“ถ้าเรารักสมัครจิต ก็ต้องคิดสมัครมือ ถิ่นสีน้ำเงิน คือ ที่รวมรักสมัครคง” นี่คือคติพจน์ของชาวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ที่นี่เปิดสอน 2 สาขาวิชาใหญ่ๆ คือสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 นับเป็นเวลากว่า 80 ปีที่ก่อตั้งขึ้นมา ผลิตบัณฑิตออกไปรุ่นสู่รุ่นเป็นจำนวนมาก บัณฑิตหลายๆ คนจบออกไปก็กลายเป็นคนมีชื่อเสียงโลดแล่นอยู่ในวงการสาขาต่างๆ อาทิ สายบันเทิง สายวิชาการ สายนักเขียน จะมีใครกันบ้าง แคมปัส-สตาร์ ขอรวบรวมมาให้น้องๆ รุ่นใหม่ได้รับรู้กันไว้ค่ะ
คนดัง ศิษย์เก่าอุเทนถวาย
สมบัติ เมทะนี
นักแสดงอาวุโส และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เป็นพระเอกไทยที่มีผลงานแสดงเยอะมากๆ ถึงขนาดกินเนสบุ๊คยังบันทึกไว้ว่าเป็นนักแสดงที่รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลก โดยมีผลงานที่แสดงเป็นพระเอกถึง 617 เรื่อง
ด้านการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ จากนั้นจึงทำงานครั้งแรกที่บริษัทเอส ซี จี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทน แต่เมื่อฐานะการเงินของบริษัทไม่ดี จึงลาออกมาเพื่อหางาน ระหว่างนี้ได้เข้าศึกษาต่อระดับอนุปริญญาที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และเข้าเกณฑ์ทหาร 6 เดือน พอพ้นเกณฑ์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2502 จึงออกหางานทำอีกครั้ง แล้วโชคชะตาก็ทำให้เขาได้เช้าวงการบันเทิง เมื่อระหว่างที่เดินหางานอยู่นั้น ด้วยลักษณะของเขาที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ไปเตะเตาแมวมองแถวโรงภาพยนตร์คิงส์-ควีนส์ ย่านวังบูรพา จากนั้นมาก็มีผลงานแสดงมาเรื่อยๆ และเขาก็ยังได้ศึกษาต่อด้วย ในระดับปริญญาตรี โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ จากสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และระดับปริญญาโท-เอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย นอกจากรักการเรียนแล้ว ยังชอบการออกำลังกาย จึงทำให้ในปัจจุบันเขาเป็นศิลปินอาวุโสที่มีสุขภาพแข็งแรง
ชุมพร เทพพิทักษ์
นักแสดงอาวุโสมากฝีมือ พ่อของพระเอกหนุ่มหน้าเด็ก ศรราม เทพพิทักษ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดขันเงินและโรงเรียนศรียาภัย เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
นอกจากผลงานการแสดงที่ยังคงมีให้เห็นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เขายังมีฝือในด้านงานผู้กำกับ กำกับมาหลายเรื่อง โดยเรื่องที่ประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลมากมายนั้นคือ แหกค่ายนรกเดียนเบียนฟู ในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และได้รับรางวัลอื่น ๆ รวมทั้งหมด 5 รางวัล และยังได้รางวัลล่าสุด รางวัลเมขลา สาขาผู้แสดงประกอบชายดีเด่น จากละครเรื่อง เงาพราย ด้วย
ภาพ: carabaoofficial, Pantip
ยืนยง โอภากุล หรือ น้าแอ๊ด คาราบาว
ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตหัวหน้าวงคาราบาว ได้รับยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2556
ด้านการศึกษา ระดับชั้นประถมที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ ชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย จากนั้นได้มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ โดยขอติดมากับรถขนส่งไปรษณีย์ น้าแอ๊ดเข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย และต่อในระดับปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 1 ปี ระหว่างนั้นน้าแอ๊ดก็ได้พบเพื่อนเป็นคนไทย ไข่ – สานิตย์ ลิ่มศิลา และเขียว – กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ซึ่งยืนยงได้มีโอกาสฟังเพลงของ เลด เซพเพลิน, จอห์น เดนเวอร์, ดิ อีเกิ้ลส์ และปีเตอร์ แฟลมตัน จากแผ่นเสียงที่ไข่ – สานิตย์ ลิ่มศิลา สะสมไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมา ทั้ง 3 จึงร่วมกันตั้งวง คาราบาว ขึ้นมาเพื่อใช้ในการแสดงบนเวทีในงานของสถาบัน โดยเล่นดนตรีแนวโฟล์ค
พอสำเร็จการศึกษา น้าแอ๊ดก็ได้กลับมาเมืองไทย ได้ทำงานประจำเป็นสถาปนิกในสำนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง และมีงานส่วนตัวคือรับออกแบบบ้าน และโรงงาน จนเมื่อเพื่อนของเขาที่เจอที่ฟิลิปปินส์ ไข่และเขียวกลับมาไทย พวกเขาก็ได้รวมวงกันอีกครั้ง นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้มีวงคาราบาวที่ผลงานเพลงฮิตดังๆ มากมายจนถึงทุกวันนี้
หลายๆ คนอาจะยังไม่เคยรู้ว่า น้าแอ๊ด คาราบาว มีพี่ชายฝาแฝดอีก 1 คน เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกัน ชื่อ อี๊ด – ยิ่งยง โอภากุล แเคยออกอัลบั้มร่วมกัน 1 อัลบั้ม คือ อัลบั้ม พฤษภา ในปี พ.ศ. 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
