การวัดคุณการศึกษา นักเรียน ประเทศเวียดนาม ประเทศไทย ระบบการศึกษา

เวียดนามนำไทยทุกด้าน ในการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA)

Home / ข่าวการศึกษา / เวียดนามนำไทยทุกด้าน ในการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA)

การประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ซึ่งริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เน้นประเมินสมรรถนะของนักเรียนอายุ 15 ปี เกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริง (ทักษะด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ปัจจุบันมีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 72 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 การประเมินนี้จะมีขึ้นทุกๆ สามปี

เหตุใด? เวียดนามแซงไทยในการสอบวัดระดับของ PISA

ระบบการศึกษาในประเทศเวียดนาม

สำหรับการประเมินผลในโครงการ PISA ในปี 2558 ได้ทำการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-based assessment หรือ CBA) เป็นครั้งแรก โดยประเทศไทย ทำการเก็บข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 จากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,249 คน ใน 273 โรงเรียนของทุกสังกัดการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบและแบบสอบถาม (สำหรับให้นักเรียนทำ) นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามผู้บริหารโรงเรียนอีกด้วย

พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ย ด้านวิทยาศาสตร์ ได้อันดับ 54 คะแนน 421 (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน) การอ่าน ได้อันดับ 54 คะแนน 409 (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน) และคณิตศาสตร์ ได้อันดับ 57 คะแนน 415 (ค่าเฉลี่ย OECD 490 คะแนน) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PISA ของปี 2555 ด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์ มีคะแนนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนด้านคณิตศาสตร์ มีคะแนนลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ จึงถือได้ว่าคะแนนด้านคณิตศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากรอบการประเมินที่ผ่านมา

เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนในภาพรวมตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีผลการประเมิน PISA ในปี 2558 สูงที่สุดใน 5 อันดับแรก คือ

ผลการประเมินด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สิงคโปร์ (556 คะแนน), ญี่ปุ่น (538 คะแนน), เอสโตเนีย (534 คะแนน), จีนไทเป (532 คะแนน) และฟินแลนด์ (531 คะแนน) ตามลำดับ

ผลการประเมินด้านการอ่าน ได้แก่ สิงคโปร์ (535 คะแนน), แคนาดา (527 คะแนน), ฮ่องกง-จีน (527 คะแนน), ฟินแลนด์ (526 คะแนน) และไอร์แลนด์ (521 คะแนน) ตามลำดับ

ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์ ได้แก่ สิงคโปร์ (564 คะแนน), ฮ่องกง-จีน (548 คะแนน), มาเก๊า-จีน (544 คะแนน), จีนไทเป (542 คะแนน) และญี่ปุ่น (532 คะแนน) ตามลำดับ

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราได้ลองเปรียบเทียบผลการประเมิน PISA 2558 จะพบว่าประเทศไทยตามหลังประเทศเวียดนามในทุกด้าน ทำคะแนนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD โดยการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เวียดนามอยู่ในอันดับ 8 (525 คะแนน) จาก 72 ประเทศ, การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ เวียดนามอยู่ในอันดับ 22 (495 คะแนน) จาก 72 ประเทศ และการรู้เรื่องการอ่าน เวียดนามอันดับที่ 32 (487 คะแนน) จาก 72 ประเทศ

ผลการประเมินตามโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ ชี้ไทยยังตามหลังเวียดนามทั้งการรู้เรื่องการอ่าน การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ และการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ส่วนประเทศสิงคโปร์เป็นที่ 1 ในทุกด้าน

ระบบการศึกษาในประเทศเวียดนาม

อะไรทำให้ระบบโรงเรียนของเวียดนามประสบความสำเร็จ

การวิจัยของธนาคารโลกซึ่งใช้ฐานข้อมูลของ PISA เพื่อหาคำตอบว่าอะไรที่ทำให้นักเรียนเวียดนามเรียนรู้ได้ดีกว่านักเรียนจากประเทศที่มั่งคั่ง พบว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการลงทุนทางการศึกษา คือส่วนหนึ่งของคำอธิบายในความสำเร็จของระบบการศึกษาเวียดนาม

