a book issue38 วรรณสิงห์ เถื่อนเจ็ด

อดีตตัวตนเนิร์ดๆ ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / อดีตตัวตนเนิร์ดๆ ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

“เถื่อนเจ็ด THE SAVAGE SEVEN” สนพ. a book เป็นผลงานพ็อกเกตบุ๊กส์ล่าสุดของเขาคนนี้ ผู้ชายติสท์ลุยห้าวที่รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กับนิยามความเป็นตัวตนที่มีนามสกุลต่อท้ายยาวเหยียดเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง นักดนตรี พิธีกร นักเขียน หรือความเป็น EXPLORER นักสำรวจที่สิงห์ยืดอกแมนยอมรับว่าเป็นนามสกุลถาวรที่เขาอยากจะใช้ในตอนนี้มากที่สุด และหนึ่งในเส้นทางค้นพบตัวตนในแบบที่เป็นสิงห์จนถึงทุกวันนี้นั้น จุดเริ่มต้นมันมาจากอดีตเด็กเนิร์ดปนอีโก้บวมๆ ตอนที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนั่นเอง

อดีตตัวตนเนิร์ดๆ ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

อดีตตัวตนเนิร์ดๆ ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

สิงห์ในร่างของเด็กอายุ 18 มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นอะไร

                ตอนจะเข้ามหา’ลัย ยังไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไรเลย แค่รู้สึกอยากทำงานอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็เลยเลือกไว้ทั้งรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ แต่ว่าพอดีพ่อเป็นอาจารย์สอนที่รัฐศาสตร์ ตอนนั้นห้าวไม่เอาดีกว่าพ่อสอน เลยเลือกคณะเศรษฐศาสตร์ที่ม.ธรรมศาสตร์ ก็คิดว่าถ้าเรียนปีหนึ่งไปแล้วไม่ชอบก็ซิ่วไปไม่มีปัญหา แต่สุดท้ายเรียนแล้วชอบมาก จนจบป.ตรีมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้เรียนต่ออะไรอีกเลย

หลายคนนึกภาพนักศึกษาธรรมศาสตร์ในสไตล์ของสิงห์ว่าจะต้องเป็นแนวเด็กกิจกรรมแน่ๆ

ชีวิตนักศึกษาปีแรกเที่ยวกลางคืนเยอะมาก มียืมบัตรประชาชนรุ่นพี่ไปใช้บ้าง (หัวเราะ) มีโมเมนท์ไปเมาอ้วกตามสี่แยก แต่ว่าพอถึงเวลาเรียนก็เป็นเด็กเนิร์ดอย่างแรง ตั้งใจเรียนมาก เข้าห้องเรียนก็จดตลอด อัดวิดิโอไปด้วย กลับไปบ้านดูอีกรอบ แล้วยังทำช็อทโน้ตมาสอนเพื่อนต่อ จนได้ STRENGTH A อะ จบออกมาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.83 ในขณะที่กิจกรรมก็ทำหมด อยู่ในองค์การนักศึกษา เข้าค่ายอาสา จัดเสวนา ตารางแน่นมาก สิ่งที่ไม่ค่อยได้ทำ คือ นอน นอนแค่วันละประมาณ 4 ชั่วโมงได้ มันยังหนุ่มแน่น ยังเอนจอยไง ช่วงนั้นใช้ชีวิตสุดจริงๆ ทำทุกอย่างสุดมากๆ คิดว่าเรียน 4 ปี ยังสั้นไปนะ

อดีตตัวตนเนิร์ดๆ ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ชีวิตนักศึกษาในแบบสุดๆ สุดโต่งทั้งชีวิตและความคิดไปด้วย!

