ปัจจุบัน ‘เทคโนโลยี’ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลากแง่มุม ทั้งการติดต่อสื่อสาร การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ รวมไปถึงแฟชั่นเสื้อผ้าหรือสิ่งทอ ที่ล้วนต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ และก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับ ‘เอิน-กานดา เครือสุวรรณศิริ’ สาวหมวยดีกรีดาวคณะฯ และทูตกิจกรรมฯ มธ. ที่ฝันอยากเปิด ช้อปเสื้อผ้าสไตล์ ‘Unisex’ ที่ไม่ว่าจะเพศไหนก็ใส่ได้
เอิน-กานดา ทูตกิจกรรมฯ มธ.
ด้วยการเก็บเกี่ยวทุกดีเทล พื้นฐานการออกแบบ การเลือกใช้เส้นใย และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสิ่งทอในแบบต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมเย็บปักถักร้อยผลงานชิ้นเอก เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจสิ่งทอที่ยังไปได้สวย จึงได้เลือกศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่จะช่วยต่อยอด ‘อนาคตดีไซเนอร์’ ผ่านการเสริมสร้างทักษะการออกแบบที่แปลกใหม่ และพร้อมเรียนรู้เทคนิคการบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ
ที่จะจัดเต็มเทคโนโลยีสิ่งทอในผลงานตัวเอง
น.ส. กานดา เครือสุวรรณศิริ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ เล่าว่า … หากย้อนไปในวัยเด็ก ‘แฟชั่นเสื้อผ้า’ ถือเป็นสิ่งที่ตนให้ความสนใจและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเปิดอ่านนิตยสารแฟชั่น สเก็ตช์แบบเสื้อผ้า (Sketch) และมิกซ์แอนด์แมชท์เสื้อผ้าให้เข้าชุด (Mix & Match) ดังนั้น ในช่วงก่อนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงได้สำรวจทักษะการคิดวิเคราะห์ ที่ตนยังต้องการแรงเสริม ไปพร้อม ๆ กับค้นหาสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในหลักสูตร ที่ช่วยต่อยอดความฝันให้กลายเป็นธุรกิจส่วนตัวในอนาคต ซึ่งพบว่า หลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการขณะนั้น คือ หลักสูตรเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ที่เปิดสอนทั้งในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอและแฟชั่น รวมถึงสร้างความเข้าใจหลักการตลาดทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
แบ่งหลักสูตร เป็น 2 สาขา
นางสาวกานดา เล่าต่อว่า เมื่อเข้ามาศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว พบว่าถูกแบ่งออกเป็น 2 สาขา คือ
1) สาขาเคมีสิ่งทอ ที่เน้นการศึกษาเกี่ยวกับการนำความรู้ทางเคมีมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทออย่างเข้มข้น ตั้งแต่กระบวนการผลิตเส้นด้าย การย้อมสี การตกแต่งผลิตภัณฑ์ การศึกษาคุณสมบัติของเส้นใย รวมถึงการบำบัดน้ำเสียเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
และ 2) สาขาออกแบบและพัฒนาสิ่งทอ เน้นศึกษาหลักการออกแบบลายผ้าของผลิตภัณฑ์สิ่งทอในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ กระเป๋า ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ อย่างโปรแกรม ‘โปรแกรมออกแบบผ้าถัก’ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ 2 มิติ หรือเทคนิค ‘Electro’ การใช้แสงไฟช่วยในการขึ้นรูปเสื้อผ้า ขณะเดียวกันหลักสูตรดังกล่าว ยังสอดแทรกรายวิชาด้านบริหารธุรกิจ เพื่อให้บัณฑิตมีทักษะทางการตลาด ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดสู่อาชีพหรือธุรกิจในฝันได้สำเร็จ โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์เป็นผู้สอน
3 ปีที่เรียนรู้
ทั้งนี้ จากการเรียนรู้ในหลักสูตรดังกล่าว เป็นเวลากว่า 3 ปีนั้น ทำให้ตนมีทักษะในการออกแบบเสื้อผ้า Unisex ในแบบต่างๆ มีทักษะการวิเคราะห์เส้นใยเนื้อผ้าแต่ละชนิด อาทิ หากเป็นชุดของพนักงานดับเพลิง จะทำมาจากเส้นเส้นใยหิน (Asbestos) ผสม เส้นใยเรยอน (Rayon) เนื่องจากเป็นเส้นใยที่ทนต่อการติดไฟ ฯลฯ อีกทั้งยังช่วยเสริมให้ตนเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจและมองเห็นภาพมากขึ้น จากการเรียนรู้ในรายวิชาปฏิบัติการ (Laboratory) ที่ฝึกปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความตั้งใจในการเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าแฟชั่น ที่มีความรอบรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อย่างชาญฉลาดแล้ว ตนได้วางแผนศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านบริหาร เพื่อนำทุกองค์ความรู้ไปต่อยอดสู่ธุรกิจเสื้อผ้าสไตล์ ‘Unisex’ โดยในระยะแรกวางแผนเจาะตลาดเป้าหมายที่เป็นผู้หญิง ก่อนจะขยายสู่ตลาดที่กว้างขึ้นอย่าง ‘Unisex’ เป็นลำดับถัดไป นางสาวกานดา กล่าว
กิจกรรมก็สำคัญ
แต่ทว่าการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย หากมุ่งเรียนเพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้พลาดโอกาสในการทำกิจกรรมสุดสนุก หรือประสบการณ์สุดแปลก ดังนั้น ตนจึงเลือกเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตนเอง โดยการเข้าร่วมประกวดดาว-เดือนคณะฯ ปี 2558 และล่าสุดกับการคัดเลือกทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่ง ม.ธรรมศาสตร์ ประจำงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 ซึ่งเป็นการ คัดเลือกจากบุคลิกภาพและความสามารถที่โดดเด่น จากผู้สมัครกว่า 100 คน เหลือเพียง 15 คน ซึ่งตนได้รับการคัดเลือกและทำหน้าที่ดรัมเมเยอร์ นางสาวกานดา กล่าวทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ
สำหรับผู้สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.reg.tu.ac.th ในรอบรับตรงร่วมกัน ระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561 และรอบแอดมิชชั่นกลาง ระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2561 สอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายรับเข้าศึกษา มธ. โทร. 02-564-4441-79 ต่อ 1634-1638 เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th