หลักสูตร

รู้จักหลักสูตร DIPS กับบทบาทสร้าง “นักออกแบบและนักสร้างสรรค์นวัตกรรมมืออาชีพ”

Home / ข่าวการศึกษา / รู้จักหลักสูตร DIPS กับบทบาทสร้าง “นักออกแบบและนักสร้างสรรค์นวัตกรรมมืออาชีพ”

มจธ. เตรียมส่งนักศึกษาปริญญาตรีหลักสูตร DIPS รุ่น 1 ชั้นปีที่ 2 เข้าสู่การทำงานร่วมกับ Partnership บริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลก เป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่ง เพื่อสร้างการเรียนรู้จากโจทย์จริงประสบการณ์จริงรายแรกของไทย

หลักสูตร DIPS

บทบาทสร้าง “นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์นวัตกรรมมืออาชีพ”

“โปรแกรม DIPS หรือ Design Innovation Practice School” มจธ. หลักสูตรนานาชาติ สาขานวัตกรรมการออกแบบระดับปริญญาตรี ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกสาขาวิชาที่สนใจอยากเรียนการออกแบบหรืออยากเป็นนักออกแบบมืออาชีพ โดยไม่เน้นว่านักศึกษาจะต้องวาดรูปเก่ง แค่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมีทักษะด้านภาษาอยู่บ้างก็สามารถมาเรียนได้ ที่สำคัญเป็นหลักสูตรที่ “ไม่มีสอบ” วัดผลจากผลงานเพียงเท่านั้น แถมได้ไปทำงานจริงรับโจทย์จริงกับบริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลกระยะเวลากว่า 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง !!

หลังเปิดการเรียนการสอนมากว่า 1 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษารุ่นแรกทั้งสิ้นจำนวน 24 คน (นักศึกษาไทย 20 คน, ฟิลิปปินส์ 1 คน กัมพูชา 2 คน และอินเดีย 1 คน)

เพราะ DIPS เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักศึกษา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Experiential Learning Platform การเรียนเสมือนการทำงานในชีวิตจริง ที่แรกในประเทศไทย ล่าสุด นักศึกษารุ่นแรกของหลักสูตร กำลังเตรียมตัวเข้าสู่การทำงานจริงโจทย์จริงกับ Partnership บริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Jacob Jensen Design (JJD) สตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติเดนมาร์ก, FOURDIGIT Thailand บริษัทชั้นนำด้านการออกแบบ UX/UI จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 แห่งมีสาขาอยู่ในประเทศไทย และ Whatnot บริษัทผู้ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจและนวัตกรรมสำหรับการทำสตาร์ทอัพของประเทศไทย ภายในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งมีระยะเวลาในการทำงานถึง 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง

เมื่อจบแล้วอาจยังได้รับโอกาสทำงานกับบริษัทต่อไป เราจึงต้องเตรียมทุกอย่าง และพยายามปรับพื้นฐานให้กับเด็กให้พร้อมและมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมเรียนรู้การเป็นมืออาชีพ หรือ professional มากที่สุด เพื่อให้นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงในบริษัทได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุด ความพร้อมจึงเป็นจุดแรกที่เราเตรียมให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะวิธีคิด หรือ soft skills

หลักสูตร DIPS เป็นรูปแบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่ย่อทุกอย่างจากหลักสูตรเดิมที่เป็นการเรียนตามแบบขั้นบันไดตามระบบที่เรียนทีละขั้น ทีละวิชา และอ่านหนังสือเพื่อสอบ แต่ DIPS เป็นหลักสูตรที่นักศึกษาจะมาเรียนว่า เรามีวิธีการเรียนรู้อย่างไรบ้างโดยไม่ยึดติดกับความรู้และการเรียนรู้แบบเดิม และสามารถใช้ความรู้จากหลายๆ เรื่องมาทำงาน การสอนของ DIPS จึงเป็นการสอนแบบ Learn how to learn เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ และสอนให้เห็นทุกขั้นบันไดทุกวิชาแบบผสมผสานไปพร้อมๆ กันผ่านการทำ workshop เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นได้เรียนรู้ภาพใหญ่ก่อนภายใน 6 เดือนแรก

