มหาวิทยาลัยรามคำแหง (Ramkhamhaeng University) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งรับบุคคลเข้าศึกษาโดยไม่สอบคัดเลือก และไม่จำกัดจำนวน ทำการเรียนการสอนแบบตลาดวิชา คือมีการเรียนการสอนในชั้นเรียนเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยปกติ แต่ไม่บังคับเข้าชั้นเรียน อันเป็นระบบเดียวกันกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในอดีต มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยและมีชื่อเสียงในด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์อย่างมาก
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2514 บนบริเวณที่ดินประมาณ 300 ไร่เศษ บนถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษา และวิจัยแบบตลาดวิชา กล่าวคือ ให้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักศึกษา โดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือกนับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี 2514 ทั้งนี้เพื่อแก้ไขการขาดแคลนสถานที่เรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในขณะนั้น ต่อมาได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 ขึ้นใช้บังคับแทนกฎหมายฉบับเดิม
การตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512 คือ นายประมวล กุลมาตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร สังกัดพรรคสหประชาไทย โดยในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังไม่ได้ระบุชื่อมหาวิทยาลัย และสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2512 โดยตั้งคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีพลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นประธานกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยละเอียด คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งกำหนดชื่อมหาวิทยาลัยในร่างพระราชบัญญัตินั้นว่า “ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. …” โดยนายแคล้ว นรประติ ส.ส.จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้เสนอให้ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. … เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514
ระยะแรก คณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่แสดงสินค้านานาชาติ ที่ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร เป็นที่ตั้งชั่วคราวจนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2515 จึงได้อนุญาตให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งถาวร และได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ซึ่งถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ วันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง
ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชา ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษา สามารถเลือกวิธีเรียนที่เหมาะสมกับความต้องการ และความจำเป็นของแต่ละบุคคล จึงจัดให้มีการบรรยายในชั้นเรียน สำหรับผู้ที่จะเข้าฟังบรรยายในชั้นเรียน และจัดให้มีสื่อการสอนทางไกลเพื่อศึกษาด้วยตนเอง เช่น ตำราเรียน การบรรยายผ่านวิทยุ และโทรทัศน์ ตลอดจนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักศึกษาที่มีภาระการงาน หรืออยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ไม่สามารถเดินทางมาเรียนอย่างสม่ำเสมอได้ อย่างไรก็ตาม ในบางสาขาวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติหรือจำเป็นต้องศึกษาจากผู้สอนอย่างใกล้ชิด มหาวิทยาลัยหรือภาควิชาอาจกำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าชั้นเรียน โดยเฉพาะคณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงคณะอื่นๆ ในบางรายวิชา
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน “ต้นสุพรรณิการ์ (ฝ้ายคำซ้อน)” เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ขณะนี้ปลูกไว้บริเวณหน้าอาคาร หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2542
สุพรรณิการ์มีถิ่นกำเนิดในอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูเขาหิมาลัย และเป็นไม้พื้นเมืองของพม่าด้วย ในศรีลังกามักปลูกบริเวณพระอุโบสถ เป็นดอกไม้บูชาพระ ในเมืองไทยทางเหนือ เรียกว่า ฝ้ายคำ นำเข้ามาประเทศ
ไทยกว่า 50 ปีมาแล้ว
ตราประจำมหาวิทยาลัย
คือ พระรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกหลักที่ 1) จารึกนี้พบเมื่อ พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาท เมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ผนวชเป็นผู้ค้นพบ เป็นจารึกหลักแรกที่ใช้ภาษาไทย และตัวอักษรไทย มีลักษณะเป็นแท่นหินรูปสี่เหลี่ยม ยอดกลมมน สูง 1 เมตร 11 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินชนวนสีเขียวมีจารึกทั้ง 4 ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
สีประจำมหาวิทยาลัย
“สีน้ำเงิน-ทอง” ความหมาย สีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์คือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ส่วนสีทอง เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ และเจริญรุ่งเรือง สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย
ที่ตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง และวิทยาเขต
– มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ส่วนกลาง) แรกเริ่มที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่แสดงสินค้านานาชาติที่ ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ จำนวน 300 ไร่เศษ เป็นสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัย ระยะแรกที่ทำการเปิดสอนได้ใช้อาคารแสดงสินค้าที่มีอยู่เดิมเป็นที่ทำการและห้องเรียนของมหาวิทยาลัย ต่อมาได้มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการคณะ/สำนัก/สถาบัน รวมทั้งอาคารเรียนฯลฯ เพิ่มขึ้นแทนอาคารแสดงสินค้าเดิมเหล่านั้น จะเห็นว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงไปมาก บริเวณของมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยอาคารหลากหลายที่ทันสมัย บรรยากาศเป็นมหาวิทยาลัยวิชาการ อีกทั้งภูมิทัศน์สวยงาม สะอาดและสะดวกสบาย
* มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก เป็นสถานที่ตั้งที่ทำการของทุกคณะ/สำนัก/สถาบันต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางการบริหารและการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
– มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตปัจฉิมสวัสดิ์ สุวรรณนภาศรี (รามคำแหง 2 – บางนา) มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดตั้ง วิทยาเขตปัจฉิมสวัสดิ์ – สุวรรณนภาศรี (วิทยาเขตบางนา)ในปีพ.ศ. 2522 (และเริ่มเปิดทำการสอนปีพ.ศ. 2527) บนที่ดินที่ได้รับบริจาคจำนวน 150 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8 ถนนบางนา – ตราด เพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วิทยาเขตบางนาจึงใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนกระบวนวิชาชั้นปีที่ 1 ของระดับปริญญาตรีทุกสาขา ต่อมาได้ใช้เป็นสถานที่สอนระดับ ปริญญาโทบางโครงการ
– มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย ขึ้น เพื่อการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งหลักสูตรโครงการพิเศษต่าง ๆ จังหวัดสุโขทัยนั้นในอดีตคือกรุงสุโขทัยในยุคสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ได้มีมติเห็นชอบโครงการยกฐานะ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย เป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตสุโขทัย ในการนี้ ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับงบประมาณแผ่นดินเตรียมการก่อสร้างอาคารเรียน ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระยะดำเนินการก่อสร้าง เมื่อแล้วเสร็จ ก็จะเปิดสอนคณะใหม่ที่วิทยาเขตแห่งนี้
มหาวิทยาลัยรามคำแหง : Ramkhamhaeng University
ชื่อย่อ : ม.ร. / RU
คติพจน์ : รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ
สถาปนา : พ.ศ. 2514
ประเภท : รัฐ มหาวิทยาลัยตลาดวิชา
ที่ตั้ง : ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์ : http://www.ru.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/alumniram
ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี