เมื่อยุคสมัยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นอกจากจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกันก็คือ การเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของเด็กๆ ยุคใหม่ ที่ได้มีการเปลี่ยนเทรนด์ไปเรื่อยๆ โดยในปี 2561 นี้ คณะที่มาแรงที่สุดคือ คณะทางด้านภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตามมาด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ฯลฯ
วิศวะโยธา สาขาวิชามาแรง ปี 61
โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์เทรนด์การเลือกเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาของนักเรียนในปีการศึกษา 2561 นั้น ผู้ปกครองยังคงมีอิทธิพลต่อการเลือกเรียนของนักเรียนอนยู่ค่อนข้างมากเลยทีเดียว โดยที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมให้ลูกๆ เลือกเรียนในคณะ/สาขาวิชาที่มีงานทำแน่นอนและที่สำคัญต้องเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีอีกด้วย
ดังนั้น สาขาทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ จึงได้รับความนิยมค่อนข้างมากเพราะมีเงินเดือนที่สูง ตามมาด้วยวิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า ในขณะเดียวกันสาขาวิชาที่มีความโดดเด่นขึ้นมาเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมาก็คือ สาขาวิศวกรรมโยธา เพราะในปัจจุบันประเทศไทยได้มีเมกะโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมาก
ส่วนในสาขาทางด้านแพทยศาสตร์ ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ในปีนี้มีแนวโน้มที่เด็กๆ จะหันมาเรียนต่อทางด้านทันตแพทยศาสตร์กันมากขึ้น เพราะเป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลน สำหรับหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ คิดว่าอยู่ตัวเพราะเป็นสาขาวิชายอดนิยมที่มีผู้เลือกสมัครเข้าเรียนต่อมากอยู่แล้ว โดยได้คาดว่าในปีนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดิม เพราะเรียนจบมาแล้วมีงานทำแน่นอน แถมยังมีรายได้ดีและค่อนข้างมั่นคงด้วย
สำหรับคณะ/สาขาทางด้านสังคมที่เด็กๆ นิยทเรียนต่อกันนั้นก็คือ คณะนิติศาสตร์และนิเทศศาสตร์ ซึ่งกรณีที่หลายๆ ฝ่ายมองว่า เด็กๆ จะนิยมเลือกเรียนต่อในคณะนิเทศศาสตร์ลดลงจากปัจจัยความไม่มั่นคงในวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น จากข้อมูลพบว่า หลายๆ มหาวิทยาลัยได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงได้มีการปรับหลักสูตรที่เน้นในเรื่องการสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการเรียนการสอนมากขึ้น แม้ว่าในอนาคตจะมีคนอ่านหนังสือเป็นเล่มน้อยลงและหันมาอ่านหนังสือผ่านทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหนังสือก็ยังคงต้องมีอยู่และรวมถึงหนังสือพิมพ์ด้วย เพียงแต่ต้องมีการปรับการเรียนการสอนให้มีความทัยสมัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสาขานิเทศศาสตร์ยังคงเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาหนึ่งที่มีคนนิยมเลือกเรียนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เท่าที่ดูคิดว่า ความนิยมจะน้อยลงจากปัจจัยการมีงานทำ เพราะคนที่เรียนสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่ได้การันตีว่าเรียนจบมาแล้วจะมีงานทำเช่นเดียวกับพยาบาล เพราะยังต้องสอบแข่งขันกับผู้ทีเรียนจบมาในสาขาวิชาเดียวกันเป็นจำนวนมาก
นายสุชัชวีร์ ยังได้กล่าวต่ออีกด้วยว่า ในช่วง 2-3 ปีจากนี้คิดว่าเด็กๆ จะเลือกเรียนในคณะ/สาขาวิชาที่จบมาแล้วมีงานทำแน่นอน และจะต้องเป็นงานที่มีรายได้มั่งคงอีกด้วย ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัว เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ บางคณะ/สาขาวิชาต้องมีความเข้มข้น อาจจะต้องมีการลดจำนวนรับลงให้เหมาะสมเพื่อให้มีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพจริงๆ ที่สำคัญมหาวิทยาลัยไทยจะต้องมีการปฏิวัติหลักสูตร ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และปรับหลักสูตรให้มีความเป็นนานาชาติ
ทั้งนี้ อนาคตมหาวิทยาลัยเองถูกดกดันให้ลดจำนวนรับนักศึกษาลงอยู่แล้ว เพราะอัตราการเกิดลดลง จำนวนเด็กที่เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาจึงลดลงไปด้วย โดยมหาวิทยาลัยเอกชนจะได้รับผลกระทบก่อน มาถึงกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ก่อนมาถึงมหาวิทยาลัยในกลุ่มทปอ. ดังนั้นการปรับหลักสูตร และทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศจะเปิดอีกช่องทางหนึ่งในการรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนในประเทศไทยได้มากขึ้น
บทความที่น่าสนใจ
- 10 อาชีพเด่น-ร่วง ปี 2561 | เสริมความงาม-ไอที มาแรง ขายของหน้าร้าน-ผู้สื่อข่าว เสี่ยงตกงาน
- 10 อันดับเมืองที่น่าอยู่อาศัยมากที่สุด สำหรับนักศึกษาต่างชาติ จากการจัดอันดับโดย QS
- 6 สาขาวิชายอดฮิต ที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สำหรับเด็กที่เรียนจบ ปวช.
- 10 อันดับสาขาวิชา ที่เรียนจบมาแล้วไม่ตกงานแน่นอน มีค่าตอบแทนสูงมาก
ที่มา : www.matichon.co.th