คนเก่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ บุคคลสำคัญ ย้อนวัยเรียน เลขาธิการอาเซียน

ย้อนรำลึกถึง ดร.สุรินทร์ นักการเมืองคุณภาพ | อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ที่สหรัฐฯ

Home / วาไรตี้ / ย้อนรำลึกถึง ดร.สุรินทร์ นักการเมืองคุณภาพ | อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ที่สหรัฐฯ

จากข่าวการเสียชีวิตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมานั้น นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญที่ได้สร้างผลงานและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นอย่างมาก โดยที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนที่ 12 ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง 2556 และท่านยังเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนนี้อีกด้วย 

ดร.สุรินทร์ บุคคลสำคัญที่น่ายกย่อง

ซึ่งท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ระหว่างที่กำลังเดินทางไปดูงานที่มหกรรมสินค้า-อาหารฮาลาล สิริอายุรวม 68 ปี

เส้นทางชีวิตส่วนตัว ดร.สุรินทร์

ย้อนเส้นทางชีวิตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ก่อนที่ท่านจะประสบความสำเร็จเป็นบุคคลสำคัญของประเทศและสร้างผลงานอันล้ำค่าให้กับประเทศนั้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2492 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีบิดาเป็นครูสอนศาสนาอิสลาม ท่านได้เข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดบ้านตาล ส่วนในระดับมัธยมศึกษาได้เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช

ซึ่งในระหว่างการเรียนในระดับมัธยม ท่านได้รับทุนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน รุ่นที่ 5 ในโครงการ AFS (American Field Service) ไปศึกษาชั้นมัธยมปลายในประเทศสหรัฐอเมริกา อีกด้วย โดย เว็บไซต์ นักเรียนแลกเปลี่ยน (afsthailand.org) ได้ออกมาเปิดเผยบทสัมภาษณ์ของ ดร.สุรินทร์ ในวันวานผ่านหัวข้อ “เด็ก AFS จากบ้านตาล บนเก้าอี้เลขาธิการอาเซียน” โดยได้ระบุใจความไว้ดังนี้

การได้เข้าร่วมโครงการ AFS นั้นเหมือนการเตรียมตัวเพื่อเป็นพลเมืองของโลกในยุคโลกาภิวัตน์จริงๆ ผมก็ได้พื้นฐานจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS เป็นเวลา 1 ปี คือในช่วงปี 2510-2511 ที่มลรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ วิธีคิด วิธีวิเคราะห์ วิธีให้เหตุผล ที่สำคัญ คือความเชื่อมั่นในตัวเองและความกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต ซึ่งจากช่วงเวลา 1 ปีที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตจากครอบครัวของเขา ผมได้เรียนรู้วิธีคิด ค่านิยม และขนบธรรมเนียมของสังคมอเมริกันและครอบครัวอเมริกัน ไปรับเอาสิ่งที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ รู้จักที่จะเรียนรู้การอยู่ในบรรยากาศของการแข่งขันซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ในโลกที่กำลังเล็กลงทุกทีและมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น ความสำเร็จหลายๆ ด้านของผมทั้งในนามส่วนตัวและประเทศชาติก็ได้พื้นฐานมาจาก 1 ปีของการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของ AFS

หลังจากนั้น ท่านก็ได้สอบชิงทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ปี พ.ศ. 2515) เมื่อท่านได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับการผลักดันจากอาจารย์ให้เรียนต่อปริญญาโท ทางด้านสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และในระดับปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

โดยท่านได้เริ่มอาชีพเป็นนักวิชาการในตำแหน่งอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี พ.ศ. 2518-2529

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

เส้นทางการทำงาน ดร.สุรินทร์

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองในปี พ.ศ. 2529 โดยได้รับการเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกัน 7 สมัย และยังเคยเป็นเลขานุการของชวน หลีกภัย ขณะที่ชวนดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2529-2531) ต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2535-2538 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2540-2544 (ในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย)

ซึ่งในเวลาต่อมา ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนที่ 12 โดยเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 หลังจากที่ได้มีการส่งชื่อไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2550 และได้รับการรับรองจากชาติสมาชิกอย่างเป็นทางการในที่ประชุมผู้นำอาเซียน ณ สิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน จนถึงเมื่อปี พ.ศ. 2556

บทบาทสำคัญด้านการต่างประเทศ

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ท่านได้มีบทบาทสำคัญต่อด้านการต่างประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น กรณีการส่งกองกำลังสันติภาพในติมอร์-เลสเต, เป็นผู้รณรงค์หาเสียงหนุนนายศุภชัย พาณิชภักดิ์ เป็นผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก และการผลักดันประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อให้สัตยาบันต่อกฎบัตรอาเซียนจนแล้วเสร็จในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • พ.ศ. 2537 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฏ (ม.ว.ม.)

คลิปข่าว : ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ หัวใจวายเฉียบพลัน

ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีwww.afsthailand.org, www.bbc.com