ออนไซต์ เรียนออนไลน์ โควิด19

รวม 4 เทคนิค ออนไลน์-ออนไซต์ จากคลาสแอคทีฟเลิร์นนิ่ง

Home / ข่าวการศึกษา / รวม 4 เทคนิค ออนไลน์-ออนไซต์ จากคลาสแอคทีฟเลิร์นนิ่ง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน และมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อไปอีกเป็นเวลานาน ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในทุกพื้นที่ทั่วโลก ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมาตรการที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทยเอง ก็ได้มีการนำการจัดการเรียนการสอน หลากหลายรูปแบบมาปรับใช้ … อ่านบทความ ” 4 เทคนิค ออนไลน์-ออนไซต์ ”

4 เทคนิค ออนไลน์-ออนไซต์

ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (On-Air) การเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ (On-Demand) การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Online) และการเรียนแบบปกติ ที่โรงเรียนภายใต้มาตรการความปลอดภัย (On-Site) โดยสถานศึกษาแต่ละแห่ง ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เนื่องจากเด็กแต่ละคน มีข้อจำกัดและอุปสรรคในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป

การเปลี่ยนรูปแบบ เรียน-สอน

เมื่อโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ การจัดการเรียนการสอน มาเป็นระบบทางไกล จึงกลายเป็นความท้าทายของทั้งครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา ที่จำเป็นต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้น่าสนใจ สามารถกระตุ้นและจูงใจผู้เรียนให้มีส่วนร่วมมากที่สุด เนื่องจากการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ทำให้เด็กต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อม ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เทียบเท่ากับการเรียนในห้องเรียน ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเกิดช่องว่างทางการเรียนรู้ได้

เทคโนโลยีต่างๆ จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบห้องเรียน ท่ามกลางภาวะวิกฤตในครั้งนี้ โดยเฉพาะ การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นให้ผู้เรียน มีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์และนอกห้องเรียน โดยวันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ แนวทางการจัดการเรียนการสอน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จ จาก 4 โรงเรียน ว่ามีเทคนิคที่น่าสนใจอย่างไร ในการออกแบบห้องเรียน ให้มีประสิทธิภาพ และยังเป็นที่ชื่นชอบของนักเรียน

เมื่อครูสวมบทบาทแม่ค้าออนไลน์

โรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส

โรงเรียนบ้านค่ายเป็นอีกหนึ่งโรงเรียน ที่เจอกับปัญหาเด็กนักเรียนหลุดออกนอกระบบ เช่นเดียวกับในอีกหลายพื้นที่ หลังจากต้องเผชิญกับ การปิดเรียนและการสอนทางไกลเป็นระยะเวลานาน โรงเรียนได้ปรับใช้การเรียนการสอนมาทุกรูปแบบ ทั้ง On-Hand On-Demand และ Online ผู้บริหารและครูที่โรงเรียนบ้านค่าย ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เพื่อค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เหล่าคุณครูได้นำกลยุทธ์ การสอนผ่านหน้าจอในรูปแบบแม่ค้าออนไลน์ มาปรับใช้ในการสอน ซึ่งเกิดขึ้นมาจากไอเดียของครูคนหนึ่งในโรงเรียน ที่ชื่นชอบการดูไลฟ์สดขายสินค้าเป็นประจำ

วิธีนี้เริ่มจากการสมมติในหมู่ครู ว่ากำลังเปิดร้านไลฟ์สดออนไลน์ในแต่ละวัน และสวมบทบาทเป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ แต่ในความเป็นจริง กำลังขายวิชาความรู้ให้กับเด็กนักเรียน โดยใช้การสอนร่วมกันถึง 3 คนในรายวิชาเดียว มีการรับส่งมุกตลก เพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับนักเรียนอย่างสนุกสนาน และต่อยอดมาเป็นห้องเรียนออนไลน์ที่เน้น “เรียนปนเล่น” เพื่อฝึกให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ในบรรยากาศที่ไม่เครียดหรือน่าเบื่อ ได้ทั้งความสนุกและประโยชน์จากเนื้อหาความรู้ และเมื่อนักเรียนมีความสุขในการเรียน อยากมีส่วนร่วมกับห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ครูเกิดแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนต่อไปในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

4 เทคนิค ออนไลน์-ออนไซต์

สอนแบบ Makerspace และ STEAM Design Process

โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล)

โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล) นำกลไก Makerspace และ STEAM Design Process มาปรับใช้เสริมการจัดการเรียนการสอน  จากเดิมที่เด็กต้องเรียนตามที่ครูกำหนด เปลี่ยนเป็นให้เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนได้ ผ่านฐาน Makerspace ทุกวันอังคารช่วงบ่ายเป็นเวลาสามชั่วโมง เช่น การประดิษฐ์ ดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่การทำอาหาร หากเรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบก็สามารถเปลี่ยนได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่สนใจ ไม่ใช่การถูกบังคับให้เรียน จึงไม่ทำให้เกิดการต่อต้านหรือเบื่อหน่ายที่จะเรียน