“การสอนแบบ Learn how to learn เช่น เรามี Workshop ที่ว่าด้วยเรื่องการอ่านหนังสือ เน้นการสร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เราพยายามหาหนังสือที่หลากหลายองค์ความรู้ ทั้งเล่มเก่า เล่มใหม่ให้เขาได้อ่าน เพื่อเป็นความรู้ เห็นวิวัฒนาการ เห็นความหลากหลาย สอดคล้องกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ไม่ได้อ่านเพื่อสอบ ตอนแรกนักศึกษาอาจยังไม่เข้าใจว่าให้อ่านทำไมถ้าไม่มีสอบ พยายามถามว่าเราจะออกข้อสอบตรงไหน ถามเรื่องไหนเป็นพิเศษ จะได้เน้นอ่านที่เรื่องนั้น ซึ่งนักศึกษาจะต้องปรับทัศนคติในการอ่านหนังสือใหม่ว่า การอ่านหนังสือมากเราก็จะรู้มากขึ้น แม้ความรู้ที่อ่านวันนี้อาจยังไม่ได้ใช้โดยตรง แต่ความรู้เหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบในการสร้างความสามารถในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจสิ่งใหม่ในชีวิตได้ใช้แน่นอน หนังสือไม่ได้มีไว้อ่านจบแล้วทิ้ง วันไหนที่ต้องการอ่านอีก คุ้นๆ ว่าเคยอ่านเรื่องนี้ ใครเคยพูดเคยทำงานแบบนี้ ก็หยิบมาอ่านทบทวนใหม่ได้

ผศ.นิมิต เหม่งเวหา

หรือตัวอย่าง Design Thinking Workshop ที่เด็กกำลังทำอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้เป็นวิชาที่หลักสูตร กำหนดไว้ตายตัว แต่เราอยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการทำงานร่วมกันกับผู้คนที่หลากหลายพื้นฐานความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งโจทย์ที่ให้ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันว่าจะหยิบเคสไหนมาให้เรียนและนักศึกษาได้มีส่วนร่วมด้วย คลาสนี้นักศึกษาตัดสินใจต้องการโจทย์แบบเอ็กซ์ตรีม สนใจกลุ่มคนที่เป็นยูทูปเปอร์หรือสกิมเมอร์ ดังนั้น เวลาที่นำ Design Thinking Workshop มา Apply นักศึกษาจะได้ทดลองกระบวนการทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการในเชิงลึกจริงๆ ของลูกค้า ไม่ใช่แค่เข้าไปดูใน Google แล้วนำมาอ้างอิงเท่านั้น แต่จะต้องสามารถ Decode ข้อมูลอธิบายแนวคิดได้ และอาจารย์จะไม่พยายามฟันธงโดยใช้ประสบการณ์ตนเอง แต่หากจะพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาทำความเข้าใจทั้งลึกและกว้าง จนกระทั้งนักศึกษาคิดว่าตัวเองมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ” ผศ.นิมิต เหม่งเวหา อาจารย์ประจําหลักสูตร DIPS คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าว