(นอกจากงานเพลงการเรียนน้าแอ๊ดก็ไม่ทิ้ง ในปี พ.ศ. 2556 เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีไทยสมัยนิยม จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง )
เลิศ ประสมทรัพย์
เจ้าของฉายา ราชาเพลงตะลุง เขานักร้องยุคแรกของวงกรมประชาสัมพันธ์ เจ้าของเสียงเพลง ข้างขึ้นเดือนหงาย เป็นนักร้องที่โห่ได้เก่งมาก ถือว่าเป็นคนแรกของประเทศไทย ตอนวัยรุ่นเขาชอบร้องเพลงประกวด และได้กวาดรางวัลได้มากมายแทบทุกเวที จนคณะกรรมการต้องขอให้เขาเลิกลงแข่งประกวด และให้เขามาเป็นกรรมการประกวดด้วย
ผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตะลุงสากล ตะลุงชมดง ตะลุงอยากเป็นพระอินทร์ ตะลุงดับเพลิงรัก นอกจากนี้ ยังมีผลงานเพลงที่เป็นอมตะอีก 2 เพลง คือ “รำวงสาวบ้านแต้” และ “รำวงหนุ่มบ้านแต้” ที่ร้องนำหมู่กับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ จนได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา: programcom.yolasite.com, facebook เลิศ ประสมทรัพย์
ภาพ: www.pisutshop.com
สุรพล สมบัติเจริญ
ราชาเพลงลูกทุ่ง ทั้งร้องเพลง แต่งเพลง เรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะ ด้านการศึกษา จบชั้นประถมจากโรงเรียนประสาทวิทย์ ชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย เมื่อจบ ม.ุ6 คุณพ่อได้ส่งเขาไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เรียนได้เพียงปีครึ่งลาออกเพราะใจไม่รัก เลยไปสมัครเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนจีน ชื่อ สุพรรณกงลิเสีย เสี้ยว แต่ก็ต้องลาออกอีกเช่นเคยเพราะเขาไม่ได้ชอบทางด้านนี้ จากนั้นได้ไปสมัครเข้าเป็นนักเรียนจ่าพยาบาล อยู่ที่โรงเรียนพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ (ปัจจุบัน เป็นศูนย์ทันตกรรม กรมแพทย์ทหารเรือ)
ด้วยความที่ชื่นชอบการร้องเพลง เขาจึงชอบหนีออกไปร้องเพลงยามค่ำคืนอยู่บ่อยครั้ง จนวันนึงหลังจากเขาได้หนีราชการทหารเรือ และถูกจับได้ ทำให้ถูกรับโทษคุมขัง ตอนอยู่ในคุกสุรพลร้องเพลงกล่อมก่อนนอนทุกๆ คืน เมื่อได้รับอิสรภาพ สุรพลได้ทิ้งเส้นทางทหารเรือ และได้ไปร้องเพลงในงานสังสรรค์กองทัพอากาศ น้ำเสียงของเขาได้โดนใจ เรืออากาศเอกปราโมทย์ วัณณะพงษ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งค่ายมวย และหัวหน้าคณะนักมวยของกองทัพอากาศชื่อ ค่ายมวยเลือดชาวฟ้า ในวันรุ่งขึ้น สุรพล สมบัติเจริญ จึงถูกเรียกตัวให้เข้าพบ และได้รับโอกาสเข้าไปรับราชการประจำกองกองดุริยางค์ทหารอากาศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้รับความรู้เกี่ยวกับการดนตรี และร้องเพลง การกระทำนี้จึงเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของชีวิต ที่ทำให้ สุรพล สมบัติเจริญ ได้ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็น “ราชาเพลงลูกทุ่งไทย”
เพลงดังที่เป็นอมตะ วัยรุ่นยุคนี้อาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง เช่น 16 ปีแห่งความหลัง, เป็นโสดทำไม นอกจากนั้นยังมีเพลงอีกมากมาย ลืมไม่ลง , ดำเนินจ๋า , แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง , หัวใจเดาะ , สาวสวนแตง , น้ำตาจ่าโท ฯลฯ
“สุรพล สมบัติเจริญ” มีผลงานมากมายที่สร้างความตราตรึงให้แฟนๆ จนถึงวัย 37 ปี เขาได้ลาจากโลกนี้ไป เพราะถูกลอบยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวทีที่วิกแสงจันทร์ บริเวณริมถนนมาลัยแมน ตรงข้ามวัดหนองปลาไหล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2511 (เวลา 01.00 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2511)
ภาพ: manager.co.th
คำรณ สัมบุญณานนท์
จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ผลงานเพลงดังที่เป็นที่รู้จัก เช่น มนต์การเมือง ตาศรีกำสรวล คนบ้ากัญชา ตามน้องกลับนา ชีวิตครู คนขายยา คำสั่งพ่อ ชีวิตบ้านนา เป็นต้น
นอกจากนี้เขายังเคยเล่นละครวิทยุเรื่อง “เจ้าสาวชาวไร่” ของครูเหม เวชกร และได้ร้องเพลงนำของละครเพลงเพลงนี้ได้รับยกย่องให้เป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของไทย และถือกันว่า คำรณเป็น “บิดาของวงการลูกทุ่งไทย” ด้วย อนึ่งเขาเป็นนักร้องลูกทุ่งสมัยต้นๆ ของวงการรุ่นเดียวกับ ชาญ เย็นแข ปรีชา บุญยเกียรติ ก่อนรุ่นนักร้องลูกทุ่งดังอย่าง สุรพล สมบัติเจริญ ชัยชนะ บุญนะโชติ ก้าน แก้วสุพรรณ กุศล กมลสิงห์ ฯลฯ
สำหรับชาวอุเทนถวาย หากมีคนดัง หรือศิษย์เก่านอกเหนือจากที่ได้รวบรวมมาให้อ่านกันนี้ เข้ามาแนะนำ เพิ่มเติมกันได้นะคะ ^_^