issue36 okusno คางกุ้งอบกรอบ นักธุรกิจอายุน้อย แพร-พิมพ์มาดา

แพร-พิมพ์มาดา ceo รุ่นใหม่ แบรนด์ OKUSNO

Home / วาไรตี้ / แพร-พิมพ์มาดา ceo รุ่นใหม่ แบรนด์ OKUSNO

การเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย คือโอกาสที่จะได้เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น อย่ารอให้อายุมากขึ้นๆ เท่ากับเราได้เสียโอกาสนั้นไปทุกปีๆ เหมือนกับวัยรุ่นนักธุรกิจที่หน้าเด็กที่สุดคนนี้ แพร-พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ เจ้าของแบรนด์ OKUSNO ผลิตภัณฑ์คางกุ้งอบกรอบเจ้าแรกในประเทศไทย ที่เริ่มทำธุรกิจจากวัยที่เพิ่งเรียนจบ ประสบการณ์น้อย แต่เธอเลือกที่จะเดินหน้าไขว่คว้าหาโอกาสนั้น แม้ว่ามันจะต้องแลกมากับบทเรียนที่แสนท้าทายไปตลอดทาง

  แพร-พิมพ์มาดา ceo รุ่นใหม่ แบรนด์ OKUSNO

แพร-พิมพ์มาดา ceo รุ่นใหม่ แบรนด์ OKUSNO

INSPIRATION

สาวน้อยแสนสดใส ยิ้มทีตาสระอิ จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ อินเตอร์ ม.ธรรมศาสตร์ จากความชื่นชอบในด้านกราฟิกดีไซน์ที่คิดมาตลอดการเรียนสี่ปีว่ามันจะเป็นวิชาชีพที่ถนัดที่สุด สาวธรรมศาสตร์ไฟแรงเพิ่งจบใหม่ ตัดสินใจสอบชิงทุนไปต่างประเทศ ได้ทุนไปทำงานที่สโลวีเนียเป็นระยะเวลา 4 เดือน จนเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอได้รู้ว่าการทำงานกราฟิกที่เธอคิดว่าใช่ มันกลับเป็นการทำงานที่ต้องตามใจลูกค้า ความถูกใจของตัวเองกลับไม่ถูกใจลูกค้า บวกกับการได้เที่ยวท่องโลกช่วงวันหยุด ทำให้เธอได้เห็นโลกกว้างจนแน่ใจแล้วว่า กลับมาไทยคราวนี้เธอจะดีไซน์ธุรกิจของตัวเอง เหมือนที่เธอได้มีโอกาสดีไซน์การท่องเที่ยวในช่วงหนึ่งของชีวิต

https://campus.campus-star.com/variety/11443.html
IMPORTANT IN A CAREER

“กลับจากใช้ทุนมาได้สองเดือน ก็เริ่มจากเห็นคุณลุงทำสัปปะรดส่งออกต่างประเทศ เลยขอคุณลุงมาทำในประเทศ เอาลูกสัปปะรดมาคว้านแกนออกแล้วใส่เป็นไอศกรีมสัปปะรด ตอนนั้นลงทุนไม่เยอะ ก็เลยได้กำไรเยอะ แต่หลังๆ เริ่มเจอปัญหาการขนส่งลำบาก เราก็เลยอยากมองหาตัวใหม่ที่มันเก็บได้นาน จนได้มีโอกาสกินข้าวอยู่ที่บ้านแล้วคุณแม่ทำกับข้าวเป็นเมนูกุ้ง เราก็พิเรนทร์ลองแกะดูส่วนหัวของกุ้งที่เขาทิ้ง เห็นเป็นส่วนนิ่มๆ ใต้หัว เลยเรียกเองว่า คางกุ้ง น้องชายก็สนใจ เลยช่วยกันลองเอาส่วนนั้นมาทำทุกอย่างทั้งอบปิ้งย่างนึ่ง สุดท้ายค้นพบว่าทอดดีที่สุด ก็ลงทุนครั้งแรกด้วยทุนสามหมื่น ลองทำเป็นแพ็กเกจจิ้ง ค้นหาวิธีทำให้มันเก็บไว้ได้นานที่สุด ช่วงแรกเคยเจออุปสรรคจนเฟลไปหลายที มีทั้งคนมาหลอกเอาเงินไปลงทุน มีคนเคยมาวาดฝันว่าจะให้ไปขายที่ประเทศจีน เราก็เลยไปสร้างโกดังเล็กๆ เพื่อให้ได้อย. แต่ปรากฏว่า เจอปัญหากระจกกั้นห้องมันร้าว อย.ไม่ผ่าน คนที่เสนอก็หายไปเลย สุดท้ายต้องไปเจรจากับเจ้าของโรงงาน ได้เงินคืนมา

