วิทยาศาสตร์ เด็กเก่ง เด็กไทย

น้องฮับ สร้างโปรแกรมช่วยคนหูหนวก ติด 1 ใน 20 Google Science Fair – จากผู้เข้าแข่งขันทั่วโลก

Home / วาไรตี้ / น้องฮับ สร้างโปรแกรมช่วยคนหูหนวก ติด 1 ใน 20 Google Science Fair – จากผู้เข้าแข่งขันทั่วโลก

น้องฮับ ตัวแทนเด็กไทยสร้างชื่อเสียงไกลระดับโลก เข้าร่วมแข่งขันการสร้างโปรแกรมเเละประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน หรือคนหูหนวก ในโครงการ  Google Science Fair และสามารถเข้ารอบติด 1 ใน 20 คน จากผู้เข้าแข่งขันทั่วโลก ทั้งนี้น้องฮับเผยว่าไอเดียที่นำมาสร้างโปรแกรมประดิษฐ์นั้น ต่อยอดมาจากที่ตนเองเคยเล่นกีตาร์ และยังมองอีกว่าอยากช่วยเหลือผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ และมีผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินบนโลกนี้ค่อนข้างเยอะ

น้องฮับ เข้ารอบโครงการระดับโลก Google Science Fair – สร้างโปรแกรมช่วยคนหูหนวก

อัปเดตล่าสุด น้องฮับได้ไปออกรายการ Super 10 อัจฉริยะตัวน้อย SS3 และสร้างความประทับใจสุดซึ้งที่สามารถใช้เครื่องช่วยคนหูหนวกที่น้องฮับคิดค้นขึ้นมา สามารถทำให้เด็กหูหนวกได้ยินเสียงพูด และสามารถพูดคำที่ได้ยินออกมาได้ โดยในรายการได้ให้น้องพูดคำว่า ปลา และ พ่อ ออกมา

โฉมหน้าของเด็กเก่ง น้องฮับ

คลิปจาก: WorkpointOfficial

เมื่อใช้เครื่องมือที่น้องฮับประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นตัวกลาง ให้น้องที่หูหนวกใส่ ทำให้ได้ยินและสื่อสารเป็นคำพูดออกมาได้ โดยน้องพูดคำว่า “ปลา” และ “พ่อ” ออกมา

สำหรับเด็กชายเหมวิช วาฤทธิ์ หรือ น้องฮับ อายุ 13 ปี เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวารีเชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เข้าร่วมโครงการแข่งขัน Google Science Fair และสามารถเข้ารอบ 1 ใน 20 คนสุดท้าย ด้วยการสร้างโปรแกรมเเละประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน

ในการแข่งขันโครงการครั้งนี้มีเด็กไทยพียง 2 คนที่เข้าแข่งขันจนถึงรอบ 100 คนสุดท้าย และในรอบ 20 คนสุดท้ายน้องฮับก็สามารถเข้าไปได้ ถือเป็นเด็กไทยคนแรกที่เข้าไปถึงรอบลึก ๆ และเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยเข้าแข่งขันมา ลองไปย้อนอ่านไอเดียของน้องฮับกันค่ะ ว่าเขาสามารถคิดโปรแกรมช่วยคนพิการทางการได้ยินได้อย่างไร?…

ต้องการช่วยเหลือคนพิการที่ไม่ได้ยิน ปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ

ทั้งนี้น้องฮับมองว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบจากความบกพร่องทางการได้ยินกว่า 422 ล้านคนทั่วโลก ถือว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ หลังจากได้ทราบข่าวจากคุณครูว่ามีโครงการ Google Science Fair ดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดอยากช่วยเหลือคนพิการทางได้การได้ยิน จึงได้ตัดสินใจคิดทำโปรแกรมขึ้นมาเพื่อส่งเข้าประกวดในโครงการดังกล่าว

ไอเดียเกิดจาก เคยเล่นกีตาร์ แล้วไม่ได้ต่อกับเครื่องขยายเสียง

ก่อนหน้าที่จะทำผลงานส่งเข้าประกวด น้องฮับได้นำแนวคิดมาปรึกษาครอบครัว ประกอบกับเคยได้พูดคุยกับคนที่พิการทางหูมาก่อน จึงทำให้รู้ว่าเขามีน้ำเสียงที่ฟังดูเบา เหมือนไม่มีแรงและเสียงต่ำ จึงน่าจะทำให้คนเหล่านี้หลีกเลี่ยงการพูดและนำภาษามือมาใช้ในการสื่อสาร

มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ตนกำลังเล่นกีตาร์ แต่ไม่ได้ต่อแอมป์ที่เป็นตัวขยายเสียง และเสียงโทรทัศน์ที่เปิดก็ดัง ทำให้เสียงกีตาร์ตนเบามาก ขณะนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร และได้เอาคางไปแตะที่ตัวกีตาร์เพื่อจะฟังเสียง ปรากฏว่าเสียงดังชัดเจนขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าอาจจะนำมาใช้กับคนที่พิการทางหูได้ จึงได้นำมาพัฒนาโครงการทำเครื่องช่วยฟัง และการพัฒนาโปรแกรมฝึกการออกเสียงพูดขึ้นมา

ทดสอบ และพัฒนาอุปกรณ์มาเรื่อย ๆ

จากนั้นได้เริ่มทดสอบและพัฒนาอุปกรณ์ ภายใต้ความร่วมมือกับโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร นำแนวทางการใช้กระบังลมจากการร้องเพลง มาช่วยฝึกให้คนพิการทางหูได้ทดลองเปล่งเสียงพูดหลังจากใส่อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง เมื่อผู้พิการได้ยินเสียงจะเกิดความกล้าที่จะทดลองเปล่งเสียงมากขึ้น

 

ช่วยฝึกให้คนพิการทางหูทดลองเปล่งเสียงพูด หลังจากใส่อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง

ผลจากการทดสอบมาแล้วประมาณ 20 คน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ความรู้กระดูกหูจากคุณหมอ จนนำมาสู่การทดสอบที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร ได้เริ่มทดสอบอย่างไม่เป็นทางการและพัฒนาอุปกรณ์มาเรื่อย ๆ โดยน้องฮับได้นำแนวทางการใช้กระบังลมจากการร้องเพลง (ซึ่งน้องฮับเคยมีประสบการณ์มาจากการประกวดร้องเพลงในเวทีเดอะวอยซ์ คิดส์ ไทยแลนด์) ได้มาช่วยฝึกให้คนพิการทางหูให้เขาทดลองเปล่งเสียงพูด หลังจากใส่อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง เมื่อเขาได้ยิน เขาก็มีความกล้าที่จะทดลองเปล่งเสียง และก็ได้ยินเสียงที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ส่งผลกระทบต่อหู หรือการติดเชื้อในช่องหูด้วย

น้องฮับยังเผยความรู้สึกอีกว่า “ดีใจที่ได้เข้าแข่ง Google Science Fair และยอมรับว่าได้รับแรงกดดันมาก แต่ก็ทำให้ได้รับความรู้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่า ขณะนี้เทคโนโลยี และโลกออนไลน์เปิดให้การเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง และไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการเรียนรู้ เชื่อว่าหลายคนก็มีแนวคิด และโครงการดี ๆ มากมาย อยากให้เด็กไทยได้พัฒนา และอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเด็กไทยในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น เพราะโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีในอนาคต เพราะเชื่อว่าคนไทยและเด็กไทยทำได้”

ขอบคุณข้อมูลจาก : chiangmainews.co.th

บทความแนะนำ