ตอนนั้นเริ่มเข้าวงการด้วย ได้มีโอกาสเป็นนักเขียน แต่ในมหา’ลัยก็ได้ทำกิจกรรมเยอะ ได้เห็นบทบาทของตัวเองในการทำงานในหมู่คณะว่าเราควรจะอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งผมคิดว่าการทำกิจกรรมมหา’ลัยกับการทำงานจริงๆ ก็คล้ายกันนะ การรวมหมู่คณะ การพัฒนาตัวเอง ฟีดแบ็กจากคนอื่น มันเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะนำไปใช้ในการทำงานจริงต่อไปได้เลย แต่ตอนนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีซะทีเดียว เพราะพอเราทำอะไรได้ดีหลายอย่าง มันก็นำมาซึ่งอัตตาที่บวมขึ้น เริ่มมองตัวเองดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น มองย้อนกลับไปตอนนั้น ก็ไม่ใช่คนที่น่าคบนัก ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง ทะเลาะกันในที่ประชุมด้วยเรื่องแค่นิดเดียวแต่เถียงกันจะเป็นจะตาย ไม่มีใครยอมใคร มานึกย้อนไป ทำไมไม่ถอยไปให้มันจบๆ เรื่อง ถ้าเป็นตอนนี้คงโอเคครับพี่จบแล้ว คือตอนนั้นอยากจะพิสูจน์ตัวเอง ผมไม่อยากอยู่ใต้เงาของพ่อกับแม่ ก็เลยพยายามทำหลายอย่างมาก แต่สุดท้ายมันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าคนเดียวที่เราควรจะให้ความเคารพก็คือตัวเอง ไม่ใช่ความพยายามมากมายที่ต้องทำเพื่อให้คนอื่นมายอมรับในตัวเรา

อดีตตัวตนเนิร์ดๆ ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ในความสุดโต่ง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง

ผมเปรียบมหา’ลัยเป็นตู้เสื้อผ้านะ คือเราต้องลองเข้าไปใส่ดูหลายๆ ตัว อะไรที่เราชอบก็เก็บเอาไว้ ถ้าไม่ชอบก็โยนทิ้งไป แต่มันดีมาก เพราะมันมีเสื้อผ้าหลายๆ แบบให้เราได้ลองใส่ดู มองย้อนกลับไป มหา’ลัยก็ทำให้เราได้ฟอร์มตัวตนของเราได้ชัดเจนขึ้น ถึงแม้ต่อมาหลังจากจบแล้วเราอาจจะต้องเจออะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้เราเป็นคนในปัจจุบัน แต่ว่าจุดเริ่มต้นตัวตนจริงๆ ของเรามันเริ่มที่มหา’ลัยก่อน ซึ่งถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนั้น บางทีทุกอย่างมันอาจจะช้ากว่านี้เยอะก็ได้ ถ้าเราเพิ่งเริ่มมาอีโก้บวมตอนโต กว่ามันจะเริ่มฟีบลงก็ต้องแก่กว่านี้เยอะ เราก็จะมาเสียดายเวลาที่เสียไป เพราะยิ่งอีโก้ฟีบเร็วเท่าไหร่ มันก็ดีกับเราเท่านั้น

ตัวตนความเป็นคนเศรษฐศาสตร์ให้อะไรกับการทำงานนามสกุลยาวเหยียดบ้าง

ตอนจบใหม่ๆ ตอนนั้นไฟแรงอยากเอาวิชาที่เรียนมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ก็ไปลองสมัครหลายอย่างทั้งแบงก์ชาติ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ แต่พอแค่ลองไปสัมภาษณ์ดูก็รู้สึกเลยว่ามันไม่น่าจะใช่ตัวตนของเรา แต่ก็มีโอกาสได้ไปลองทำอยู่ที่ CHANGE FUSION เกี่ยวกับการพัฒนา SOCIAL ENTERPRISE ซึ่งก็ได้ทำโปรเจกต์หลายอย่างเหมือนกัน แต่ก็เหมือนว่าเราก็ไม่ได้ถนัดในเรื่องการทำ PROJECT MANAGEMENT มากนัก แล้วพอดีช่วงนั้นมีงานอื่นๆ เข้ามา แล้วก็พบว่าเราชอบงานพิธีกรรายการเดินทางมากที่สุด คือมันได้ประโยชน์กับสังคมด้วย ก็เลยค่อยๆ ผันตัวเองมาทำสื่อตรงนี้เต็มตัว แต่ผมว่าการเรียนในแบบเศรษฐศาสตร์ มันพูดถึงความต้องการทางวัตถุของมนุษย์ที่มีร่วมกันของทุกคน มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราทำงานพิธีกรและงานเขียนบทได้ดีขึ้น แต่นอกเหนือจากที่มนุษย์จะต้องการเรื่องวัตถุแล้ว มันก็ยังมีเรื่องของจิตวิญญาณ ทั้งความรัก จิตวิทยา อำนาจ ซึ่งเป็นส่วนของรัฐศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ที่เราต้องหาความรู้อื่นๆ เหล่านี้มาเสริมด้วยเหมือนกัน