ทีนี้ถ้าเป็นคนอื่น ก็คงจะหยุดไปทำอย่างอื่น แต่ด้วยความที่เราเชื่อว่าโปรดักซ์ของเรายังไปได้ ก็เลยตัดสินใจทำต่อ ไป หาโรงงานใหม่ ก็ใช้ความรู้ที่เรียนมาออกแบบแพคเกจจิ้งเข้าไปเสนอที่พารากอน โชคดีมากที่ไปเสนอวันนั้นก็ได้วันนั้นเลย เขาบอกแพคเกจโอเค ขนมแปลกใหม่ รสชาติดี แต่ตอนเริ่มแรกด้วยความที่เป็นสินค้าแปลก คนยังไม่รู้จัก เราก็ต้องใช้กลยุทธ์ทุกอย่าง ทำการตลาดด้วยการให้คนชิม ทำยังไงให้คนเอาขนมเราเข้าปาก บวกกับได้โอกาสไปออกรายการ SME ตีแตก ซึ่งก็ไม่คิดนะว่าจะผ่านไปถึงรอบสุดท้ายได้ แต่สิ่งที่ทำให้ได้สุดยอด SME ปี 2015 คงเป็นกลยุทธ์ที่ตั้งอยู่บนหลักของความเป็นจริงที่ทำได้ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นห้าหกเท่า และยังได้รู้จักเพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจอายุเท่าๆ กัน ได้มาแลกเปลี่ยนแชร์วิธีการทำธุรกิจร่วมกัน

ตอนนี้เป้าหมายมีสองอย่าง คือทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จัก และส่งออกในต่างประเทศให้มากขึ้น จริงๆ ตลอดระยะเวลาหลายปี ด้วยความที่อายุยังน้อยก็เป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำธุรกิจ เข้าไปเจรจากับผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครเชื่อ คุณพ่อคุณแม่ก็คัดค้านมาตลอด แต่พวกเราถือคติประจำใจว่า ถ้าเจอปัญหาอะไรต้องลองแก้ไขปัญหาให้ถึงที่สุด แล้วเราก็พยายามพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นไปได้ เวลาที่ลูกค้าคอมเม้นท์ว่าขนมของเราอร่อยมาก มันรู้สึกว่าการที่เราเป็นเด็กซึ่งได้คิดอะไรขึ้นมาสักอย่างแล้วทำให้คนชอบมากๆ เหมือนเป็นแรงผลักดันให้เราอยากทำสิ่งดีๆ นั้นต่อไป”

THINKING TO CAMPUS

“คนที่อยากทำธุรกิจ อันดับแรก อยากให้ถามตัวเองก่อนว่าชอบความเสี่ยงมั้ย เพราะธุรกิจมันอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา มันจะล้มในวันสองวัน หรือมันจะล้มวันไหนก็ไม่มีใครรู้ ถ้าเราไม่ชอบความเสี่ยง ก็อยากแนะนำให้ไปทำงานประจำดีกว่า เพราะสามารถเติบโตได้ตำแหน่งสูง และมั่นคง แต่ถ้าเราได้คำตอบแล้วว่า เราอยากลองทำดูก็ทำเลยอย่ารอเพราะถ้าสมมุติว่าเราอายุ 20 แล้วโอกาสที่จะทำมันมาแล้ว แต่เราไม่คว้ามันไว้ เรารอไปอีกถึงอายุ 40 เท่ากับเราเสียเวลาไปถึง 20 ปี แต่สิ่งต้องทำ

สำหรับการเริ่มทำธุรกิจก็คือ ลองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆ ที่คนยังไม่เคยทำ เราต้องหาจุดเด่นหรือจุดต่างให้กับธุรกิจของเรา อย่าไปลอกเลียนของใคร การก็อปปี้ของเขาแล้วนำมาปรับเปลี่ยนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าภูมิใจ เพราะสุดท้ายคนที่ทำธุรกิจคือตัวเรา ถ้าเรามีความภูมิใจในธุรกิจของเรา ยังไงเราก็มีความเชื่อที่จะผลักดันให้มันไปต่อได้แน่ๆ”

ติดตามได้ในคอลัมน์ worker นิตยสาร Campus Star No.36
www.facebook.com/campusstars

IMG_3678