หากพูดถึงการศึกษาต่อด้าน ‘วิทยาศาสตร์’ ในระดับอุดมศึกษา น้องๆ หลายคนอาจจะเบือนหน้าหนี เพราะมีภาพจำว่า จะต้องนั่งผสมสารเคมีหรือเรียนแต่ในห้องแล็บ แถมช่วงซัมเมอร์ก็เลือกฝึกงานได้แค่ในประเทศ และยังนึกภาพไม่ออกว่าจะประกอบอาชีพอะไรหลังเรียนจบ แต่ในวันนี้ ‘คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.’ เปิดทางให้น้องๆ ไปได้ไกลกว่านั้น กับการเน้นหนักในเรื่องการเรียนรู้แบบ Project based learning และการคิดแบบผู้ประกอบการ (SCI + BUSINESS) ที่ไม่ว่าจะเรียนจบในหลักสูตรหรือสาขาไหนก็มีงานรองรับแน่นอน กับ 5 ข้อสุดว้าว!! สำหรับคนที่อยากเป็นเด็กวิทย์ มธ. ต้องรู้
5 เรื่องที่ควรรู้ เมื่ออยากเป็นเด็กวิทย์ ม.ธรรมศาสตร์
เป็นวิทย์แบบ SCI+BUSINESS
1) เพราะคณะฯ มีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตให้สามารถต่อยอดความรู้แบบวิทย์ๆ สู่นวัตกรรม งานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถต่อยอดได้เชิงพาณิชย์ จึงปรับโครงสร้างในทุกหลักสูตรไทย ด้วยการสอดแทรกรายวิชาด้านบริหารธุรกิจ จำนวน 3 หน่วยกิต เป็นรายวิชาบังคับพื้นฐานในชั้นปีที่ 1 เพื่อปรับพื้นฐานความคิดด้านธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเสริมการเรียนรู้ที่สมดุลระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเน้นใช้ Project based learning เป็นพื้นฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้ ได้ขยายเป็นหลักสูตรอินเตอร์ อย่าง “หลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ” (iSC) ที่สามารถเรียนวิทย์ควบคู่กับการบริหารได้แห่งแรกและแห่งเดียวในไทย นอกจากนี้ คณะฯ ยังมีหลักสูตรอินเตอร์ด้านการออกแบบเกม-แอนิเมชั่น ที่จะได้รับปริญญาบัตร 2 ใบทันทีหลังเรียนจบ ทั้งจาก มธ. และสถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน (DigiPen) ประเทศสหรัฐอเมริกา กับหลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล (IDD) และ เทคโนโลยีดิจิทัลแนวสร้างสรรค์ (CDT)
มีนักวิจัยรับรางวัลระดับโลก อย่างต่อเนื่อง
2) ในแต่ละปี ทั่วโลกจะมีการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และงานวิจัย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์ ที่พร้อมตอบโจทย์สังคมในแง่มุมต่างๆ และทุกครั้งของการจัดประกวด นักวิจัยคณะฯ ก็สามารถกวาดรางวัลงานวิจัยบนเวทีนานาชาติได้อย่างต่อเนื่องและมากที่สุดถึง 3 ปีซ้อน ทั้งเวทีวิจัย IWIS ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ เวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และล่าสุด ที่งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติกรุงโซล (SIIF 2017) ประเทศเกาหลีใต้ ก็สามารถคว้ารางวัลสูงสุดได้ถึง 2 รางวัล กับผลงานชีวภัณฑ์อารักขาพืชสูตรละลายช้า และแผ่นปิดเมือกเห็ดป้องกันแผลกดทับ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างความรู้ด้านเกษตรและพยาบาลเข้าด้วยกัน
เทคนิคการตากแห้งข้าวสาลี โดยมีฮีตเตอร์คอยให้ความร้อนอยู่ด้านล่าง
มีโอกาสฝึกงานต่างประเทศ
3) มีโอกาสฝึกงานต่างประเทศ ในแต่ละปี คณะฯ จะมีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา อย่าง Tokyo University of Agriculture (NODAI) ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำด้านเทคโนโลยีเกษตร และ School of Media Science, Tokyo University of Technology ประเทศญี่ปุ่น เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ฯลฯ นั่นเพราะคณะฯ มีความตั้งใจให้นักศึกษาทุกคน ได้มีโอกาสสัมผัสความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในต่างแดน ตลอดจนนำมาประยุกต์และต่อยอดกับเทคโนโลยีบ้านเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับพี่ๆ ในสาขาเทคโนโลยีการเกษตร และสาขาการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล (IDD) เป็นต้น
แอปฯ ‘Smart Local Guide’ สนับสนุนการท่องเที่ยว และโปรโมทสินค้าชุมชน
มีโอกาสมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง
4) นักศึกษาทุกคนจบไป จะมีโอกาสมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง เพราะการเรียนการสอนที่คณะฯ จะเป็นรูปแบบ Project based learning ที่เน้นการใช้โครงงานเป็นพื้นฐาน นับตั้งแต่ชั้นปีการศึกษาที่ 2 – 4 เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองพัฒนาโปรเจค ผ่านการถอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ บูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่น เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม อีกทั้งยังสามารถนำมาต่อยอดหรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต โดยมีคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา ตลอดการทำโปรเจค เช่น ‘Smart Local Guide’ แอปฯ สนับสนุนการท่องเที่ยว และโปรโมทสินค้าชุมชน ‘Kidney Pro-Tech’ แอปฯ ผู้ช่วยหมอตามติดพฤติกรรมเสี่ยงผู้ป่วยโรคไต และ ‘Breathing Training’ เกมฝึกบริหารลมหายใจผู้เล่นให้สมดุล เป็นต้น
มีบริษัทจองตัวทำงาน
5) มีบริษัทจองตัวทำงาน เพราะการเรียนรู้แบบ Project based learning ประกอบกับการมีใบสั่งจากอาจารย์ให้ต้องรวมกลุ่มกันคิดทำโปรเจคกันอยู่เนืองๆ ทำให้นักศึกษาในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีบริษัทเอกชนเข้ามารุมจีบจำนวนมาก ยิ่งในช่วงก่อนจบการศึกษาที่จะต้องนำเสนอผลงาน Senior Project ให้กับกรรมการจากหน่วยงานภายนอก รวมถึงบริษัทเอกชนที่สนใจมาดูงาน เรียกได้ว่าถ้าพรีเซ็นต์ถูกใจ คุยกันถูกคอ ก็อาจจะถูกจองตัวไปร่วมงานตั้งแต่ตอนนั้นเลยก็เป็นได้ ซึ่งวงในแอบบอกมาว่า สถิตินักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์กว่า 90% ต่อรุ่น มีงานรองรับทันทีหลังจบการศึกษา
เทคนิคการตากหอมหัวใหญ่ ของประเทศญี่ปุ่น
แอปฯ ‘Kidney Pro-Tech’ ’ แอปฯ ผู้ช่วยหมอตามติดพฤติกรรมเสี่ยงผู้ป่วยโรคไต
แอปฯ ‘Kids Tracker Autism’
สำหรับผู้สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.reg.tu.ac.th ในรอบรับตรงร่วมกัน ระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2560 และรอบแอดมิชชั่นกลาง ระหว่างวันที่ 6 – 10 มิถุนายน 2560 สอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายรับเข้าศึกษา 02-564-4441-79 ต่อ 1634-1638 เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th