นอกจากนี้สำหรับวิชาพื้นฐาน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ก็จะใช้ STEAM Design Process หรือแนวทางการจัดการเรียนการสอน ให้เกิดการเรียนรู้และบูรณาการความรู้ จาก 5 สาระวิชาหลักเข้าด้วยกัน ล้มเลิกการสอนแบบท่องจำและเปิดกว้างความรู้นอกห้องเรียน ให้เด็กได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อค้นหาความรู้ด้วยตัวเองจากทุกพื้นที่อย่างอิสระ ไม่ว่าจากอินเทอร์เน็ต จากยูทูบ หรือจากเกม โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้คอยชี้แนะ ทั้งหมดไม่มีรูปแบบตายตัว เป็นอิสระของคุณครูที่จะออกแบบการเรียนการสอนของตัวเอง โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาคอยติดตามผลเพื่อหาแนวทางปรับปรุงต่อไป

4 เทคนิค ออนไลน์-ออนไซต์ จากคลาสแอคทีฟเลิร์นนิ่ง

ฉีกกรอบการสอนเดิมๆ ด้วยการบูรณาการแบบ PBL

โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง

การกำหนดสัดส่วนคาบเรียน และเนื้อหาในแต่ละสัปดาห์ในรูปแบบเดิม นับเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาที่กระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน เมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบมาจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียนบ้านห้วยปลิงจึงได้ ผนวกรายวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน และได้นำ เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ Problem-Based Learning (PBL) มาใช้ คือ การให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง โดยใช้ปัญหาที่สามารถพบเจอได้ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เป็นตัวนำในการเรียนรู้ ครูเปลี่ยนบทบาทครูจากผู้สอนหน้าชั้นเรียนตลอดคาบ เป็นผู้ดูแลกระบวนการ และผู้สร้าง “สถานการณ์” เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้

โดยโรงเรียนยังคงยืนพื้น ด้วยเนื้อหาวิชาหลัก ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และในวิชาที่เหลือ อาทิ วิทยาศาสตร์ สังคม การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพละศึกษา จะถูกบูรณาการร่วมกันเป็น “หน่วยเรียนรู้” ตามโจทย์ต่างๆ เช่น ของเล่นพื้นบ้าน สมุนไพรผักพื้นถิ่น ให้เด็กได้เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมรอบตัว แล้วจึงนำสิ่งที่ได้กลับมาถกเถียง และแลกเปลี่ยนกันผ่านห้องเรียนออนไลน์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นพบว่าเด็กๆ มีความกล้าแสดงออกมาขึ้น สามารถคิดวิเคราะห์ และมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการเรียนในรูปแบบเดิม รวมทั้งยังได้รับความสนุกสนานในการเรียนมากขึ้น

เรียนทางไกล

กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้

โรงเรียนวัดดอนพุดซา

ภาวะความรู้ถดถอย และช่องว่างของการเรียนรู้ เป็นปัญหาที่โรงเรียนวัดดอนพุดซากำลังเผชิญ หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ได้ไม่นาน โดยเฉพาะในเด็กเล็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ที่มีปัญหาด้านการอ่านออกเขียนได้ ต้องกลับมาเริ่มเรียนใหม่อีกครั้ง ส่วนเด็กชั้นโตขึ้นมาก็มีปัญหาในการเรียนออนไลน์เช่นกัน โดยพบว่า มีนักเรียนเข้าเรียนออนไลน์ได้เพียงแค่ร้อยละ 10 ในช่วงที่ผ่านมา

โรงเรียนจึงต้องปรับรูปแบบมาใช้การเรียนการสอน แบบออนแฮนด์ควบคู่กับ “กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้” ที่ได้รับการต่อยอดมาจาก นวัตกรรมกล่องการเรียนรู้ (Learning Box) โดยออกแบบใช้สีแดง ซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียน และประยุกต์วัสดุ อุปกรณ์ข้างในให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ ภายในบรรจุอุปกรณ์สื่อการสอน สำหรับต่อยอดสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้าน สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในช่วงปิดเรียนและช่วงการเรียนแบบออนแฮนด์ เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้โรงเรียนยังให้ความสำคัญ กับการพัฒนาครูผู้สอน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนในรูปแบบที่ไม่คุ้นเคย การออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ และการออกแบบสื่อต่างๆ ที่จะนำไปใส่ในกระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้ รวมึงการตรวจวัดประเมินผลผู้เรียน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันหลายโรงเรียน จะกลับมาเปิดเรียนแบบออนไซต์แล้ว แต่ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ทำให้ภาคการศึกษาต้องหาแนวทางรับมือ กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการศึกษา ที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยต้องคำนึงถึงตัวเด็กเป็นสำคัญ เพราะเด็กแต่ละคนต่างมีอุปสรรคข้อจำกัด ในการเข้าถึงการศึกษาที่แตกต่างกัน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ยังคงต้องหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกล ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อฟื้นฟูปัญหาภาวะความรู้ถดถอย ที่เกิดขึ้นในเด็กทุกช่วงวัยจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้

รวมทั้งช่วยเหลือและเฝ้าระวังไม่ให้มีเด็กและเยาวชน ที่ต้องหลุดออกนอกระบบไปมากกว่านี้ ทั้งหมดนี้นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ได้กำหนดกรอบการปฏิรูประบบการศึกษาไทยเชิงนโยบาย เรื่อง การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับปฐมวัยและป้องกันเด็กเยาวชนออกจากระบบการศึกษา (บิ๊กร็อกที่ 1) ซึ่งต้องอาศัยการระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไทยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ในช่องทางดังนี้ เว็บไซต์ thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ Thaiedreform2022

บทความแนะนำ