ความแตกต่างทางวัฒนธรรม คือ ปัจจัยที่กำหนดลักษณะของโรงเรียนและนักเรียนของเวียดนาม ได้แก่ ความขยันของนักเรียน การทำงานหนักของครู และบทบาทสำคัญของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษาของลูก

ครูเวียดนาม ทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมทางระเบียบวินัยของความเป็นครูที่เคร่งครัด รับผิดชอบงานสอนเป็นสำคัญ และมีระบบการนิเทศใกล้ชิดจากครูใหญ่และองค์กรอื่น ผลรวมของความขยันของนักเรียนและครูจึงลงตัว

โรงเรียนเวียดนาม มีอำนาจอิสระในการตัดสินใจน้อย เพราะมีการบริหารแบบอำนาจมาจากส่วนกลางเต็มรูปแบบ ภาระหน้าที่ของครู คือ สอน ดูแลควบคุมนักเรียน และระบบโรงเรียนเวียดนามมีการเน้นความสำคัญของผลการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเข้มงวด

นักเรียนเวียดนาม วัฒนธรรมความขยันเป็นพื้นฐานของคนเวียดนาม ซึ่งส่งผลมาถึงการศึกษาของเวียดนามที่เป็นกรอบให้นักเรียนขยันเรียน ทุ่มเทกับการเรียนอย่างจริงจัง และเห็นถึงความสำเร็จทางการศึกษาว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ในด้านความรู้สึกต่อวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนเวียดนามไม่มีความวิตกกังวลหรือไม่กลัวจะทำคณิตศาสตร์ไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจ ไม่เครียดและไม่กลัววิชาคณิตศาสตร์ และมีความมั่นใจสูงว่าจะใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตได้อย่างไร เพราะความเครียด ความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์ส่งผลเชิงลบกับคะแนนคณิตศาสตร์ เมื่อเทียบกับนักเรียนไทย พบว่า นักเรียนไทยกลัววิชาคณิตศาสตร์มากกว่า มีความวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถเรียนได้ดีสูงกว่า

พ่อ-แม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความแตกต่าง แม้ว่าพ่อแม่ของนักเรียนเวียดนามจะมีการศึกษาไม่สูงมากนัก แต่พ่อแม่กลับมีความคาดหวังสูงในด้านการศึกษาของลูกหลาน และมีส่วนร่วมในชีวิตทางการศึกษาของลูกหลาน คือทั้งมีความคาดหวังสูง ติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับครู และมีส่วนช่วยงานของโรงเรียน เช่น ช่วยในการระดมทุนเพื่อให้โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนการสอนให้กับนักเรียนอย่างสมบูรณ์ที่สุด เป็นต้น

การลงทุนทางการศึกษา ถึงแม้ว่าเวียดนาม จะมีเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า GDP ที่ต่ำกว่าทุกประเทศในกลุ่ม แต่เวียดนามมีการลงทุนทางการศึกษาในอัตราส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่า GDP แม้ว่าเม็ดเงินจะไม่สูงมาก แต่การศึกษาของเวียดนามก็ประสบความสำเร็จสูงกว่า เวียดนามมีโรงเรียนในชนบทหรือเมืองเล็กไม่มาก แต่ก็เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตาม Fundamental School Quality Level ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรการเรียน เวียดนามมีคอมพิวเตอร์ไม่มากเมื่อเทียบกับไทย แต่คอมพิวเตอร์ก็เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกือบครบทุกเครื่อง

จากผลการประเมิน PISA ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ

1. นักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีความสามารถสูงและกลุ่มที่มีความสามารถต่ำ มีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่าน จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ พบว่า ความสามารถด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับด้านคณิตศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน

2. ผลการประเมินชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ แต่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นยังมีอยู่เฉพาะในวงจำกัด หากระดับนโยบายสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา โดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้

———————————————————

ข้อมูลจาก :
http://www.ipst.ac.th/
http://pisathailand.ipst.ac.th/
http://www.bbc.com/
https://drive.google.com/

ภาพประกอบ :
http://www.thanhniennews.com/
https://www.pexels.com/