XChange English การสอบ GMAT การสอบ GRE ภาษาอังกฤษ

ดูกันชัดๆ GMAT กับ GRE ต่างกันอย่างไร ? เราควรสอบตัวไหน ?

Home / วาไรตี้ / ดูกันชัดๆ GMAT กับ GRE ต่างกันอย่างไร ? เราควรสอบตัวไหน ?

เป็นที่ทราบกันดีกว่าคะแนน GMAT และ GRE เป็น requirement จำเป็นที่สำคัญต่อการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งคะแนน GMAT ถือว่าเป็นใบเบิกทางเข้า Business School ดังๆ ระดับโลก แต่ในปัจจุบัน Business School หลายๆ แห่ง เริ่มเปิดใจรับคะแนน GRE มากขึ้น ทำให้หลายๆ คนที่กำลังเตรียมตัวจะเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจเริ่มไม่แน่ใจว่าจะสอบตัวไหนดี

อย่าเพิ่งสอบ! อ่านบทความนี้ก่อน เพราะเรามีคำตอบ มาดูกันชัดๆ ว่า GMAT กับ GRE ต่างกันอย่างไร แล้วเราควรสอบตัวไหน

GMAT กับ GRE ต่างกันอย่างไร ?

เราควรสอบตัวไหน ?

1. GMAT กับ GRE ต่างกันอย่างไร ?

เรามาดูความแตกต่างโดยรวมของข้อสอบทั้งสองตัวนี้กันก่อน

ภาพรวมข้อสอบ GMAT และ GRE

ภาพรวมข้อสอบ GMAT และ GRE

เมื่อเห็นภาพรวมของข้อสอบแล้ว เรามาดูกันว่าแต่ละตัวทดสอบอะไรเราบ้าง

โครงสร้างข้อสอบ GMAT และ GRE

โครงสร้างข้อสอบ GMAT และ GRE

ข้อสอบ GMAT และ GRE มี 2 Section ที่คล้ายคลึงกัน คือ 1. Verbal (ภาษาอังกฤษ) และ 2. Quantitative (ตรรกะเชิงคณิตศาสตร์) ซึ่ง

1) Verbal Section ทดสอบทักษะภาษาอังกฤษด้านความเข้าใจ (comprehension), ไวยากรณ์ (grammar), และ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking)

2) Quantitative Section ทดสอบการใช้ตรรกะในการวิเคราะห์เชิงปริมาณและการแก้โจทย์เชิงคณิตศาสตร์ แต่หัวข้อ Quantitative ใน GMAT นั้นจะแตกต่างจากของ GRE และยังได้รับการขนานนามว่ามีความโหดอยู่ประมาณหนึ่งอีกด้วย

หัวข้อต่างๆ ในข้อสอบ GMAT และ GRE

หัวข้อต่างๆ ในข้อสอบ GMAT และ GRE

คำถาม Verbal Section ของ GMAT

แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) Sentence Correction เป็นการทดสอบความรู้พื้นฐานด้านภาษา ผู้สอบต้องแก้ไขจุดที่ผิดในประโยคภาษาอังกฤษโดยอ้างอิงจากกฏไวยากรณ์มาตรฐาน

2) Reading Comprehension เป็นการทดสอบความสามารถในการอ่านจับใจความและการตีความ (inference) ความหมายต่างๆ ผู้สอบต้องตอบคำถามเกี่ยวกับบทความที่อ่าน ทั้งแบบสั้นและแบบยาว

3) Critical Reasoning เป็นการทดสอบทักษะในการใช้เหตุผลประเมินข้อโต้แย้ง ผู้สอบต้องพิจารณาข้อมูลที่ได้รับมาและตอบคำถามโดยอนุมานจากความรู้ที่มี

แน่นอนว่า Verbal Section ของข้อสอบ GMAT มีจุดประสงค์ที่จะวัดทักษะภาษาอังกฤษของผู้สอบ แต่จะเน้นทางด้านโครงสร้างของภาษาเป็นหลัก ดังนั้นผู้สอบจึงต้องมีรู้กฏไวยากรณ์ต่างๆ และมีความเข้าใจภาษาอังกฤษมาตรฐานเพื่อใช้งานได้อย่างถูกต้อง (Standard Written English)

