ค่าเทอม ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ชุดนักศึกษา นักศึกษา

ต้องเตรียม “ค่าใช้จ่าย” อะไรบ้าง ? เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยปี 1

Home / วาไรตี้ / ต้องเตรียม “ค่าใช้จ่าย” อะไรบ้าง ? เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยปี 1

นอกจากน้อง ๆ จะต้องเตรียมตัวสอบและศึกษาข้อมูลการเรียนของคณะ/สาขาวิชาที่ตนเองสนใจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่น้อง ๆ จะต้องเจออย่างแน่นอน เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ปี 1 ทั้งนี้น้อง ๆ และคุณพ่อ คุณแม่ ก็ต้องมีการวางแผนในเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ กันให้ดีด้วย ไม่งั้นอาจจะเกิดปัญหาในภายหลังได้นะจ๊ะ

ค่าใช้จ่าย เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ปี 1

ซึ่งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่น้อง ๆ จะต้องเจอนั้นอาจจะมีความแตกต่างกันออกไปตามคณะ/สาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ ได้เข้าเรียน และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็ได้รวบรวมค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่ต้องเตรียมให้พร้อมมาบออกันด้วย ดังต่อไปนี้

1. ค่าเทอม/ค่าหน่วยกิต

ในส่วนของค่าเทอม/ค่าหน่วยกิต น้อง ๆ จะต้องเจอกันทุกคนอย่างแน่นอน โดยจะมีการแบ่งจ่ายอัตราค่าเล่าเรียนออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

แบบที่ 1 จ่ายตามหน่วยกิต เช่น คณะ/สาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จะมีการจ่ายค่าเล่าเรียนตามจำนวนหน่วยกิตที่เราลงเรียนในแต่ละภาคการศึกษา ฯลฯ

แบบที่ 2 แบบเหมาจ่าย เช่น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะมีการจ่ายค่าเล่าเรียนเป็นแบบเหมาจ่ายต่อภาคเรียน ดังนี้

หลักสูตรปริญญาตรี

  • นักศึกษาหลักสูตรปกติ เหมาจ่ายภาคเรียนละ 32,000 บาท
  • นักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ เหมาจ่ายภาคเรียนละ 70,000 บาท

หลักสูตรปริญญาโท

  • เหมาจ่ายภาคเรียนละ 45,000 บาท

หลักสูตรปริญญาเอก

  • เหมาจ่ายภาคเรียนละ 87,000 บาท

ค่าใช้จ่าย เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

2. ค่าชุดนิสิต/นักศึกษา

เมื่อน้อง ๆ ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแล้ว เครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่ใส่ไปเรียนนั้นก็คือย่อมมีความแตกต่างออกไปจากเดิมด้วยเช่นกัน โดยที่น้อง ๆ จะต้องซื้อใหม่ทั้งเสื้อ กระโปรง/กางเกง รองเท้า นอกจากนี้ยังรวมถึงเข็มขัด หัวเข็มขัด เข็มติดเสื้อ (มีทั้งที่เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยและตราประจำคณะ/สาขาวิชา) และน้อง ๆ ผู้ชายก็ต้องซื้อเนคไทใหม่กัน อีกด้วย

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในบางคณะ/สาขาวิชา จะต้องมีวิชาที่เรียนเกี่ยวกับพละศึกษาหรือมีชุดกิจกรรมด้วย น้อง ๆ ก็จะต้องเตรียมเงินเอาไว้ใช้ในส่วนนี้กันด้วยนะจ๊ะ

3. ค่ากิจกรรม

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 น้อง ๆ จะต้องเจอกับกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานรับน้อง กีฬาสี กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในสาขาวิชา ฯลฯ โดยที่กิจกรรมเหล่านี้ก็มีทั้งที่เราจะต้องออกเงินเองและไม่ต้องจ่ายเงิน ดังนั้นน้อง ๆ ก็ไม่ควรที่จะลืมเตรียมเงินเอาไว้เผื่อกันด้วยนะ

