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ค้นพบกับประสบการณ์ใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ ที่ยังหาที่ไหนไม่ค่อยได้ หากน้องๆ คนไหนที่สนใจงานด้านนี้ก็อยากให้สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง มทร.กรุงเทพ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของทุกๆ คนด้วยนะครับ ผมกล้ายืนยัน ฟันธง! ได้เลยว่าถ้าเลือกที่จะมาเรียนที่นี่แล้ว รับรองไม่ผิดหวังแน่นอนครับ คุ้ม!

นัส-นัฐพงศ์ สุนทร

นัส-นัฐพงศ์ สุนทร ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ทําไมถึงเลือกมาเรียนด้านนี้
เพราะตัวผมเองมีความชื่นชอบในงานด้านสื่อครับ ชอบพวกเบื้องหลังการถ่ายทำ ทั้งภาพนิ่ง และ
ภาพเคลื่อนไหว เพราะพวกนี้เราสามารถเก็บเรื่องราวต่างๆ มาดูในรูปแบบรูปธรรมได้ในภายหลัง

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรคผลงาน
ส่วนนี้เป็นส่วนที่คนที่ทำงานด้านนี้หนักใจ เพราะการสร้างแรงบันดาลใจที่จะสร้างผลงานให้แปลกใหม่ และน่าสนใจมันยาก  ต้องอาศัยการอยู่กับอะไรนานๆ ค่อยๆ ที่จะเรียนรู้ และเข้าใจมันไปทีละน้อย

ความน่าสนใจของผลงาน
ถ้าพูดถึงความน่าสนใจ ผมเชื่อว่าหลายคนต้องรู้สึกตื่นเต้นกับชื่อสาขา รายวิชาที่เรียนของสาขานี้ และเมื่อได้มาเรียนจึงได้รู้ว่า ที่เราเห็นในจอ TV หรือตามบอร์ดโฆษณาต่างๆ มันทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด ความสนุกมันอยู่ที่ความคิดที่แปลกใหม่ในการสร้างผลงานต่างๆ รวมถึงสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนอย่างพวกอุปสรรคระหว่างทำงาน ส่วนความประทับใจที่ดีที่สุดคงจะไม่พ้นคำชม หรือความพอใจกับงานที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมากับมือ

ความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน
สำหรับผมแล้วตรงส่วนนี้อยู่ที่การวางแผนในการทำงาน Preproduction เพราะส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญมาก แผนงานจะต้องรอบคอบ มีแผนสำรอง Preproduction ที่ดีก็เหมือนกับงานสำเร็จไป 50% แล้ว การวางแผนจะต้องมีการศึกษางานที่จะทำให้เข้าใจก่อน

ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้
ความเอาใจใส่ในงานเป็นส่วนสำคัญของงานทางด้านนี้ ในความเอาใจใส่จะรวมเรื่อง เวลา การทำงาน ทีมเวิร์คนี่เป็นส่วนสำคัญมาก งานด้านนี้ยากมากที่จะอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ถ้าน้องๆ สนใจแล้วละก็มันก็น่าที่จะลองทำดู

ข้อมูลจาก นิตยสาร Campus star V.11 (สัมภาษณ์เมื่อ เมษายน 2014)