ผศ.พรยศ ฉัตรธารากุล

ขณะที่ ผศ.พรยศ ฉัตรธารากุล หัวหน้า Center of Innovation for Society และอาจารย์ประจําหลักสูตร DIPS กล่าวเสริมว่า หลักสูตร DIPS ไม่มีหนังสือเรียนเฉพาะที่ตายตัว ไม่มี Final Project และการเรียนการสอนของเราก็ไม่มีการสอบ แต่จะมีการกิจกรรมที่ชวนนักศึกษามา challenge กัน ไม่ได้มุ่งที่การทำให้ดีที่สุดหรือแข่งขันกันว่าใครได้ก่อน เร็วกว่า เก่งกว่า แต่เป็นการ Challenge ให้นักศึกษาทะลุข้อจำกัดในการเรียนรู้ของตนเองมากกว่า “เราคิดว่าเรารู้ลึกแล้ว แต่วันต่อมาเราก็รู้ลึกได้อีก” และใช้การประเมินแบบมีส่วนร่วมว่านักศึกษามีความสามารถเพิ่มอย่างไร สามารถอธิบายความแตกต่างและความลึกของความสามารถที่เพิ่มขึ้นได้

ส่วนเนื้อหานอกจากที่กำหนดไว้ตามตารางแล้ว หากมีเนื้อหาใดที่นักศึกษาต้องการเรียนรู้แม้กำหนดไว้อนาคต เช่น วิชาสถิติ ซึ่งปกตินักศึกษาออกแบบจะไม่สนใจเพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ แต่พอนักศึกษาได้เรียนในรูปแบบใหม่ของ DIPS ที่นักศึกษาจะทำงานไปโดยไม่อิงการเรียนการสอนแบบรายวิชาพอรู้ตัวเองว่าต้องการความรู้เรื่องสถิติเพิ่มเพื่อให้ Project มีความสมบูรณ์ ไม่ใช้แค่ทำ Project เสร็จ นักศึกษาก็เริ่มขอให้สอนโดยไม่รอให้ถึงเวลาเรียน เราก็จะเชิญอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาสอนให้ก่อน เป็นต้น

บรรยากาศการเรียนการสอนภายใต้หลักสูตร DIPS

“เพราะเป็นหลักสูตรที่บริหารโดยหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานวิจัย และ Partnership เอกชน หลักสูตรจึงปรับตัวเองให้มีความคล่องตัวสูง (Mobility) ในการบริหารทำให้เกิดความแตกต่างจากระบบเดิม เน้นความรู้ความเข้าใจ ไม่มีการท่องจำ ไม่มีการสอบ ประเมินผลจากการนำเสนอพัฒนาการของตนเอง และพร้อมสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะวิชาการ ประสบการณ์ทุกแขนงเมื่อนักศึกษาต้องการ จุดสมดุลของหลักสูตรคือจะต้องทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพในเชิงวิชาการและผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพ โดยไม่ว่าวิธีจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อทำให้เราสามารถวิ่งไปด้วยความเร็วกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและอุตสาหกรรมของโลกเสมอ”

ในส่วนการทำงานของนักศึกษานั้น ผศ.พรยศ กล่าวว่า เนื่องจากจะต้องทำงานกับบริษัทภายใต้หลักสูตรฯ ซึ่งจะได้รับมอบหน้าที่ที่ชัดเจน นักศึกษาจะต้องพัฒนางานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจนกระทั่งครบ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง นอกจากนักศึกษาจะได้มีส่วนร่วมในผลงานที่ทำ ยังได้รับหนังสือรับรองประสบการณ์การทำงานจากทางบริษัทด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากการเป็นนักศึกษาฝึกงานที่มีระยะเวลาเพียง 1-3 เดือนใช้ช่วงปิดเทอมหรือปีสุดท้าย ที่สำคัญ นักศึกษาจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะจะมีอาจารย์ประจำที่มีประสบการณ์ทำงาน มาร่วมเสริมความรู้เชิงวิชาการ และคำอธิบายเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาด้วย เรียกว่าเข้าไปคอยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทั้งนักศึกษาและบริษัท

อีกทั้งขณะที่ทำงานนักศึกษายังต้องจัดหาเวลากลับมาทำ International Activities ไม่ว่าจะเป็น Workshop, Exchange Program เป็นต้น ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ เพื่อเสริมองค์ความรู้ใหม่ๆ พัฒนาทักษะการทำงานในมิติต่าง ๆ ร่วมกับนักศึกษา อาจารย์ นักออกแบบจากประเทศต่าง ๆ ให้กับเด็กตลอดระยะเวลาการทำงานในสัดส่วนร้อยละ 20

