มหาวิทยาลัยรังสิต

Rangsit University

Home / academy / มหาวิทยาลัยรังสิต
มหาวิทยาลัยรังสิต (Rangsit University) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 เปิดสอนหลากหลายสาขาวิชากว่า 86 สาขาวิชา และเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีจำนวนศาสตราจารย์มากเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิตประวัติ เมื่อวันที่… See More

มหาวิทยาลัยรังสิต (Rangsit University) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 เปิดสอนหลากหลายสาขาวิชากว่า 86 สาขาวิชา และเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีจำนวนศาสตราจารย์มากเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยรังสิตตรา มหาวิทยาลัยรังสิตประวัติ
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 นายประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ประธานกรรมการบริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด ผู้ดำเนินกิจการโรงพยาบาลพญาไทในขณะนั้น พร้อมด้วย พลเอกพร ธนะภูมิ และ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ยื่นความประสงค์ เพื่อขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ระดับวิทยาลัย ต่อทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)

คณะผู้ก่อตั้งวิทยาลัย ได้เลือกที่ดินบริเวณตำบลคูคตในขณะนั้น อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ทุ่งรังสิต” เป็นสถานที่ก่อตั้ง จึงได้นำมงคลนาม “รังสิต” อันเนื่องมาจากพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาตั้งเป็นชื่อของวิทยาลัย ซึ่งเดิมเคยระบุชื่อวิทยาลัยที่จะก่อตั้งไว้ว่า วิทยาลัยปิ่นเกล้า ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยรังสิต ในเวลาต่อมา

ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2528 ทบวงมหาวิทยาลัย ออกประกาศจัดตั้ง “วิทยาลัยรังสิต (Rangsit College)” ลงนามโดย นายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 28 ก ฉบับพิเศษ หน้า 5 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2528 โดยเป็นไปตามที่ระบุใน ใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ 2/2528

วิทยาลัยรังสิต ตั้งอยู่ภายในโครงการหมู่บ้านเมืองเอก บนถนนพหลโยธิน ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่ 10 ไร่ ห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร เริ่มเปิดการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อปีการศึกษา 2529 ในคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ โดยมีนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 478 คน

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2532 ทบวงมหาวิทยาลัย ออกประกาศอนุญาตให้นายประสิทธิ์ โอนกิจการวิทยาลัยรังสิต ให้เป็นสิทธิการบริหารงานของ บริษัท ประสิทธิ์รัตน์ จำกัด โดยให้ถือว่าบริษัทดังกล่าว เป็นเสมือนผู้รับใบอนุญาตของวิทยาลัย และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ทบวงมหาวิทยาลัย ออกประกาศอนุญาตให้วิทยาลัยรังสิต เปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยรังสิต” ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ลงนามโดย นายทวิช กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 107 ตอนที่ 164 ง หน้า 7213 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2533

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีสถาปนามหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเวลา 15.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรังสิต โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมชมอาคารหอสมุดของมหาวิทยาลัยด้วย แต่ทางมหาวิทยาลัยยังคงจัด พิธีรำลึกการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันจัดตั้งวิทยาลัยรังสิต มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อนุญาตให้มหาวิทยาลัยรังสิต จำลองพระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เพื่อประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งได้รับอนุญาตให้อัญเชิญพระนาม รังสิตประยูรศักดิ์ เป็นชื่ออาคาร เนื่องจากทรงมีบทบาท ในการพัฒนาการแพทย์ และการสาธารณสุขไทย เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณสู่นักศึกษา และอนุชนรุ่นหลังสืบไป

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามแก่อาคารอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นที่ทำการวิทยาลัยนานาชาติ และคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการบริการของมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษาว่า รัตนคุณากร อันหมายถึง อาคารซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความดีอันทรงค่า ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารดังกล่าว ในวันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยรังสิต ในโอกาสการสถาปนาครบรอบ 25 ปีด้วย

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย
ได้แก่ “พระศรีศาสดา” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก คืบ 8 นิ้ว สูง 5 ศอก คืบ 1 นิ้ว พระรัศมียาว 1 ศอก คืบ 1 นิ้ว ที่นายประสิทธิ์ อุไรรัตน์ จัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมศรัทธา และเป็นที่เคารพสักการะ ของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนมณฑปพระศรีศาสดา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางของมหาวิทยาลัย เป็นมณฑปทรงจตุรมุขสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีอย่างงดงาม ตามแบบแผนสถาปัตยกรรมไทย

