กัญชง กัญชงลงแปลง กัญชา ม.ขอนแก่น สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์

มข.จัดเสวนา “ร่วมคิดร่วมฝัน ปลุกปั้นกัญชงไทย” ให้ความรู้ประชาชน

Home / วาไรตี้ / มข.จัดเสวนา “ร่วมคิดร่วมฝัน ปลุกปั้นกัญชงไทย” ให้ความรู้ประชาชน

สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และกองบริหารงานวิจัย จัดงานเสวนาวิชาการ “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย” โดยมี ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวรายงานต่อ รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานพิธีเปิด และมี ผู้บริหาร ม.ขอนแก่น รวมทั้งผู้สนใจจากหลากหลายหน่วยงาน สถาบัน และกลุ่มวิสาหกิจเข้าร่วมในงานเสวนาวิชาการกว่า 60 คน / อ่านบทความ..  งานเสวนา ร่วมคิดร่วมฝัน ปลุกปั้นกัญชงไทย

งานเสวนา ร่วมคิดร่วมฝัน ปลุกปั้นกัญชงไทย ให้ความรู้ประชาชน

โดยมีพิธีเปิดการเสวนา ณ แปลงเพาะปลูกกัญชง หมวดพืชผัก คณะเกษตรศาสตร์ และจัดงานเสวนาวิชาการ และจัดนิทรรศการให้ความรู้ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชง จำนวน 10 บูธ ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

งานเสวนา ร่วมคิดร่วมฝัน ปลุกปั้นกัญชงไทย ให้ความรู้ประชาชน

ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มข. กล่าวว่า “ตามที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย มีภารกิจหลักในการดำเนินโครงการวิจัยกัญชากัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับใบอนุญาตในการผลิต (ปลูก) กัญชง (ตามหนังสือสำคัญ ที่ 19/2563 เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2563) จำนวนพื้นที่ ในการเพาะปลูก 1,664 ตารางเมตร ณ หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้รับเมล็ดพันธุ์กัญชงจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มาทำการปลูก

ทั้งนี้ การปลูกกัญชงนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ศึกษาวิจัยการประเมินและพัฒนาสายพันธุ์กัญชง เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการจัดพิธี “กัญชงลงแปลง” สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมานั้น เพื่อให้บุคลากร ประชาชนผู้สนใจเกี่ยวกับความรู้ด้านการปลูก การขออนุญาต และการใช้ประโยชน์จากกัญชง ตลอดถึงความรู้และความใจ เกี่ยวกับกัญชงด้านอื่น ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการปลูกที่ต้องสร้างความเข้าใจและให้องค์ความรู้ เนื่องจากต้องดำเนินงานภายใต้กฎกระทรวงระบุไว้ซึ่งต้องมีปริมาณ Tetrahydrocannabinol (THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง การปลูกกัญชงจึงเน้นระยะห่างระหว่างต้น ให้ใกล้กันที่สุด ซึ่งจะไปกระตุ้นให้มีลำต้นยาวตรงสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้อง หรือข้อยาว เพื่อนำเส้นใย แกนลำต้น เมล็ด และใบจากกัญชง มาใช้ประโยชน์ การจัดกิจกรรม “ร่วมคิด ร่วมฝัน ปลุกปั้น กัญชงไทย” ในวันนี้ ด้วยเห็นความสำคัญ ในเรื่องการให้ความรู้แก่บุคลากรและประชาชน สถาบันแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และกองบริหารงานวิจัย จึงร่วมกันจัดงานขึ้น”

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนา พืชกัญชาและกัญชง เพื่อการนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ในมนุษย์และสัตว์ รวมไปถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยพืช กัญชา เพื่อการวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ การวิเคราะห์สารสำคัญ รูปแบบยา และการวิจัยคลินิกทางการแพทย์และสัตวแพทย์ ศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธุ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

งานเสวนา ร่วมคิดร่วมฝัน ปลุกปั้นกัญชงไทย

มข. ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัยฯ เป็นที่แรก

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ได้รับใบอนุญาตในการผลิต (ปลูก) กัญชง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่แรกในจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัยฯ

ซึ่งในการจัดกิจกรรมขึ้นในวันนี้ เป็นกิจกรรมการส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชง ให้กับวิสาหกิจชุมชน ชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐบาล เอกชน และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายที่บังคับใช้ ตลอดจนเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารต่างๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสาธารณชน ของจังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมที่จะทำเป็นศูนย์อุตสาหกรรมกัญชงขนาดใหญ่ แม้การใช้กัญชงกัญชาทางการแพทย์ที่ผ่านมาค่อนข้างมีข้อจำกัด ในการนำกัญชงมาใช้รักษาโรคในทางการแพทย์”

“ปัจจุบัน มีความก้าวหน้ามาก เพราะได้นำเมล็ดพันธ์กัญชาจากภาคเหนือมาทดลองปลูกในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างจากภาคเหนือมาก ทั้งเป็นพื้นที่ต่ำ และมีสภาพอากาศ แสงแดด และอุณหภูมิที่ค่อนข้างแตกต่าง แต่หลังจากนำมาทดลองปลูกพบว่า ได้ผลผลิตดี เพราะโดยปกติยอดกัญชา จะเก็บเก็บเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณหกเดือน

แต่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเก็บผลผลิตได้เลยตั้งแต่ช่วงสามเดือน ทั้งนี้การเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วตั้งแต่ช่วงสามเดือน อาจเป็นเพราะฤดูกาลเป็นตัวแปร หรือแสงแดด ทีมที่กำลังทำการศึกษาในประเด็นนี้อยู่ด้วย แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกที่พบคือ แม้ว่าสภาพภูมิอากาศจะแตกต่าง แต่ต้นกัญชาสามารถปลูกในพื้นที่ดังกล่าวได้จริง โดยที่ไม่กลายพันธุ์ มีการพัฒนาสายพันธุ์เป็นของประเทศไทยเอง ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์แรกของประเทศไทย โดยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีทั้งกัญชงและกัญชา คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จะมีเป็นสายพันธุ์ต้นแบบของขอนแก่น ที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และสามารถขยายเมล็ดพันธุ์นำไปปลูกได้ทั่วประเทศไทย”

“นอกจากนี้ราคาตามท้องตลาดในการจำหน่ายเมล็ดพันธ์กัญชง ได้มีการคาดการณ์ว่า อาจอยู่ที่กิโลกรัมละ 200,000 บาท จนถึง กิโลกรัมละ 1 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ความเป็นไปได้ของราคาน่าจะอยู่ที่ 200,000 บาท ในขณะที่ตอนนี้บริษัทหลายแห่ง มีความต้องการที่จะมาขอซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชง ขอร่วมลงทุนปลูกและสกัด เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นจึงถือได้ว่ากัญชงจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศได้” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในตอนท้าย

ที่มา ม.ขอนแก่น

บทความแนะนำ