ศุภวดี จีรพันธ์เจริญสิน (Love)

ในฐานะตัวแทนนักศึกษารุ่นแรก นางสาวศุภวดี จีรพันธ์เจริญสิน หรือ น้อง Love อายุ 19 ปี จากเด็กสายศิลป์ภาษาเกาหลีโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เล่าถึงการตัดสินใจมาเรียนหลักสูตร DIPS ว่า สาเหตุที่เลือกเรียนในโปรแกรมนี้เพราะชอบงานออกแบบ จากตอนแรกสมัครเรียนในแผนการเรียนปกติ แต่ที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียนแผนการเรียน DIPS เพราะเห็นว่าเป็นหลักสูตรใหม่เพิ่งเปิดสอนและมีสาขาที่ชอบ ที่สำคัญคือให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริงด้วย ไม่ใช่แค่การฝึกงานระยะสั้น ซึ่งทางคุณแม่ก็เห็นชอบด้วย

“หลังจากเรียนมากว่า 6 เดือน ไม่ได้รู้สึกว่าเรียนหนักห่ามรุ่งห่ามค่ำ แม้จะไม่เคยเรียนรูปแบบนี้มาก่อนจากปกติจะเรียนเป็นรายวิชาไปไม่ใช่เรียนหลายๆ วิชาร่วมกันในคลาสเดียวแบบ DIPS พอมาเรียนแล้วทำให้เนื้อหาต่อเนื่อง ที่ชอบที่สุด คือ การเรียนที่นี่ไม่มีการสอบ แต่จะประเมินวัดผลจากพัฒนาการของตัวเอง ส่วนตัวรู้สึกชอบกับวิธีการประเมินแบบนี้ เพราะการที่ไม่มีสอบ เราไม่ต้องคอยมาท่องจำเพื่อทำข้อสอบ ทำให้ไม่ต้องรู้สึกเครียดกับการเรียน และมีความสุขที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา คิดว่าการเรียนในลักษณะนี้เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่”

สิ่งที่ได้พัฒนาขึ้น น้อง Love บอกว่า “เป็นวิธีการคิดที่เปลี่ยนไป ทำให้เราเข้าใจเรื่องการออกแบบมากขึ้น ทำให้เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะชอบงานออกแบบของเรา จากเดิมที่เคยคิดเพียงแต่ว่าการออกแบบจะต้องสวย ต้องทำให้คนอยากซื้อเท่านั้น แต่มันไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะการออกแบบจริงๆ แล้ว ไม่ได้มุ่งเน้นที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจพฤติกรรมและรู้ถึงความต้องการของผู้ใช้ก่อน คิดไปข้างหน้า ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหา เกิดกระบวนการคิดที่มากขึ้น เช่น ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะพัฒนาชีวิตของผู้ใช้ได้อย่างไร ยอมรับว่าตอนนี้การออกแบบของเรามีคุณภาพขึ้น และตนก็คาดหวังว่าจะได้ทำงานจริงๆ กับบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกอย่าง Jacob Jensen Design Studio (JJD) ซึ่งถือเป็นข้อดีของการเรียนโปรแกรม DIPS ที่เราจะได้ทำงานจริงๆ กับบริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลกที่เป็น Partnership ไม่ใช่แค่เด็กฝึกงานเท่านั้น ทำให้เรามีประสบการณ์ชีวิตในการทำงานจริง”

นายอาศิส ลาภปรารถนา (เอย)

