“เมื่อตอนเด็ก ๆ เราอาจจะเคยสงสัยว่ารุ้งกินน้ำเกิดขึ้นมาได้อย่างไร หรือทำไมต้นไม้ต้องเป็นสีเขียว สิ่งเหล่านี้คือการตั้งคำถาม ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น แม้คำถามเหล่านี้อาจถูกลืมเลือนไปเมื่อเราโตขึ้น แต่เชื่อได้ว่าลึก ๆ แล้ว เราทุกคนต่างมีความสนใจในวิทยาศาสตร์“ นับเป็นคำกล่าวที่น่าสนใจจากคุณอาจวรงค์ จันทมาศ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้นักวิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2555 แขกรับเชิญพิเศษในกิจกรรมแบ่งปันประสบการณ์ “เรียนวิทย์อย่างสนุกและเข้าใจ พัฒนาไทยสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม” ที่มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ เยาวชนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้เข้าประกวดการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST Award 2016) หนึ่งในกิจกรรมดี ๆ จากโครงการ ห้องเรียนเคมีดาว ประจำปี พ.ศ. 2559 ที่จัดขึ้น ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
ห้องเรียนเคมีดาว ที่จะทำให้คุณมองการเรียนวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไปจากเดิม
ภายในงานเสวนายังมีแขกรับเชิญที่มีความรู้และความสามารถทางวิทยาศาสตร์อีก 2 ท่าน ได้แก่ อาทิ คุณสุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ บรรณาธิการนิตยสารไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด และคุณนวีน ปิติพรวิวัฒน์ ตัวแทนทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ประจำปี พ.ศ. 2552 ที่มาร่วมเปิดโลกทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ ว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด และนี่คือ 8 ข้อคิดจากกิจกรรม ที่อาจทำให้มุมมองเกี่ยวกับการเรียนวิทยาศาสตร์ของคุณเปลี่ยนไป
1. วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด
เพราะวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตแยกย่อยออกมาได้หลากหลายแขนง ทุกอย่างรอบตัวเรา หรือแม้แต่ศาสตร์แขนงอื่น ๆ จึงล้วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น หากเราได้ศึกษาสิ่งที่เราถนัดและสนใจ ก็จะสามารถมองสิ่งต่าง ๆ รอบกายที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
2. การเรียนการสอนในปัจจุบันไม่ใช่แค่การเปิดหนังสือสอนอีกต่อไป
แต่มันคือการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่น่าสนุก เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ แสดงความคิดเห็น และลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ แล้วหลังจากนั้นความตั้งใจในการเรียนจะตามมาเองโดยอัตโนมัติ การนำเอาเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนของโครงการห้องเรียนเคมีดาวมาใช้แทนการทำแล็ปที่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องแก้วและชุดการทดลองครบครัน ช่วยทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการทดลองได้ง่ายขึ้น
3. ภาษาอังกฤษสำคัญมากกับการเรียนในปัจจุบัน แม้กระทั่งกับวิชาวิทยาศาสตร์
ถ้าหมั่นพยายามฝึกฝน เราจะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ หนังสือ และข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้อีกมากมาย และนั่นหมายถึงความคิดของเราที่กว้างไกลขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาของเราให้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน
4. “ความรู้สึกสนใจ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้
ถ้าเราเรารักในสิ่งที่ทำ และต้องการขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เราจะสามารถทำสิ่งนั้นออกมาได้ดี และยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจในภายหลังอีกด้วย
5. “โลกทั้งใบคือห้องเรียน”
เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่างผ่านประสบการณ์และสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ไม่ได้จำกัดว่าต้องเรียนจากตำราเท่านั้น
6. เราควรพกสมุดติดตัวไว้หนึ่งเล่มเพื่อจดบันทึก
เพราะคำพูดมักจะไหลผ่านความคิดของเราไปในเวลาอันสั้น แต่ตัวหนังสือจะช่วยชะลอสิ่งที่ครูสอน รวมถึงสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตัวเองให้อยู่ได้นานขึ้น ทำให้เราสามารถย้อนกลับมาทบทวนได้
7. บางครั้งความรู้และสิ่งที่เราเรียนอาจจะไม่สามารถนำมาใช้งานได้ทันที
ต้องรู้จักนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาประกอบกัน ก่อนจะนำไปใช้งานได้จริง โดยเฉพาะการเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ช่วยหล่อหลอมและฝึกฝนให้นักเรียนได้รู้จักวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนในวิชาอื่น ๆ
8. บางครั้ง “ความขัดแย้ง” ถือเป็นเรื่องที่ดี
เพราะวิชาวิทยาศาสตร์ก็เกิดจากการขัดแย้งทางความคิด ที่ส่งผลให้เกิดการหาข้อเท็จจริง การขบคิดแก้ปัญหา ซึ่งส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนทางความคิด และการค้นพบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์
นอกจากจะได้รับแรงบันดาลใจผ่านข้อคิด จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังกล่าวแล้ว ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังมีโอกาสแสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST Award) อีกด้วย จากผลงานที่ร่วมการประกวดในปีนี้ ทั้งหมด 24 โครงงาน จาก 21 โรงเรียนทั่วประเทศ โครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงงาน ‘การทดลองผลของความดันและอุณหภูมิที่มีต่อภาวะสมดุล’ ของโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จังหวัดปราจีนบุรี ทั้งนี้ นางสราญรมย์ ยิ่งสุข ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในฐานะครูที่ปรึกษาโครงงานฯ จะได้รับโล่เกียรติยศจาก ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุมวิชาการ Pure and Applied Chemistry Conference 2017 (PACCON 2017) อีกด้วย
กว่า 50 ปี ที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มุ่งสร้างคุณค่าและส่งเสริมความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษาที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และพันธมิตรที่เข้มแข็งอย่างสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้ริเริ่มและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และถ่ายทอดเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูและนักเรียน ในปีนี้ได้มีการขยายผลสู่ระดับประเทศ พร้อมจัดการประกวดนำเสนอโครงงานประกอบการเรียนการสอน การทดลองเคมีแบบย่อส่วนระดับประเทศ หรือ DOW-CST Award เป็นครั้งแรก ด้วยวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างองค์ความรู้และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์กับเยาวชนไทยเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมและฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันนำไปสู่ทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ และแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพอันเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศไทยในอนาคต
ติดตามวิทยาศาสตร์ที่แสนสนุกและได้ความรู้ไปกับโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ที่ Facebook Chemical Society of Thailand