แรงบันดาลใจในชีวิตที่ผลักดันให้ออกเดินทางเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ต่อไป คืออะไร

คือตอนนี้ในส่วนของ Chapter ในการเดินทางของผมมันจบแล้ว ผมก็เลยอยากจะรวบรวมเรื่องราวการเดินทางของผมตลอด 6 ปีออกมาเป็นงานเขียน ซึ่งก็ใช้ชื่อว่า “เถื่อนเจ็ด” เป็นการรวบรวมการเดินทางที่น้อยคนจะได้เคยไป แล้วก็สอดแทรกมุมมองชีวิตไปแต่ละบทๆ นั้นด้วย คือปกติผมเป็นคนที่ INSPIRE อะไรได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่เคยคิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ คือไม่ได้หลงตัวเองในแง่นั้น แต่เวลาเห็นอะไรที่เขาทำกัน ความรู้สึกแรกของเรา คือ เฮ้ย เราเอาด้วยเว้ย ซึ่งก็รวมตั้งแต่เขียนหนังสือยันไปถึงการกระโดดหน้าผา คือเวลาที่เห็นใครทำสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ บนโลกมากมาย ผมก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย  กิจกรรมยามว่างของผมที่ชอบทำตอนนี้ก็คือ ทิ้งมือถือไว้บ้าน แล้วขี่มอเตอร์ไซค์เลี้ยวเข้าออกมั่วซั่วในกรุงเทพ ไปไหนก็ไม่รู้ แต่มันทำให้เราได้เจออะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนในอีกสิบปีข้างหน้า ผมก็หวังว่าผมจะได้เดินทางไปสำรวจเชิงลึกจนครบ 100 ประเทศ

อดีตตัวตนเนิร์ดๆ ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเปลี่ยนแปลงตัวตนจากเริ่มต้นจนเป็นสิงห์ ณ ปัจจุบัน

ตอนจบใหม่ ชอบวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ แต่ตอนนี้ชอบนั่งเฉยๆ แล้วก็ทำ โดยไม่ต้องวิพากษ์ ตอนจบใหม่จะมีนาฬิกาชีวิตแล้วจะกดดันให้ตัวเองทำทุกอย่างให้สำเร็จ แต่พอทำสำเร็จก็ไม่ได้มีความสุขกับมัน เพราะคิดว่ายังต้องทำสเต็ปต่อไปอีก แต่ตอนนี้  ชิลมากๆ ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เสร็จ ตอนนั้นคิดว่าอีก 5 ปี ก็อายุ 30 แล้ว แต่ตอนนี้มองว่าเหลืออีก 60 ปีให้อยู่ ค่อยๆ ทำไป เหลือเวลาอีกเยอะ  แต่ก่อนชอบวิจารณ์โลกเยอะมาก ตอนนี้รู้สึกว่าวิจารณ์ไปก็เท่านั้น มันก็เป็นเหมือนเดิม เราควรจะต้องยอมรับสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ รวมไปถึงคนบนพื้นที่ต่างๆ บนโลกใบนี้ด้วย ถึงแม้มันต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจจริงๆ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าการที่คนเราเข้าใจกัน มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเปลี่ยนแปลงบางสิ่งให้มันดีขึ้นโดยปราศจากความเกลียดชังกันได้ 

ตามดูคอลัมน์ Interview ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.38

www.facebook.com/campusstars