Fashion Design and Clothing สัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์ขวัญใจนักศึกษา

ครูยุคนี้เปรียบเหมือนรถไฟฟ้า ต้องตามให้ทันลูกศิษย์ และไม่ปิดกั้น – อ. ณัฐพงษ์ ปัญญาธิคุณ

Home / วาไรตี้ / ครูยุคนี้เปรียบเหมือนรถไฟฟ้า ต้องตามให้ทันลูกศิษย์ และไม่ปิดกั้น – อ. ณัฐพงษ์ ปัญญาธิคุณ

ถ้าจะให้เปรียบครูในยุคปัจจุบันคงเปรียบ ครูยุคนี้เหมือนรถไฟฟ้า เพราะต้องตามให้ทันลูกศิษย์ และปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยใหม่ พยายามนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการสอน เด็กไม่จำเป็นต้องมานั่งท่องจำเหมือนในอดีต ให้เด็กได้คิดและเป็นตัวเองโดยไม่ปิดกั้นพวกเขา นี่คือหนึ่งในหลักการสอนของ อาจารย์ ณัฐพงษ์ ปัญญาธิคุณ ผู้สอนวิชา “Art of Grooming ที่กำลังเป็นขวัญใจนักศึกษา ม.ราชมงคลธัญบุรี บทความสัมภาษณ์ต่อไปนี้จะทำให้ทุกคนได้เห็นถึงการปรับตัวที่เข้ากับยุคสมัย ทั้งวิธีการทำงานในบทบาทของอาจารย์ วิธีการปรับตัวของผู้ใหญ่ที่ให้เข้ากับเด็ก นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดี ๆ ที่อ่านแล้วสามารถนำไปปรับใช้กันได้ค่ะ

อ. ณัฐพงษ์ ปัญญาธิคุณ สอนแฟชั่นเน้นปฏิบัติ ไม่เน้นทฤษฎี

-1- แนะนำตัวกับน้อง ๆ ชาวแคมปัส-สตาร์

สวัสดีครับ อาจารย์ชื่อ อาจารย์ ณัฐพงษ์ ปัญญาธิคุณ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ “Fashion Design and Clothing” ผู้สอนวิชา “Art of Grooming เป็นสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (หลักสูตรออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย) คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีครับ อาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

-2- ชีวิตวัยเรียน จุดเปลี่ยนอยู่ในช่วงมัธยมฯ

ชีวิตในวัยเด็กเป็นคนที่มีความชื่นชอบและรักในการแต่งตัวมาโดยตลอด จุดเปลี่ยนจะอยู่ในช่วงมัธยมปลายที่มีความสนใจอยากจะเรียนรู้และอยากศึกษาทางด้านการออกแบบแฟชั่น และให้ความสนใจกับการเรียนในด้านนี้เป็นพิเศษ จึงเลือกเรียนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย-อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เรียนเกี่ยวกับการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า การเรียนมีทั้งสนุกและมีท้อบ้างแต่ก็ผ่านมาได้ เพราะเราต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย ที่จะต้องเรียนรู้ถึงการออกแบบเสื้อผ้า การทำแบบตัด และการตัดเย็บ การเรียนผ่านมาได้ด้วยดีจากการสอนและการให้คำปรึกษาจากอาจารย์ ความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ อีกทั้งตัวเราเองที่มีความพยายาม เข้าเรียนสายบ้างแต่ก็เข้าทุกเกือบทุกคาบ เพราะใจเรารักและชื่นชอบเกี่ยวกับด้านเสื้อผ้าอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยเป็นปัญหาในการเรียนมากนัก

-3- ทำงานไปด้วย เรียนต่อ ป. โท ไปด้วย

หลังจากเรียนจบระดับปริญญาตรี ก็ได้ไปทำงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ที่บริษัทอินทิเมทแฟชั่น และบริษัท ซาบีน่า ฟาร์อีสท์ จำกัด (มหาชน) ระหว่างทำงานได้ประมาณ 6 ปีก็ตัดสินใจที่จะเรียนในระดับปริญญาโท ส่วนหนึ่งเราได้รับแรงผลักดันจากครอบครัวและอาจารย์ ในช่วงเวลานั้นทั้งเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย รู้สึกทั้งเหนื่อยและเครียด ตารางชีวิตในช่วงนั้นคือ วันจันทร์-วันศุกร์ ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศปกติ ส่วนวันเสาร์-วันอาทิตย์ก็จะต้องเป็นนักศึกษาไปเข้าเรียน เป็นช่วงที่เราแทบจะไม่ได้พักผ่อน อารมณ์ท้อมีบ้างในบางครั้ง แต่เพราะเรามีเป้าหมายและความพยายาม ก็ทำให้เรียนจนจบระดับปริญญาโทมาได้