เพราะเป็นการเรียนรูปแบบใหม่ที่แม้แต่คนที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศยังให้ความสนใจอย่าง นายอาศิส ลาภปรารถนา หรือ น้องเอย อายุ 20 ปี เล่าว่า เดิมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยที่นิวซีแลนด์สาขาการท่องเที่ยว แต่พอเรียนไปสักระยะรู้ว่าไม่ใช่แนวทางตัวเอง จากนั้นก็ได้ข้อมูลว่าที่ไทยมีหลักสูตร DIPS เปิดสอนด้านการออกแบบ ซึ่งส่วนตัวเป็นคนที่ชอบจินตนาการ ชอบคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นเอง และคิดว่าน่าจะทำประโยชน์ได้ ที่สำคัญโปรแกรมนี้ส่งเสริมให้เราได้เรียนรู้จากการทำงานจริงๆ กับบริษัทออกแบบชั้นนำและได้ใช้ภาษาอังกฤษด้วย จึงตัดสินใจย้ายกลับมาเรียนที่เมืองไทย

หลังจากที่เรียนมา 6 เดือน เป็นการเรียนที่รู้สึกเพลินมากระหว่างทำกิจกรรมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ความรู้ในด้านอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบ ซึ่งความรู้ที่ได้มาเราก็สามารถนำไปเชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ ได้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะสามารถนำมาแมทชิ่งกันได้ ทำให้การเรียนเป็นไปด้วยความตื่นเต้น เพราะได้ทำงานที่แปลกใหม่อยู่เสมอ มีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น ได้เรียนรู้วิธีการสเก็ตช์ภาพอย่างไรให้ออกมาเข้าใจในสิ่งเราต้องการสื่อ ไม่ใช่แค่ต้องวาดภาพสวย ได้เรียนรู้ว่าคนที่จะใช้สินค้าแต่ละชนิดเป็นแบบไหน

ซึ่งการเรียนการสอนที่นี่เน้นให้ตัวผู้ออกแบบเข้าใจคนใช้งาน คนซื้อ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ออกแบบและผลิตออกมาให้ตรงตามแนวความคิด ในส่วนของหนังสือเรียน DIPS จะมีให้เราเลยไม่ต้องไปหาเองที่ห้องสมุด แต่เราไม่ได้อ่านเพื่อสอบ แต่เป็นการอ่านเพื่อความรู้ และทำความเข้าใจ เพื่อให้เราได้วิธีคิดของนักออกแบบที่ดี

“การเรียนโปรแกรม DIPS เป็นการเรียนรู้เพื่อตัวเอง ไม่ได้แข่งขันกับใคร เพื่อนๆ คอยช่วยเหลือกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ซึ่งดีมากเพราะหากมีการแข่งขันหรือสอบจะทำให้เกิดความเครียดและกดดันก็จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง สำหรับความคาดหวังหลังเรียนจบ คือ อยากเป็น Furniture Design หากได้ร่วมทำงานกับสตูดิโอ Jacob Jensen Design จะถือเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับตน ซึ่งตอนนี้กำลังเตรียมตัวอ่านหนังสือ ฝึกฝนตัวเอง เพิ่มเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านออกแบบให้มากขึ้นเพราะเหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่จะต้องไปทำงานกับบริษัท”

วาดรูปไม่เก่ง แต่มีใจรักการออกแบบ ไม่ต้องกังวล

สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ที่มีใจรักการออกแบบ ละงานสร้างสรรค์นวัตกรรม ฝันอยากเป็นนักออกแบบหรือสร้างนวัตกรรมมืออาชีพ แต่วาดรูปไม่เก่ง ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป หลักสูตร DIPS เปิดรับสมัครผู้ที่จบชั้นธยมศึกษาตอนปลาย ทุกสายวิชา ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ ที่มีความหลงใหลการออกแบบ และพร้อมเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ขอแค่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ “วาดรูปไม่สวยฝึกได้ เพราะการออกแบบไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องการวาดรูป และการวาดรูปสวยก็ไม่ได้สำคัญที่สุด” ผู้สนใจสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ผศ.พรยศ ฉัตรธารากุล โทร. 085-073-4488 หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://dipskmutt.com