เครื่องหมายมหาวิทยาลัยรังสิต

เครื่องหมายมหาวิทยาลัย
ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553 มีรูปแบบที่สื่อสะท้อนถึงปรัชญาของมหาวิทยาลัย ในอันที่จะสนองต่อวัตถุประสงค์ ของการสร้างสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ความใส่ใจกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ผนวกเข้ากับคุณธรรมและจิตสำนักอันดีงาม เพื่อสรรค์สร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่สาดส่องพรายแสงแห่งปัญญา นำมรรคาเยาวชนสู่สภาวะรู้แจ้งในธรรม เพื่อเป็นพลังสร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย ที่ถือธรรมเป็นใหญ่ ยึดความถูกต้องเป็นหลัก ซึ่งมีองค์ประกอบคือ
– โลกุตระ หมายถึง จุดมุ่งหมายอันสูงส่งของมวลมนุษย์ คือการบรรลุสภาวะแห่งความรู้แจ้งในธรรม โดยมีปัญญาเป็นแสงส่องทางสู่การบรรลุธรรมสูงสุด
– ดวงอาทิตย์ หมายถึง ดาวฤกษ์ที่ให้แสงสว่างส่องลงมายังผืนโลก เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ สรรพสัตว์ พืชพันธุ์ธัญญาหาร และสิ่งมีชีวิตทั้งมวล
อนึ่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2528-2553 เครื่องหมายของมหาวิทยาลัย เป็นการรวมวัตถุสัญลักษณ์ แทนวัตถุประสงค์ ที่จะสร้างสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า แก่สังคม และประเทศชาติอย่างแท้จริง ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มสามเหลี่ยมปริซึม หมายถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่รวมกันเป็นสังคม, ฟันเฟือง หมายถึง พลังแห่งวิทยาการ และเทคโนโลยีทุกแขนง, ดวงอาทิตย์ส่องแสง หมายถึง อำนาจ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง, ช่อชัยพฤกษ์ หมายถึง พลังแห่งคุณธรรม และสามัคคีธรรม และ ปิ่น หมายถึง เป้าหมายอันดีงาม สูงสุดของสังคม

ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย มีสองชนิดคือ แก้วเจ้าจอม และพะยอม

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย แก้วเจ้าจอม

1. แก้วเจ้าจอม เป็นพันธุ์ไม้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากชวา หรือประเทศอินโดนีเซีย มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณ West Indies แต่แรกเริ่มเดิมทีโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่สวนสุนันทา ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้เป็นสวนป่าในพระนครไว้เป็นที่ประพาสเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย เช่นเดียวกับที่ยุโรปซึ่งเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยือนมา จากหนังสือสวนหลวง ร.๙ แก้วเจ้าจอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Linn. วงศ์ Zygophyllaceae เป็นไม้พุ่มกลม ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ใบย่อยรูปรีปลายมน ขนาดไม่เท่ากัน คู่ปลายจะยาวที่สุด ประมาณ 3.5 เซนติเมตร ดอกเล็กๆ สีฟ้า 5 กลีบ เกสรสีเหลือง 8-10 อัน ออกดอกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ช่วงเวลาที่ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง เป็นไม้ประดับที่มีดอกพรั่งพรู งดงามน่ารัก อาจารย์แจ่มจันทร์ ทองเสริม อดีตอาจารย์โรงเรียนสวนสุนันทากรุณาเล่าว่า แก้วเจ้าจอมนี้เดิมมีชื่อเรียกกันว่า “นํ้าอบฝรั่ง” ต่อมาเมื่อมีการชำระชื่อพันธุ์ไม้ หลวงบุเรศบำรุงการจึงใช้ชื่อว่า “แก้วเจ้าจอม” ในปัจจุบัน “ต้นแม่” ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกเป็นต้นแรกอยู่ในโรงเรียนสวนสุนันทา มีความสูงประมาณตึก 4 ชั้น และยังคงให้ดอกดกงดงาม ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครจัดประกวดไม้ยืนต้นเก่าแก่ที่อายุยืนนานในกรุงเทพมหานคร ต้นแก้วเจ้าจอมที่โรงเรียนสวนสุนันทาได้รับรางวัลที่ 1 และในปัจจุบันถือว่าเป็นไม้ประจำโรงเรียนสวนสุนันทาด้วย แก้วเจ้าจอมมีปลูกไว้ที่ทางเข้ามหาวิทยาลัยรังสิตในสนามด้านซ้ายมือ และที่ริมสระนํ้าด้านหน้าของอาคารหอสมุด

พะยอม ต้นไม้ประจำมหาลัยรังสิต

2. พะยอม (ชื่อพื้นเมือง: กะยอม ขะยอม ขะยอมดง พะยอมดง แคน เชียง เซี่ยว พะยอม พะยอมทอง ยางหยวก) เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงประมาณ 15-40 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับรูป ขอบขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร ขอบใบเป็นคลื่น ออกช่อดอกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ผลแห้งรูปกระสวย มีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก ตามตำรายาไทย ใช้เปลือกและต้น เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเดิน และลำไส้อักเสบ สารออกฤทธิ์ในพะยอมคือแทนนิน ดอกเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ และลดไข้ นอกจากนี้ ยังใช้เปลือกและต้นเป็นสารกันบูดด้วย

สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีฟ้า และ สีบานเย็น

สัตว์สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย คือ เสือ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของทีมฟุตบอลมหาวิทยาลัยรังสิต

มหาวิทยาลัยรังสิต : Rangsit University
คติพจน์ : สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่สังคม
สถาปนา : 25 มกราคม พ.ศ. 2528 (ในชื่อ วิทยาลัยรังสิต) และ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 (ในชื่อ มหาวิทยาลัยรังสิต)
ประเภท : เอกชน
ที่ตั้ง : เลขที่ 52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถนนพหลโยธิน ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
เว็บไซต์ : www.rsu.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/pages/Rsu-Sa/374259429298850?ref=ts&fref=ts

 

ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

See Less