-4- จากวงการแฟชั่น สู่การเป็นอาจารย์

หลังจากที่เราทั้งทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จนเรียกได้ว่าอยู่ในวงการแฟชั่นมานานมากประมาณ 10 กว่าปี จากความรู้และประสบการณ์ตรงจากอาชีพดีไซเนอร์ เราเริ่มคิดอยากนำประสบการณ์ในด้านนี้ไปเผยแพร่และให้ความรู้กับคนอื่นบ้าง จึงเริ่มสนใจอยากเป็นอาจารย์ อยากนำความรู้ที่มีไปเผยแพร่ให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่เขาชื่นชอบการศึกษาด้านนี้ จึงตัดสินใจสมัครสอบเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็นมหาลัยที่เราจบออกมา พอได้เข้ามาสอนเป็นอจารย์เราก็คิดว่า จะสอนอย่างไรให้แตกต่าง และตัวเด็กสนใจที่จะเรียน ให้เด็กเรียนแล้วได้ประโยชน์แบบจริง ๆ แบบไม่ต้องไปเน้นทฤษฎีอะไรมากมาย

-5- จะสอนอย่างไรให้แตกต่าง ให้เด็กสนใจ ใช้ประโยชน์ได้จริง

ด้วยส่วนตัวเราเองชอบการแต่งตัวและศิลปะเกี่ยวกับเสื้อผ้าอยู่แล้ว ดังนั้นการได้มาสอนวิชาศิลปะการแต่งกาย (Art of Grooming ) ก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำ แต่โจทย์ของเราคือ จะสอนอย่างไรให้แตกต่าง และน่าสนใจ ไม่ใช่แค่เพียงว่าเรียนรู้แค่ทฤษฎีเท่านั้นแต่พอให้ไปทำจริง ๆ นั้นทำไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการหลังจากนักศึกษาได้เข้าเรียนคลาสกับเราคือ สามารถเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพ การรู้จักการนำศิลปะเครื่องแต่งกายต่าง ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ รวมถึงรู้จักการแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะในโอกาสต่างๆ เรามองว่าการพัฒนาบุคลิกภาพ และความคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษามาก เพราะพวกเขาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง บางคนอาจจะไม่เคยคิด หรือคิดแต่ไม่กล้าที่จะทำ เราต้องการสอนให้พวกเขากล้าแสดงออก รู้จักการนำเสนอและมีการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งทฤษฎีไปหมดเลยนะ ในช่วงแรก ๆ เราจะสอนตามหลักทฤษฎีของการแต่งกายก่อน จากนั้นเราจะเริ่มให้โจทย์นักศึกษาในคลาส แต่งกายตามบทเรียนที่สอนไปในแต่ละคาบ โดยเราจะเน้นว่าไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าแพง ๆ หรือลงทุนอะไรมากมาย ให้นำเสื้อมาผ้าหรือสิ่งของต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ จากนั้นเราก็ลองเปลี่ยนโจทย์ไปเรื่อย ๆ และเริ่มให้เด็กโพสท์รูปภาพและดูความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เด็กก็จะเห็นเองว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีเด็กหลายคนที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาก รู้จักแต่งตัวให้ดีขึ้น เหมาะสมกับรูปร่างตัวเอง พูดเลยว่ากระแสดีตั้งแต่คาบแรก ทุกคนรู้สึกสนุกสนานกับการได้แต่งกายมาเรียนมาก ๆ ได้เห็นตัวเองในลุคที่ครีเอทขึ้นมาเอง

-6- เน้นปฏิบัติ กล้าคิด กล้าแสดงออก ใช้พื้นที่ Social Media วิธีนี้เวิร์ค!

พอได้ลองสอนไปเรื่อย ๆ โดยใช้วิธีการเปลี่ยนโจทย์การแต่งตัวไปทุกสัปดาห์ เหมือนเป็นการท้าทายพวกเขาด้วย ว่าโจทย์แต่ละโจทย์คุณจะคิดจะนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน เราพบว่ามันเวิร์คมาก เด็ก ๆ เค้าสนใจมาเรียนตลอด และตั้งใจเรียนมากด้วยนะ