ในขณะที่ Verbal Section ของข้อสอบ GRE เน้นทดสอบความรู้ด้าน vocabulary เป็นหลัก โดยคำถามส่วนใหญ่ใน section นี้จะประกอบไปด้วย Text Completion และ Sentence Equivalence ซึ่งเรียกได้ว่าสร้างความสับสนอยู่ในระดับหนึ่งหากเรามีความเข้าใจใน vocabulary ไม่มากพอ นอกเหนือจากนี้ ตัวเลือกคำตอบยังมีความใกล้เคียงกันมาก ทำให้การหาคำตอบนั้นไม่ง่ายเสมอไปครับ

คำถาม Quantitative Section ของ GMAT

แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) Problem Solving เป็นการทดสอบความเข้าใจและความรู้คณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ผู้สอบต้องแก้โจทย์เชิงคณิตศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยการคำนวณ (arithmetic), พีชคณิต (algebra), และ เรขาคณิต (geometry) เป็นต้น

2) Data Sufficiency จะคล้าย กับ Critical Reasoning ใน Verbal Section เป็นการทดสอบทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ ผู้สอบต้องพิจารณาว่าข้อมูลเพียงพอในการแก้โจทย์หรือไม่ โดยข้อสอบไม่ได้ขอให้ผู้สอบทำการแก้โจทย์ข้อนั้นจริงๆ

หากเราสังเกตดีๆ จะพบว่า Quantitative Section ของ GMAT ไม่ได้ทดสอบทักษะด้านคณิตศาสตร์ของผู้สอบโดยตรง แต่เป็นการทดสอบความสามารถในการใช้เหตุผลประกอบกับหลักการเชิงคณิตศาสตร์เพื่อหาคำตอบในโจทย์แต่ละข้อเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ ผู้สอบเองยังต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์กลุ่มข้อมูลที่ได้รับมาในรู้แบบต่างๆ อีกด้วย

ในขณะเดียวกัน Quantitative Section ของ GRE นั้นมุ่งเน้นไปที่กฎทางคณิตศาสตร์และการคำนวณโดยตรง ดังนั้นผู้สอบ GRE จำเป็นต้องมีทั้งความรู้และความสามารถเชิงคณิตศาสตร์จริงๆ

2. เราควรสอบตัวไหนดี?

นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเรียนต่อ ป.โท หรือ MBA ดี ต้องเจอกับคำถามนี้อย่างแน่นอน ในกรณีนี้เราควรตัดสินใจให้แน่ชัดก่อนว่าจะเรียนต่อสาขาใด เช่น ถ้าเราจะเรียนต่อ MBA เราก็สามารถจำกัดรายชื่อมหาวิทยาลัยที่อยากสมัครเข้าได้ง่ายขึ้น
ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าจะสอบตัวไหนนั้นขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยที่เราอยากสมัครเข้า ว่ามหาวิทยาลัยในดวงใจของเรานั้นเขา prefer คะแนนสอบตัวไหนมากว่ากันนั่นเอง

ในฐานะที่เราเพิ่งจบใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน การเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ หรือ MBA เพื่อเพิ่มพูนความรู้และใช้เป็นใบเบิกทางสู่ตำแหน่งระดับผู้จัดการในอนาคตก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับหลายๆ คนที่ยังไม่พร้อมเริ่มทำงานทันทีหลังเรียนจบ ซึ่งแน่นอนว่าการสอบ GMAT นั้นตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้ดี

หลังจากที่สอบ GMAT แล้ว เรายังมีอีก 2 ทางเลือกด้วยกัน

1) หากมีประสบการณ์ทำงานน้อย (ไม่ถึง 1 ปี) ผู้สอบสามารถสมัครเรียน MBA หลักสูตรผัดผ่อน (deferred admission) ไว้ก่อนได้ แล้วค่อยไปเริ่มทีหลังเมื่อพร้อม

2) ทำงานเก็บประสบการณ์ 2-3 ปีก่อน แล้วค่อยสมัครเรียน MBA เมื่อพร้อม เนื่องจากคะแนน GMAT มีอายุ 5 ปี
ทั้งนี้ Business School ส่วนใหญ่แล้วประสงค์ให้นักศึกษา ป.โท ที่สมัครเข้ามาเรียน MBA มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 3 ปีติดตัวมาด้วย แต่ถ้าหากว่าเรามีประสบการณ์ทำงานไม่ถึง เราอาจจะลองพิจารณาสาขาวิชาอื่นๆ ในด้านบริหารธุรกิจที่ไม่ใช่ MBA แทนก็ได้เช่นเดียวกัน

3. สอบแล้ว คะแนนไม่ดี ย้ายค่ายดีไหม?