นอกจากนี้น้อง ๆ คนไหนที่เข้าร่วมชมรมหรือออกค่าย ก็จะต้องมีการเตรียมเงินเอาไว้อีกส่วนด้วย เพราะในการเดินทางออกค่ายหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรมนั้น สมาชิกภายในชมรมจะต้องช่วยกันออกเงินหารกัน เพื่อนำเงินส่วนกลางที่ได้มาทำกิจกรรมนั่นเอง (ทั้งนี้อาจจะมีการออกไปทำกิจกรรมหาเงินเข้าชมรมหรือขอเป็นเงินสนับสนุนอีกด้วย ขึ้นอยู่กับแต่ละชมรมหรือค่ายว่าจะมีวิธีการอย่างไรนะจ๊ะ)

4. ค่าหนังสือ/ค่าเอกสารประกอบการเรียน

สำหรับค่าหนังสือ/ค่าเอกสารประกอบการเรียนนั้น ก็จะมีทั้งแบบที่รวมอยู่ในค่าเทอมแล้วกับที่เราจะต้องจ่ายเองต่างหาก เช่น ค่าหนังสือในบางมหาวิทยาลัยก็จะร่วมอยู่กับค่าเทอมที่เราจะต้องจ่ายในแต่ละเทอมเลย ส่วนเอกสารประกอบการเรียนที่มีเพิ่มเติมมานั้น เราก็จะต้องออกเองอีกต่างหาก เป็นต้น

5. ค่าอุปกรณ์การเรียน

ค่าอุปกรณ์การเรียน ขึ้นอยู่กับคณะ/สาขาวิชาที่น้อง ๆ เลือกเรียน เช่น น้อง ๆ ที่เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ ก็อาจจะต้องมีการซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊กส่วนตัวเพิ่มเติม, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ น้อง ๆ ก็จะต้องซื้ออุปกรณ์วาดภาพเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น สี กระดาษ กระดาน ฯลฯ และยังรวมถึงน้อง ๆ ที่เลือกเรียนในเอกถ่ายภาพหรือภาพยนตร์ ที่จะต้องมีกล้องถ่ายรูปหรือกล้องวิดีโอส่วนตัว เอาไว้ใช้ในการเรียนหรือทำงานส่งอาจารย์ด้วย เป็นต้น

ค่าใช้จ่าย เมื่อน้อง ๆ เข้าเรียนปี 1 

6. ค่าหอพัก

นอกจากน้อง ๆ จะต้องเสียค่าเช่าหอแล้ว น้อง ๆ ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบำรุงส่วนกลางของแต่ละหอพัก เป็นต้น ทั้งนี้การเช่าหอนั้น น้อง ๆ สามารถเลือกได้ว่าจะพักหอใน (หอของมหาวิทยาลัย) หรือ หอนอก (มหาวิทยาลัย)

และที่สำคัญ!! น้อง ๆ อย่าลืมคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต่างกันด้วยของหอในและหอนอกว่าเราเลือกที่ไหนคุ้มกว่ากัน เพราะมันจะช่วยทำให้น้อง ๆ ประหยัดเงินได้เยอะมากขึ้น (แต่ถ้าน้อง ๆ คนไหนไม่จำเป็นที่จะต้องนอนหอก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้มากเลยทีเดียว)

7. ค่าเดินทาง

ค่าเดินทางมาเรียนสามารถแบ่งออกเป็น ค่าเดินทางสำหรับน้อง ๆ ที่เดินทางมาโดยรถประจำทางหรือรถสาธารณะ (อัตราค่าโดยสารจะอยู่กับรถที่น้อง ๆ เลือกนั่งและนั่งทั้งหมดกี่ต่อ) และสำหรับน้อง ๆ ที่ขับรถมาเรียนเองก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าน้ำมันเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

8. ค่าอาหาร

อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่เราจะลืมไม่ได้เลยก็คือ ค่ากินหรือค่าอาหาร ในแต่ละมื้อ ที่น้อง ๆ แต่ละคนใช้ไม่เท่ากัน ดังนั้นน้อง ๆ ทุกคนจะต้องเตรียมและคิดคำนวณเงินให้พอใช้กันในแต่ละเดือน ไม่งั้นลำบากกันแน่นอนจ๊ะ อะไรที่ไม่จำเป็นก็อย่างเพิ่งซื้อนะ เราควรที่จะซื้อในสิ่งที่จำเป็นหรือต้องใช้ในการเรียนจะดีกว่า

** ทั้งนี้รายละเอียดของค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ อาจจะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับคณะที่เราเลือกเรียนและมหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นมา

บทความที่น่าสนใจ