โดยหลักการสอนของเราอย่างที่บอกเราเน้นการปฏิบัติ ให้พวกเขาได้แสดงออก รู้จักการนำเสนอและมีวิธีคิดที่สร้างสรรค์ ให้วิเคราะห์ และสอดแทรกแนวความคิด โดยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง พวกเขาจะมีการพัฒนาการ อีกอย่างด้วยการที่เราเคยคลุกคลีกับกลุ่มคนหลายช่วงอายุจากการปฏิบัติงานตอนที่มีอาชีพเป็นดีไซเนอร์ เราจะรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรและขาดอะไร เราจะนำสิ่งที่เด็กไม่ได้รับจากรายวิชาอื่น ๆ มาสอดแทรกสร้างความเป็นกันเอง และให้พวกเขาได้โชว์ศักยภาพตัวเอง พร้อมทั้งเราก็พยายามอัปเดตตัวเองให้ทันเทรนด์ใหม่ ๆ ด้วย เพื่อให้เข้ากับเด็กได้ โดยเราจะมีการใช้ Social Media ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการให้เด็ก ๆ โพสต์รูปงานตนเองอย่างที่บอกไปข้างต้น เด็ก ๆ ก็จะได้นำเสนออย่างสร้างสรรค์ในพื้นที่สื่อของตัวเองด้วย

นอกจากแต่งตัวครีเอทลุคแล้วเรายังให้เด็ก ๆ ได้ออกไปนอกสถานที่ด้วย เพื่อถ่ายรูปให้ตรงกับธีมการแต่งตัวของตัวเอง นอกจากจะได้รับความสนใจจากตัวนักศึกษาแล้ว ในวีคที่ให้การแต่งกายล้อเลียนคนดัง ยังได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลมีคนดูคลิปเป็นล้านเลย

-7- การแต่งกายเลียนแบบคนดัง นศ. สนุก ชาวโซเชียลเป็นล้านสนใจ

ตั้งแต่สอนมาโจทย์ที่พีคสุด ๆ ได้รับความสนใจมาก ๆ จากผู้คนในโซเชียลด้วยคือ วีคที่ให้โจทย์การแต่งกายล้อเลียนคนดัง โดยเราให้โจทย์นักศึกษาลองคิดว่าจะแสดงหรือคิดเอกลักษณ์ของบุคคลที่ตัวเองเลือกนั้นมานำเสนอหน้าชั้นเรียนอย่างไร สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เหมือนได้มากน้อยแค่ไหน รอบนี้เรามีของรางวัลให้ด้วยสำหรับการแต่งกายที่ดีที่สุด และกติกาอีกอย่างคือ เราจะโพสท์รูปของนักศึกษาในคลาส และนำรูปไปให้เพื่อน ๆ ที่เป็นดีไซเนอร์ช่วยกันตัดสิน เมื่อนักศึกษาได้รับโจทย์และรู้กติกา ทุกคนก็ดูสนุก มีแรงจูงใจ และเต็มที่กับการเรียนมาก ผลปรากฏว่านักศึกษาแต่ละคน ก็ทำออกมาได้สร้างสรรค์กันมาก ซึ่งคลิปที่เป็นกระแสและได้รับการสนใจมากที่สุดคือ คลิปการเลียนแบบเป็น ดอร่า สาวน้อยนักผจญภัย ของน้องเฟิร์น รวิสรา การสนุทร

เด็ก ๆ จะพูดเสมอว่าพวกเขาไม่เคยขาดเรียนวิชานี้ เค้าจะมาเรียนตลอดและตั้งใจเรียนมาก เราก็จะรู้สึกประทับใจ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก จากหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นคนภายนอกที่จะมองว่าให้เด็กทำอะไร แต่งกายแบบนี้เข้าสถานศึกษาได้ยังไง แต่จริง ๆ แล้วถ้าเราเปิดใจและยอมรับให้ทุกอย่างอยู่ในขอบเขตมันก็จะเป็นสิ่งที่ดี การเรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบมากเกินไป แต่เราใช้การปฏิบัติที่สอนให้เด็กเรียนรู้และวิเคราะห์ พวกเขาก็จะสนุกสนานในการเรียนได้

. . . . .

ความรู้สึกจากนักศึกษาในคลาสที่ได้เรียนกับ อ. ณัฐพงษ์

นายอนุวัฒน์ สังฆ์พัฒน์แก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 : “การเรียนศิลปะการแต่งกาย นักศึกษาจะได้เรียนรู้การแต่งกายตามธีมต่าง ๆ ในแต่ละสัปดาห์ เพื่อแต่งกายให้เหมาะสมตามโอกาสต่าง ๆ เช่น การออกงานกลางคืน การเปลี่ยนบุคลิกภาพของตัวเอง และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้ที่จะเลือกแมทช์เสื้อผ้าที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่ม หรือประดิษฐ์เครื่องประดับจากสิ่งของที่หาได้ง่ายตามธีมที่มีความหลากหลาย หรือตรงโจทย์มากขึ้น และบางสัปดาห์นักศึกษาสามารถใช้ความรู้ความสามารถในการตัดชุด สามารถตัดชุดขึ้นมาใหม่ที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของตัวเราเอง รู้สึกสนุกสนานมากตอนที่ได้ออกไปพรีเซนต์ชุดที่เราสวมใส่ ซึ่งเป็นชุดที่เราคิดขึ้นมาเอง”