สมมุติว่าเราเป็นคนหนึ่งที่สอบ GMAT ไปแล้ว และคะแนนออกมาไม่ค่อยดีนัก เราอาจจะเกิดคำถามว่า “หรือเราไปสอบ GRE ดีกว่า?” พี่พีทอยากให้เราถามตัวเราเองก่อนว่า “เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง?” หากเรารู้สึกว่ายังทำได้ไม่เต็มที่ บอกได้เลยว่าถ้าเราไปสอบ GRE แทน เราก็จะถูกทดสอบในทักษะที่ไม่ได้แตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ตรรกะ หรือ ให้เหตุผลเชิงวิเคราะห์ ซึ่ง GRE เองก็ไม่ได้ถือว่าเป็นข้อสอบที่ง่ายกว่า GMAT นะครับ ดังนั้น “การหนี GMAT ไปสอบ GRE” อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไปครับ
ทั้งนี้ ถ้าหากว่าเราเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าชอบ vocabulary มากกว่า grammar บางที GRE อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับเรามากกว่า GMAT ก็ได้เช่นกัน

เช่นเดียวกัน หากเราเป็นคนที่สอบ GRE แล้วคะแนนออกมาไม่ค่อยสวยและกำลังชั่งใจอยู่ว่าจะเรียนต่อ MBA ดีหรือไม่ ถ้าเรามั่นใจแล้วว่าจะเลือกเรียนสายบริหารธุรกิจจริงๆ การย้ายค่ายไปสอบ GMAT ก็เป็นสิ่งที่ logical ครับ

ในทางกลับกัน หากคะแนน GRE ของเราดีอยู่แล้ว เช่นได้ 326 (ซึ่งเทียบเท่ากับ 700 ใน GMAT) ก็ไม่มีความจำเป็นต้องสอบ GMAT ใหม่ ยิ่งถ้ามหาวิทยาลัยนั้นรับคะแนน GRE ด้วย ก็ถือว่าเราโชคดีมากครับ

สรุปสุดท้าย

ข้อสอบ GMAT และ GRE มีความคลายคลึงกันในแง่ของทักษะที่ใช้สอบ ทั้ง GMAT และ GRE เองทดสอบการใช้เหตุผลเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงวิพากษ์ นอกเหนือจากนี้ Verbal Section ของ GMAT เน้นทดสอบความรู้ด้านไวยากรณ์และกฎภาษาอังกฤษมาตรฐาน ในขณะที่ GRE วัดความรู้ด้าน vocabulary มากกว่า ส่วน Quantitative Section ของ GMAT ก็ไม่ได้วัดความรู้คณิตศาสตร์และการคำนวณโดยตรง แต่จะทดสอบการใช้เหตุผลและการนำความรู้พื้นฐานต่างๆ เหล่านี้มาแก้โจทย์แทน

Business School ส่วนใหญ่ prefer คะแนน GMAT บวกกับประสบการณ์ทำงานเพื่อสมัครเข้าเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) ส่วนคะแนน GRE ใช้สมัครเรียนปริญญาโทในสาขาวิชาอื่นๆ นั่นเอง ถึงแม้ว่า GRE จะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นใน Business School สุดท้ายแล้วเราต้องพิจารณาดูให้ดีก่อนว่ามหาวิทยาลัยในฝันของเรานั้น prefer คะแนนสอบตัวไหน หลังจากนั้นค่อยตัดสินใจเลือกสอบ GMAT หรือ GRE นั่นเอง

อ้างอิง: www.crackverbal.com/gmat-vs-gre

ครูพี่พีท : XChange English

บทความแนะนำ