rsu sdu ธุรกิจการบิน ม.รังสิต ม.สวนดุสิต มรส มสด

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับการเรียนสาขาธุรกิจการบิน ม.สวนดุสิต VS ม.รังสิต

Home / วาไรตี้ / เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับการเรียนสาขาธุรกิจการบิน ม.สวนดุสิต VS ม.รังสิต

มาดูคณะของเหล่านางฟ้า และเทพบุตรกันเถอะ!! เอ๊า อย่าเพิ่งงงกันไป คณะที่เรากำลังจะพูดถึงอยู่นี้ก็คือ สาขาธุรกิจการบิน ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยรังสิตนั่นเอง ที่รวบรวมเหล่านางฟ้าแอร์โฮสเตส และเหล่าเทพบุตรหนุ่มๆ สจ็วต และนักบินไว้เพียบ แต่ว่า Battle ครั้งนี้จะเป็นยังไงกันบ้าง เราไปดูผลกันเลยดีกว่า

ม.สวนดุสิต VS ม.รังสิต

มาเริ่มกันที่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หัวหิน ร่วมกับ การบินพลเรือน เปิดหลักสูตร 4 ปีที่หัวหิน ในโปรแกรมหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นที่แรกที่เปิดสอนในแขนงธุรกิจการบินเป็นที่แรกในประเทศไทย

การบริการธุรกิจการบิน
ที่ มรภ.สวนดุสิต เปิดสอนในเรื่องของธุรกิจการบินแบบครบวงจร ทั้งเรื่องของการบริการบนภาคพื้นดิน และบนเครื่องบิน ซึ่งทำให้นักศึกษาสามารถไปประกอบอาชีพในอนาคตได้อย่างเช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน, พนักงานบริการในธุรกิจสายการบิน, พนักงานบริการในอุตสาหกรรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ, พนักงานปฏิบัติงานบริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศ, พนักงานบริษัทท่องเที่ยว ตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน และการสำรองที่นั่ง ในส่วนของสถาบันการบิน ก็จะเป็นเรื่องของการขับขี่ และซ่อมบำรุง การขนส่งทางอากาศ

การเรียนการสอน
นักเรียนส่วนใหญ่ต้องไปอยู่ที่หอของมหา’ลัยเลย เพราะสาขาธุรกิจการบิน จะมีศูนย์อยู่ที่หัวหิน ถ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ต้องไปๆ มาๆ ทำให้เรียนไม่สะดวก การเรียนของที่นี่ก็ค่อนข้างแน่น แล้วก็จะมีความเข้มงวดในแบบของนักเรียนการบิน ต้องทำกิจกรรมเสริมสุขภาพอยู่สม่ำเสมอ เช่น ในทุกๆ วันนักเรียนธุรกิจการบินจะต้องตื่นออกมาวิ่งทุกเช้า ในอาทิตย์หนึ่งก็จะต้องมีการมานั่งสมาธิ เพื่อทำสมาธิ ฝึกฝนการใช้สติต่างๆ สำหรับที่นี่การทำกิจกรรมมีความสำคัญมากๆ ถึงจะเรียนเก่งแค่ไหน แต่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมเลยก็ถือว่าไม่ผ่านในสาขานี้ เรื่องภาษาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งภาษาพูดเป็นทางการ และภาษาเพื่อการบริการบนเครื่องบิน ต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ และที่นี่เน้นในเรื่องของประสบการณ์ภาคสนามเป็นหลัก ต้องนำเอาวัสดุ อุปกรณ์ที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่ อาจารย์ที่มาสอนล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ด้านการทำงานบนเครื่องบินมาแล้วด้วยกันทั้งนั่น ที่นี่ยังมีสายงานต่างๆ ที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่จากมหา’ลัยเข้าร่วมงานด้วย

อุปกรณ์การเรียน
ที่นี่มีห้องปฏิบัติการอย่างห้องจำลองบนเครื่องบินให้นักศึกษาได้เข้าไปลองปฏิบัติการกัน ซึ่งเรียกว่า Mock-up (ห้องปฏิบัติการจำลองการบริการบนเครื่องบิน)ไว้เพื่อเป็นการเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติงานจริงของนักศึกษา โดยห้องจำลองนี้จะเปิดให้ได้ใช้ตลอด และมีการเรียนที่ต้องใช้ห้องนี้เสมอ จะมีช่วงสาธิตการใช้งาน ช่วงฝึกปฏิบัติ และการใช้งานจริง ซึ่งภายหลังอาจารย์จะคอยประเมินผลตลอดเวลาในการเรียน และคอยบอกข้อแก้ไขที่เราต้องเอามาปรับปรุงเรื่อยๆ เพื่อให้เราพัฒนาจุดที่บกพร่อง และแก้ไขปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ สำหรับนักเรียนการบินเองก็เหมือนกัน จะมีพื้นที่สำหรับการเรียนขับเครื่องบิน โดยใช้พื้นที่ขึ้นบินจากหัวหินเช่นกัน

