จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติความเป็นมา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2442 (ประเทศไทยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสากลในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ดังนั้น พ.ศ. กับ ค.ศ. ก่อนหน้านี้จึงเหลื่อมกันอยู่ 1 ปี) และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. 2425
ต่อมาทั้งภาคราชการ และเอกชนต้องการบุคลากรทำงานในสาขาวิชาต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนินไปได้ดีในระดับหนึ่ง แล้วสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2453
ต่อมาทรงเห็นว่าควรขยายกิจการให้กว้างขวางตามพระราชประสงค์ เพื่อให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่ และถาวรในสมเด็จพระบรมชนกาธิราช พระองค์จึงได้พระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าจำนวนเก้าแสนกว่าบาทให้ใช้เพื่อสร้างอาคารเรียนและเป็นตึกบัญชาการบนที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ซึ่งอยู่ที่อำเภอปทุมวัน และเงินที่เหลือจากการสร้างก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อกิจการของโรงเรียนต่อไป
ทั้งนี้ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนิน และทรงวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ในครั้งนั้นมีการเปิดสอน 8 แผนกวิชา ได้แก่ การปกครอง กฎหมาย การฑูต การคลัง การแพทย์การช่าง การเกษตร และวิชาครู จัดการศึกษาใน 5 โรงเรียน (คณะในปัจจุบัน) คือ โรงเรียนรัฏฐประศาสนศาสตร์
ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ตั้งอยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนราชแพทยาลัย ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช โรงเรียนเนติศึกษา ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และโรงเรียนยันตรศึกษา ตั้งที่วังใหม่ หรือวังกลางทุ่ง หรือวังวินเซอร์ (เคยเป็นวังของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ)
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ให้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางแผ่ไพศาล และมิรู้เสื่อมสูญ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงแรกมีการจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยในระหว่าง พ.ศ. 2459 – 2465 มีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับประกาศนียบัตร และการเตรียมการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญา มีการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ เพื่อให้ช่วยเหลือการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์ จากนั้นระหว่าง พ.ศ. 2466 – 2480 เริ่มรับผู้สำเร็จหลักสูตรมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับปรุงหลักสูตร และรับนักเรียนผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนอีก 4 คณะ และในระหว่างปี พ.ศ. 2481 – 2490 เริ่มเน้นการเรียนการสอนอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดเตรียมมหาวิทยาลัยคือ นักเรียนจะต้องเลือกเรียนตามคณะต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนทำให้มีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยขึ้นหลังจากนั้น ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2491 – 2503 เป็นระยะเวลาของการขยายการจัดการศึกษาออกไปในศาสตร์และศิลปวิทยาการต่างๆ โดยเน้นระดับปริญญาตรีเป็นหลัก และตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาของการขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น และเริ่มพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์ และสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม และการบริการทางวิชาการให้แก่สังคม มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยสถาบันบริการ และศูนย์ เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย และพัฒนาตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกวิถีทาง ให้สมกับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราชของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป
สัญลักษณ์มหาลัย
พระเกี้ยว เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียรของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจทั้งนี้สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ จุลมงกุฎมี ความหมายสำคัญยิ่งคือเกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิม ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จึงมีความหมายว่า จุลมงกุฎ หรือพระราชโอรสของสมเด็จฯเจ้าฟ้ามงกุฎฯ
ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเกี่ยวพันถึงพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน หรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน มหาดเล็ก ต่อมาเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็น เครื่องหมายของโรงเรียนก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์เป็นพระเกี้ยว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อสร้างจำลองจาก พระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยสร้างเมื่อ พ.ศ.2529 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเจิม และทรงพระสุหร่ายที่องค์พระเกี้ยว แล้วพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 (13 กรกฎาคม 2532)
สีประจำมหาวิทยาลัย : สีชมพู
เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจาก พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน หรือโรงเรียนมหาดเล็กครั้งนั้น ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นักเรียนมหาดเล็ก แต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก ซึ่งมีอินทรธนูเป็นสีบานเย็นอันเป็นสีของกรมมหาดเล็ก “สีบานเย็น” จึงเป็นสีประจำสถาบัน
