เด็กไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลกจริงๆ นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี สร้างสถิติแชมป์โลก 9 สมัยให้ประเทศไทยได้สำเร็จ คว้าสุดยอด 2 รางวัลเกียรติยศแห่งปี คือ รางวัลชนะเลิศและรางวัล Best Technique Award (รางวัลทักษะฝีมือใช้เทคนิคการแกะสลักยอดเยี่ยม) ถือเป็นสุดยอดรางวัลด้านงานศิลปะลวดลายไทย จากการเข้าแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ The 10th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2018 ทำให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เป็นแชมป์ติดต่อกันถึง 2 สมัย และรักษาสถิติแชมป์โลกจากการเข้าแข่งขันเป็นครั้งที่ 9 ของประเทศไทยไว้ได้อีกด้วย
สุดเจ๋ง! เด็กอาชีวะคว้าแชมป์โลก การแข่งขันแกะสลักหิมะ
เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เปิดเผยว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี สามารถสร้างสถิติแชมป์โลก 9 สมัยได้สำเร็จจากการเข้าร่วมการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ The 10th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2018 ณ มหาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น เมืองฮาร์บิ้น มณฑลเฮย์หลงเจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีการจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม พ.ศ. 2561 มีทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 55 ทีม จาก 12 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 3 ทีมด้วยกัน คือ ทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ
โดยผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ดีกรีแชมป์เก่า รางวัล Top Grade Awards ทีมที่มีคะแนนรวมสูงสุด จาก 57 ทีม จาก 15 ประเทศทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งนำทีมโดย นางสุวนิจ สุริยพันตรี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผู้ประสานงาน, นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ และนายสุระชาติ พละศักดิ์ ครูผู้ควบคุมทีมการแข่งขัน พร้อมด้วย นายกฤษณะ คบสหาย, นายธนศักดิ์ พิพัฒน์, นายธนากร ศักดิ์สิงห์ และนายอภิสิทธิ์ ศรไชย นักศึกษาชั้นปวช.3 สาขาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี สามารถคว้า 2 รางวัลเกียรติยศเป็นของขวัญมาฝากคนไทยได้สำเร็จ คือ รางวัลชนะเลิศและรางวัล Best Technique Award (รางวัลทักษะฝีมือใช้เทคนิคการแกะสลักยอดเยี่ยม) มาครองได้สำเร็จ สร้างสถิติรักษาแชมป์อยู่สมัยที่ 2 ให้กับทีมตนเองและสมัยที่ 9 ให้กับประเทศไทยอย่างน่าชื่นชม
สำหรับผลงานการแกะสลักหิมะนั้นได้นำแนวความคิดมาจากป่าหิมพานต์ คติพุทธศาสนาและฮินดู ที่ถือว่าเป็นดินแดนทิพย์ที่มีอยู่จริงจัดอยู่ในเขตสวรรค์ ชั้น 1 คือชั้นจาตุมหาราชิกาที่ใกล้ชิดกับมนุษย์โลกซึ่งส่งผลต่อคติความเชื่อของคนไทยมาจนถึงปัจจุบันด้วยพลังความศรัทธาเป็นมงคลชีวิตที่ดีงามของสัตว์ป่าหิมพานต์ที่เป็นตัวแทนของบุญวาสนาและความสำเร็จ มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ ในชื่อผลงานที่ว่า “อาชา-ปักษา-มัจฉา-วารี” (Belief… Faith… Miracle) ด้วยการนำ ม้า-นก-ปลา และน้ำ จากป่าหิมพานต์มาแกะสลักลงบนก้อนหิมะตาม.โชค เป็นสัญลักษณ์ถึงความเจริญก้าวหน้า มุมานะอดทน และการขยันขันแข็งในการทำงานเพื่อเป้าหมายสู่ความสำเร็จในชีวิต
โดยที่ “นก” หมายถึง ความอิสระของพลังแห่งความคิด การกระทำ มักมีความฉลาดหลักแหลมด้านสติปัญญา และทะยานบินไกลสู่ความสำเร็จ “ปลา” หมายถึง สัญลักษณ์ของความมั่นคั่ง การมีเงินทองล้นหลาม ความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย มีผลกำไร “น้ำ” หมายถึง ชีวิตแห่งการเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสุข ความชุ่มชื่นเย็นฉ่ำ และเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
ส่วนวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ อีก 2 ทีมที่เป็นตัวแทนจากประเทศไทยนั้นสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ร่วมกัน ซึ่งนำเสนอผลงานการแกะสลักภาพไก่ชนพื้นบ้าน โดยทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และผลงานการแกะสลักภาพสัตว์นำโชค เต่าและมังกร จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ
นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ ครูผู้ควบคุมทีม กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่มากที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จในครั้งนี้มาได้ เพราะด้วยอุปสรรคและความเหนื่อยยากตลอดระยะเวลาของการเตรียมความพร้อมและการแข่งขัน วันนี้เป็นวันที่ทุกคนยกภูเขาออกจากอกและมีความสุขมากที่สุด เพื่อนำของขวัญนี้ไปฝากคนไทยทั้งประเทศ
ด้านนายสุระชาติ พละศักดิ์ ครูผู้ควบคุมทีมอีกคน กล่าวว่า ภูมิใจเช่นกันที่สามารถคว้า 2 รางวัลมาครองได้สำเร็จ จากนี้ต่อไปตนและนักเรียน นักศึกษา จะได้นำประสบการณ์ที่ได้รับครั้งยิ่งใหญ่ไปพัฒนารูปแบบการแกะสลักให้มีความงดงาม ตระการตา เพื่อก้าวข้ามสู่การพัฒนางานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลสู่การนำชัยชนะมาฝากคนไทยทั้งประเทศ ในรักษาแชมป์อีกครั้งสู่สมัยที่ 3 ให้กับทีมและสมัยที่ 10 ให้กับประเทศในปีหน้าอีกครั้งแน่นอน
ในส่วนนายอภิสิทธิ์ ศรไชย 1 ในทีมเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่าตนและเพื่อนในทีมคิดและคาดหวังกับการแข่งขันในครั้งนี้มาก เนื่องจากเป็นปีสุดท้ายของการแข่งขัน ตนและเพื่อนจะสำเร็จการศึกษาในปีนี้ ปีต่อไปคงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรุ่นน้องได้รับใช้ชาติต่อไป ผมขอขอบพระคุณผู้บริหาร ครู เพื่อนๆ และคนไทยทั้งประเทศที่ส่งกำลังใจเชียร์ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีตลอดมา นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ อยากฝากบอกทุกคนว่า วันนี้เด็กอาชีวศึกษาคือฝีมือชน คนสร้างชาติ เป็นคำที่ยืนยันให้เห็นศักยภาพอย่างไม่ต้องสงสัย จากนี้ไปผมและเพื่อนจะได้นำประสบการณ์เหล่านี้ไปพัฒนาด้านวิชาชีพของเองในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากผลพวงจากความสำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมาของเยาวชนทั้ง 4 คน คือ นายกฤษณะ คบสหาย, นายธนศักดิ์ พิพัฒน์, นายธนากร ศักดิ์สิงห์ และนายอภิสิทธิ์ ศรชัย ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นเบญจมดิเรกคุณาภรณ์ (บ.ภ.) ประจำปี 2560 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและประเทศชาติ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอน 48 ข วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 อีกด้วย
ที่มา Facebook : งานประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี