สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจอยากจะเรียนต่อทางด้านคอมพิเตอร์ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกเรียนอะไรดี เพราะแต่ละคณะ/สาขาก็น่าสนใจและมีความใกล้เคียงกันมากจนเลือกไม่ถูกเลยว่าจะเรียนสาขาไหนดี ดังนั้นในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ มีข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มาเทียบให้ดูกันไปชัด ๆ เลยว่าทั้ง 2 สาขานี้ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
แตกต่างกันอย่างไร? วิศวกรรมคอมฯ VS วิทยาการคอมฯ
มาเริ่มต้นกันที่ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การสร้างเครื่องหรือระบบคอมพิวเตอร์ และรวมถึงการบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ อีกด้วย โดยเนื้อหาที่น้อง ๆ จะได้เรียนจะมีทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการสื่อสาร ควบคู่กับความรู้ทางด้านวิศวกรรม
หลักสูตรการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นทางด้านทฤษฎี และการฝึกฝนปฏิบัติของทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมถึงการประยุกต์เข้ากับปัญหาทางด้านการออกแบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิชาเรียนที่น้อง ๆ จะต้องเจอ เช่น พื้นฐานการเขียนโปรแกรม, คณิตศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, ตรรกศาสตร์ดิจิทัล, โครงสร้างข้อมูลและขั้นตอนวิธี, โครงสร้างและสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์, ระบบปฏิบัติการ, ระบบฐานข้อมูล, วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ส่วน สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) เป็นสาขาที่เรียนรู้ตั้งแต่โครงสร้างของคอมพิวเตอร์ ระบบการทำงานภายใน ไปจนถึงเรื่องการนำมาประยุกต์ใช้งาน เน้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านทฤษฎีภาษาโปรแกรม ทฤษฎีการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทฤษฎีฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ และทฤษฎีเครือข่าย ฯลฯ
วิชาเรียนที่น้อง ๆ จะต้องเจอ เช่น พื้นฐานคณิตศาสตร์, วิทยาการคอมพิวเตอร์เชิงทฤษฎี, ระบบข้อมูลและสารสนเทศ, วิธีคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ เป็นต้น
ความคล้ายกันของทั้ง 2 สาขา คือ…
สำหรับความคล้ายกันของทั้ง สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีสื่งที่น้อง ๆ ต้องรู้ ดังนี้
1. การเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์
ทั้ง 2 สาขามีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่าง ๆ และยังรวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนโปรแกรมว่ามีอะไรบ้าง ภาษาที่ใช้ในการเขียนมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะหรือแตกต่างกันอย่างไร
2. โครงการและการควบคุมคอมพิวเตอร์
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนเหมือนกันก็คือ เรียนรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านซอฟต์แวร์ อาร์ดแวร์ และโปรแกรมพื้นฐานที่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ควรมี ไปจนถึงเรื่องของการเข้าและการถอดรหัสของคอมฯ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลในเครื่องคอมฯ ที่มีความสำคัญจะต้องเก็บเป็นข้อมูลลับ
3. การสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์
และเรื่องอีกหนึ่งเรื่องที่ทั้ง 2 สาขาต้องเรียนรู้เหมือนกันก็คือ การสื่อสารข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ผ่านระบบเครือข่าย (ระบบอินเทอร์เน็ต) เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกันและทำงานร่วมกันได้
ความแตกต่างที่ควรรู้
สำหรับ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะเน้นเรียนรู้ในส่วนของฮาร์แวร์และระบบแผงวงจรคอมพิวเตอร์ รวมถึงความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ อีกด้วย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถความรู้ทั้ง 2 ด้านมาประยุกต์ใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน เช่น
1. องค์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์
โดยที่น้อง ๆ จะเรียนต่อยอดมาจากวิศวกรรมไฟฟ้า หลังจากสร้างวงจรต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยในการเชื่อมต่อวงจร ไปจนถึงกระบวนการเขียนโปรแกรม สร้างระบบการเชื่อมต่อต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้จริง
2. การนำระบบคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ใช้
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะเน้นให้เรานำความรู้ที่เรียนมาไปใช้งานกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ต่างก็ต้องใช้โปรแกรม เพื่อให้สามารถทำตามคำสั่งหรือทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องมีการบังคับ เพียงแค่เราคอยดูแลระบบการสั่งงานไม่ได้เกิดความผิดพลาด เท่านั้น
ส่วน สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะเน้นการนำไปประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านกราฟิก หรือนำไปใช้งานในแบบอื่น ๆ เช่น
1. การประยุกต์ใช้ด้านงานกราฟิกและมัลติมีเดีย
เป็นการประยุกต์เอาความรู้ด้านคณิตศาสตร์ เข้ากับการออกแบบงานต่าง ๆ เช่น ซอฟต์แวร์ที่มีการเขียนแบบ CAD เป็นต้น
2. การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์
จะเป็นการศึกษาวิธีการสร้างระบบสารสนเทศที่มีความชาญฉลาด หรือที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ โดยมีต้นแบบมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ นั่นเอง
สัดส่วนคะแนนที่ใช้ (รอบที่ 4 แอดมิชชัน)
– วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ : GPAX + O-NET + GAT + PAT2 + PAT3
– วิทยาการคอมพิวเตอร์ : GPAX + O-NET + GAT + PAT2
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. มหาวิทยาลัยทักษิณ
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
7. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
8. มหาวิทยาลัยนเรศวร
9. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
10. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
11. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
12. มหาวิทยาลัยแม่โจ้
13. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
14. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
15. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
16. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
17. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
** นี่เป็นเพียงตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านนี้เท่านั้น ทั้งนี้ยังมีอีกหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยที่เปิดสอนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ น้อง ๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของคณะ/สาขา ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่สนใจได้เลยค่ะ
จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
1. วิศวกรซอฟต์แวร์
2. นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์
3. นักพัฒนาเว็บไซต์
4.โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ
วิทยาการคอมพิวเตอร์
1. ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์
2. โปรแกรมเมอร์
3. ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
4. ผู้ออกแบบงานด้านกราฟิก
5. ประกอบธุรกิจหรือนักลงทุนด้านระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
จากข้อมูลดังกล่าวน้อง ๆ จะเห็นได้ว่าทั้ง สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีความใกล้เคียงในการเรียนการสอนกันมากเลยทีเดียว แต่ก็มีความแตกต่างกันในด้านเรื่องซอฟต์แวร์ ฮาร์แวร์ และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งาน
และพี่ ๆ แคมปัส-สตาร์ หวังว่าข้อมูลที่เราได้รวบรวมมาให้น้อง ๆ ได้อ่านกันนั้น จะเป็นประโยชน์และช่วยทำให้น้อง ๆ ตัดสินใจในการเรียนเลือกเรียนด้านคอมพิวเตอร์ในสาขาที่ชอบและเหมาะกับตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น ไฟติ้ง!!!!
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.cp.eng.chula.ac.th, www.spicydog.org, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, rru-comsci.blogspot.com