ต่อมา เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งแรก ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพิจารณาสีที่จะใช้ในการแข่งขัน ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล เมื่อครั้งยังเป็นนิสิต และนายกสโมสรนิสิตฯ ได้เสนอว่าชื่อของมหาวิทยาลัยคือ พระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ คณะกรรมการสโมสรนิสิตฯ เห็นสมควรอัญเชิญสีประจำพระองค์เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติ และสิริมงคล มหาวิทยาลัยจึงใช้สีชมพูเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยตลอดมา
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย : ต้นจามจุรี
ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาฯ มีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ด้วยวัฏจักรของจามจุรีมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ กล่าวคือ มีสีเขียวชอุ่มให้ความสดชื่นในช่วงเวลาภาคต้นของการศึกษาเสมือนนิสิตปีที่ 1 ที่ยังคงเริงร่าสนุกสนานกับการเป็นน้องใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไปในภาคปลายของการศึกษา ทั้งใบ และฝักย้ำ เตือนให้นิสิตเตรียม ตัวสอบปลายปีมิฉะนั้นอาจจะต้องเรียนซ้ำชั้นหรือถูกไล่ออก ด้วยจามจุรีเป็นไม้ที่สลัดใบ และฝักในช่วงเวลาปลายปี ทำให้ถนน และคูข้างถนนในจุฬาฯ สกปรกปัญหาของต้นจามจุรี คือ ปลูกขึ้นยาก ดูแลรักษายาก มีโรคพืช ทำให้กิ่งก้านหักหล่น ประมาณปี พ.ศ. 2480 – 2500 จำนวนต้นจามจุรีในมหาวิทยาลัยเริ่มลดน้อยลงอย่างมากมีคณะต่างๆ เกิดขึ้นเป็นเหตุให้ต้นจามจุรีถูกโค่นลงเพื่อสร้างตึกใหม่ และไม่มีนโยบายปลูกทดแทน จากการที่จามจุรีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อชาวจุฬาฯ ถือเป็นิมิตหมายที่ดี โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ในวันที่ 15 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระปร มินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ทางด้านขวา จำนวน 3 ต้น ด้านซ้ายจำนวน 2 ต้น และยังได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับจามจุรีว่ามีมานานตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นว่าดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ พระองค์ทรงเห็นว่าจามจุรี ที่นำมานั้นโตขึ้น สมควรจะเข้ามหาวิทยาลัยเสียที และสถานที่นี้เหมาะสมที่สุด “จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”
ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย : 254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ประเทศไทย
ประกอบด้วยพื้นที่การศึกษาดังนี้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 6 ส่วน ซึ่งอยู่บริเวณ แขวงวังใหม่ และแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ได้แก่
ส่วนที่ 1 ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน ประกอบด้วย สระน้ำ สนามรักบี้ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารมหาวชิราวุธ ศาลาพระเกี้ยว ศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาศาลาพระเกี้ยว) หอประวัติ (ตึกจักรพงษ์) อาคารจุลจักรพงษ์ อาคารมหาวชิรุณหิศ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันภาษา สถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา และสถาบันการขนส่ง พื้นที่ส่วนนี้ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสามย่านอีกด้วย
ส่วนที่ 2 ฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ตั้งอยู่ในแขวงวังใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานมหาวิทยาลัย (กลุ่มอาคารจามจุรี 1-5, 8-9) บัณฑิตวิทยาลัย สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน (อาคารศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ฟิตเนสเซ็นเตอร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ศูนย์วิทยทรัพยากร สถานีวิทยุจุฬาฯ โรงพิมพ์จุฬาฯ ธรรมสถาน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิทยพัฒนา อาคารแว่นแก้ว หอพักศศนิเวศ อาคารศศปาฐศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
ส่วนที่ 3 ทิศเหนือของถนนพญาไท ติดกับสยามสแควร์ ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน ประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ โอสถศาลาหรือสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนของคณะเภสัชศาสตร์ และอาคารวิทยกิตติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาสยามสแควร์) พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม
ส่วนที่ 4 ทิศตะวันออกของถนนอังรีดูนังต์ ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน บริเวณตั้งแต่สี่แยกศาลาแดง จนถึงสี่แยกอังรีดูนังต์ อันเป็นพื้นที่ของสภากาชาดไทยเป็นที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันสมทบของจุฬาฯ พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดง
ส่วนที่ 5 เป็นพื้นที่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พลศึกษา) ตั้งอยู่ในแขวงวังใหม่ คือ พื้นที่บริเวณระหว่างห้างมาบุญครอง และสนามกีฬาแห่งชาติ ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา ศูนย์วิทยาศาตร์ฮาลาล และอาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
ส่วนที่ 6 คือ พื้นที่ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (ได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน) ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ อันเป็นส่วนขยายของคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะจิตวิทยา และโครงการขยายโอกาสอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่ส่วนนี้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทจึงอยู่ในแขวงปทุมวัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : Chulalongkorn University
ชื่อย่อ : จุฬาฯ (CU)
คติพจน์ : ความรู้คู่คุณธรรม (ทางการ) และ เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน (ไม่เป็นทางการ)
สถาปนา : 26 มีนาคม พ.ศ. 2460
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
เว็บไซต์ : www.chula.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity?fref=ts
ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ http://www.chula.ac.th/about/history