ผลคะแนนจากชาว Campus Star
เป็นที่รู้จัก : 9
น่าสนใจ : 8
เครื่องแต่งกาย : 7.5
อุปกรณ์การเรียน : 8
ประสบผลสำเร็จในอาชีพ : 9
คะแนนรวม : 41.5 คะแนน

มหาวิทยาลัยรังสิต

และมาต่อกันที่ มหาวิทยาลัยรังสิต

ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของมหาวิทยาลัยเอกชนที่จัดตั้งสถาบันการบิน โดยได้ร่วมมือทางด้านการบิน และวิชาการกับสมาคมการบินกองทัพอากาศ บริษัท Bangkok Aviation Center Co.ltd และบริษัท Canada GFT Aerospace และยังมีคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจด้านการบิน

การบริการธุรกิจการบิน
ด้านการบริการธุรกิจการบิน มหา’ลัยได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจการเดินทางทางอากาศเน้นทักษะตามมาตรฐานสากลของ องค์กรการบินระหว่างประเทศ สร้างความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพ ทั้งในธุรกิจการบินแ ละธุรกิจการเดินทางท่องเที่ยว นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิชาต่างๆ เช่น การจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ, การจัดการท่าอากาศยาน, ระบบตั๋วโดยสารและการสำรองที่นั่ง, การจัดการธุรกิจสายการบิน และการจัดการงานบริการบนเครื่องบิน

การเรียนการสอน
ของที่นี่จะเป็นหลักสูตรด้านการบริหาร ควบคู่กับการจัดการด้านการบิน โดยที่นี่จะเน้นตั้งแต่พื้นฐาน โดยปูพื้นฐานให้แน่นก่อนที่จะเรียนในสิ่งที่หนักๆ ต่อไปในอนาคต เราจะเรียนพื้นฐานทั้งหมดในปีแรก ก่อนที่จะได้ฝึกทักษะกันในห้องปฏิบัติการจริง รวมถึงการฝึกนอกสถานที่กันในปีที่ 2-3 พอเข้าปี 4 ก็จะได้ฝึกปฏิบัติงานกับสถานประกอบการจริง ได้ทำงานด้านบริการจริงๆ หรือขึ้นบินไปกันสายการบินมีชื่อต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีเพียงปีแรกเท่านั้นที่ต้องเรียนในการท่องจำ นอกนั้นปีต่อๆ มาก็จะเน้นในการฝึกปฏิบัติจริงแทบทั้งหมด โดยในหนึ่งปีที่ ม.รังสิตจะมีการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยว และทัศนศึกษา โดยสายการบิน R Airlines ซึ่งมีนักเรียนสาขาการจัดการธุรกิจด้านการบิน คอยบริการอยู่บนเครื่อง ถือเป็นการปฏิบัติงานจริง ซึ่งช่วยในเรื่องของการทำงานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เรื่องภาษาก็ต้องใช้เยอะเหมือนกันเพราะมีศัพท์เฉพาะเป็นภาษาอังกฤษเยอะ การเรียนจึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และการสอบต่างๆ ก็เป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน จะหนักตรงนี้มากที่สุด

อุปกรณ์การเรียน
สำหรับ ม.รังสิตก็จะมีเหมือนๆ กันกับที่อื่นมีเช่นกันคือ ห้องปฏิบัติการจำลองการบริการบนเครื่องบิน เพราะส่วนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญของการบริการธุรกิจการบิน จึงต้องมีห้องเสมือนจริงเอาไว้เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติกัน เพราะต้องเน้นให้นักศึกษา ได้ปฏิบัติเรียนรู้ เรียนลึก จากประสบการณ์จริงทั้งหมดจึงจะปล่อยนักศึกษาที่มีคุณภาพออกสู่ธุรกิจการบินต่างๆ ได้

ผลคะแนนจากชาว Campus Star
เป็นที่รู้จัก : 8.5
น่าสนใจ : 8
เครื่องแต่งกาย : 8
อุปกรณ์การเรียน : 8.5
ประสบผลสำเร็จในอาชีพ : 9
คะแนนรวม : 42 คะแนน

มาดูผลคะแนนกันเลยจ้า….

ผลคะแนนจากชาว Campus Star ก็เทคะแนนให้กับ ม.รังสิต โดยเฉียนกันไป 0.5 คะแนนเท่านั้นเอง ยังไงก็อย่าเพิ่งเสียใจ เศร้าใจกันไปนะจ๊ะน้องๆ ม.สวนดุสิต เพราะว่าทุกคนก็ต่างรู้จักเราว่าเป็นมหา’ลัยแห่งแรกของด้านธุรกิจการบินเลยทีเดียว เอาเป็นว่า ไม่ว่ามหา’ลัยไหนจะชนะไป แต่ในอนาคตนี้หวังว่าเราคงจะได้เห็นน้องๆ แอร์โฮสเตส สจ็วต และนักบินที่เป็นคนไทยมากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัวอยู่ในอนาคตอันใกล้นี้นะคะ

ข้อมูลจาก นิตยสาร Campus star V.10 (มีนาคม 2014)