นายวัชรวีร์ กระแสร์สัตย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 : “คลาสนี้ได้เรียนเกี่ยวกับการมิกซ์แอนแมทช์ชุดให้ใส่ได้ตรงตามธีมและกาละเทศะ ในทุก ๆ สัปดาห์หนูแทบไม่ได้ซื้อชุดเลย เพียงนำชุดที่มีอยู่มาสลับกันใส่ไปมาให้เข้ากับธีมนั้น ๆ ทำให้หนูมีทักษะในศิลปะการแต่งกายมากขึ้น ในการเรียนในคลาสหนูรู้สึกเป็นตัวเองได้ดี ไม่ได้กดดันตัวเองหรือไม่ได้มีความรู้สึกไม่อยากไปเรียนเลย อาจารย์ให้สิทธิ์ในการออกความคิดดีมาก ไม่ปิดกั้นความคิดเด็ก ๆ ทำให้เกิดศิลปะในคาบเรียนได้ดีจริง ๆ ”

นางสาวรวิสรา การสุนทร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 : “ได้รู้จักการมิกซ์แอนแมทช์เสื้อผ้าให้เข้ากับชีวิตประจำวัน รู้จักการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะในการเข้าสังคม ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ และบุคลิกของแต่ละคนได้เป็นอย่างมากเลยค่ะ”

. . . . .

-8- คำกล่าว อาจารย์เปรียบเหมือนเรือจ้าง คิดว่าในยุคนี้อาจารย์เปรียบเหมือนอะไรได้อีก

อาจารย์เปรียบเหมือนเรือจ้าง คำกล่าวโบราณนี้เป็นสิ่งที่เปรียบเทียบครู-อาจารย์ได้เป็นอย่างดี เพราะครูเปรียบเหมือนเรือจ้างผู้เสียสละ นำพาลูกศิษย์ทุก ๆ คนไปให้ถึงฝั่ง คอยนำทางให้พวกเขาได้ไปสู่จุดมุ่งหมายในชีวิต

แต่ถ้าจะให้เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบัน เราคิดว่า ครู-อาจารย์ก็คงเปรียบเหมือนรถไฟฟ้า เพราะต้องตามให้ทันลูกศิษย์ การสอนก็ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าและเติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ เราต้องเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางความคิด และทำให้เด็กรุ่นใหม่ยอมรับการสอนของอาจารย์ให้ได้ และสามารถให้ความรู้โดยที่เด็กไม่จำเป็นต้องนั่งเรียนท่องจำเหมือนอดีต แต่พยายามใช้เทคโนโลยีและเทคนิคต่าง ๆ มาสอนและให้พวกเขาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถคิดและเป็นตัวเองโดยไม่ปิดกั้น เด็กสมัยนี้มีความกล้าแสดงออกทางความคิดค่อนข้างสูง เราจะต้องคอยชี้แนะและให้เขาเห็นถึงประโยชน์และโทษจากสิ่งที่เขาคิด ต้องพาพวกเขาก้าวไปสู่อนาคตอย่างอย่างทันยุคและรวดเร็ว ต้องมีการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ หากเราวางแผนและนำขบวนพวกลูกศิษย์ไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย หรือพาเขาไปในที่ที่เหมาะสมและถูกต้อง ก็เหมือนเป็นการนำพาให้ลูกศิษย์ได้ประสบความสำเร็จ และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

บรรยากาศการเรียน

คลาสที่ออกไปข้างนอกห้องเรียน

-9- หัวใจหลัก ของการเป็นอาจารย์สอนแฟชั่นดีไซน์

“เราต้องกล้าที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ คิดในสิ่งที่ยังไม่มีใครคิด และทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ ให้ออกมาแปลกใหม่และใช้ได้จริงมากที่สุด” เช่นเดียวกับการสอน เราจะทำยังไงที่จะคิดการเรียนการสอนให้เด็กได้สนุกและได้รับความรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติอย่างแท้จริง

สิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานหลัก หรืองานเสริม สิ่งที่ตัวอาจารย์เองจะคำนึงตลอดเลยคือ ทำแล้วมีประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน และถ้าเราทำสิ่งนั้นแล้วผลที่เกิดขึ้นคืออะไร เหมือนเราทำงานเราจะคิดไปด้วยเสมอ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งในด้านดีและไม่ดีขณะที่เราทำสิ่งนั้น ๆ อยู่

ขอบคุณภาพจาก : TotoNatthapong

บทความแนะนำ