issue40 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ดุริยาคศิลป์ นาฏยศิลป์ เชียร์ลีดเดอร์

แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ หนุ่มนักดนตรีกับสาวเชียร์ลีดเดอร์

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ หนุ่มนักดนตรีกับสาวเชียร์ลีดเดอร์

ใครยังหาความเป็นเด็กแนวสายพันธุ์ของตัวเองไม่เจอ เราจะพาไปเจอรุ่นพี่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนุ่มนักดนตรีสุดเซอร์ แจ็คพ็อต-สิรภพ จันทร์ต๊ะ และใหม่-รพีภร สุรวรรณ เชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัยรุ่น 70 สาวสายเต้นตัวเล็กน่ารัก รวมถึงภาพรวมของความเป็นศิลปะแต่ละสาขา เพื่อค้นหาตัวตนในแบบที่ตัวเองชอบกันดีกว่า

แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ

ขอเหตุผลสั้นๆ สามคำสไตล์เด็กแนว กับสิ่งที่ตัวเองได้เลือก

แจ็คพ็อต : ตอนนี้อยู่ ปี 2 ภาควิชาดุริยางคศิลป์ ด้านดุริยางคศิลป์ตะวันตก เหตุผลสั้นๆ ก็คงจะเป็น “ก็ชอบเล่น”
ชอบเล่นกีต้าร์มาตั้งแต่เด็กแล้ว พอดีคุณพ่อผมเป็นนักดนตรี เขาก็เลยสอนให้เอง แล้วผมก็อยากจะเรียนด้านนี้ให้เก่งขึ้น ซึ่งคณะศิลปกรรม จุฬาฯ ก็มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เลยเลือกที่นี่ครับ

ใหม่ : ตอนนี้อยู่ปี 4 ภาควิชานาฏยศิลป์ ด้านนาฏยศิลป์ตะวันตก เหตุผลสั้นคล้ายๆ กัน (หัวเราะ) เป็นคน “ชอบเต้นค่ะ” จริงๆ ตอนเด็กๆ ที่บ้านใหม่ทุกคนจะให้เรียนเปียโน แต่ใหม่เรียนแล้วไม่ชอบ ตอนนั้นเลยอยากหาอะไรมาเรียนแทน พอคุณแม่ส่งไปเรียนบัลเล่ต์ ก็ชอบมาก เลยเรียนมาเรื่อยๆ แล้วก็อยากเรียนให้ลงลึกมากขึ้น เลยสอบตรงแล้วก็ติดที่นี่

แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ

วันแรกของการได้เข้ามาเรียน ความถนัดของตัวเอง

แจ็คพ็อต : เข้ามาตอนแรกก็ต่างกับที่ฝันไว้นิดหนึ่ง เพราะว่ามหาวิทยาลัยจะไม่มีคนคอยป้อนให้เรา เราต้องขยันซ้อมของเราเอง แล้วถึงเวลามาเล่นให้อาจารย์ฟังก็จะได้มาดูว่าเรามีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง ซึ่งเราก็ต้องไปทำการบ้านเยอะมาก แล้ว อย่างเพื่อนๆ ด้านเปียโนหรือซิมโฟนี เขาจะมีงานตลอด ของผมสายกีต้าร์มีงานค่อนข้างน้อย ก็เลยจะต้องเน้นไปทางสายแข่งอย่างเดียวถึงจะมีชื่อ ก็จะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นๆ

ใหม่ : ตอนเข้ามาเรียนปีหนึ่งก็ค่อนข้างต่างจากที่เคยเรียนข้างนอก อย่างครูข้างนอกจะคอยจี้ให้ทำท่าเดิมซ้ำๆ ให้ได้ ซึ่งบางทีก็แอบน่าเบื่อ แต่พอเข้ามาเรียนที่นี่ ค่อนข้างจะสอนหลากหลายมากขึ้น ทำให้เราได้รู้จักองค์ประกอบอื่นๆ ในการเต้น ก็สนุกไปอีกแบบ

แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ

พรีเซนท์เรื่องเจ๋งสุดๆ ของเด็กแนวสายเรา และความโหดที่ทุกคนต้องเจอ

แจ็คพ็อต : ผมว่าในความเป็นดนตรี มันก็มีความเจ๋งของตัวเองอยู่แล้ว ทุกคนก็ชอบดนตรีกันหมด แต่ชอบดนตรีเป็นสิ่งบันเทิง แต่ของพวกผมจะเรียนมากกว่าบันเทิง คนส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดคิดว่า เรียนดนตรีสบาย เรียนๆ เล่นๆ แต่จริงๆ แล้วเราเรียนเสร็จแล้ว เราก็ต้องซ้อมต่อนะ ไม่มีเวลาไปเที่ยวเล่นหรอก ซ้อมเสร็จก็ต้องไปหาดูคอนเสิร์ตของคนที่เก่งๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจในการพัฒนาฝีมือต่อไป โหดสุดๆ ในการเรียน ก็เคยเจออาจารย์โยนเพลงมาให้เล่นภายในเวลาเดือนครึ่ง ซึ่งผมจะต้องใช้เวลาแกะเพลง 20 นาที เกือบ 20 หน้าให้ทัน ซึ่งบ้านผมก็ไกลด้วย ส่วนใหญ่พอเลิกเรียนผมก็จะต้องซ้อมอยู่ที่มอถึงสองทุ่ม แล้วถึงค่อยกลับบ้านไปทำต่อ แบบเอาเวลาที่นั่งในรถติดๆ มาซ้อมดีกว่า

ใหม่ : ความเจ๋งของภาควิชานี้ คือ ผู้หญิงสวยค่ะ (หัวเราะ) ขึ้นชื่อว่าบัลเล่ต์นะ นานๆ ทีจะมีผู้ชายโผล่มาสักคน แล้วไม่ใช่ว่าเราจะได้เรียนแค่บัลเล่ต์ มันยังมีการเต้นอื่นๆ อย่างแจ๊ส ฮิฟฮอฟ คอนเทมโพรารี หรือแม้กระทั่งรำไทย ลิเก โนห์รา ให้เราเลือกเรียนได้ด้วย ส่วนตอนที่โหดที่สุดคงเป็นช่วงปี 3 ที่เราต้องช่วยรุ่นพี่ทำธีสิส แล้วต้องออกแบบท่าเต้นกันเองทั้งหมด ใช้เวลาภายใน 14 วัน ถือว่าโหดมากๆ

แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ

กลเม็ดเคล็ดลับในการเรียน สไตล์เด็กสายพันธุ์เรา

แจ็คพ็อต : เวลาผมจะซ้อม ผมจะคิดก่อนซ้อม คือต้องมีเป้าหมายว่าจะทำอะไร เราอยากจะแก้ตรงไหน เหมือนเวลาเราวาดรูป ต้องคิดก่อนว่าจะวาดอะไร ไม่ใช่เอะอะๆ ก็ไปซ้อม มันเป็นเรื่องของข้างในหัว ต้องคิดให้ดีๆ ก่อนไปซ้อม ถึงจะเล่นออกมาได้ดี แล้วก็ต้องเลือกฟังคนที่เก่งๆ ไม่ใช่ว่าฟังใครก็ได้ เพราะถ้าเราไปฟังคนที่ไม่เก่ง เราอาจจะไปจำสิ่งที่ไม่ดีมาก็ได้

ใหม่ : คณะนี้ไม่เหมือนคณะอื่นที่ต้องอ่านหนังสือเยอะๆ มันอยู่ที่ความรับผิดชอบของเรามากกว่า บางเทอมแทบไม่ต้องอ่านหนังสือเลย แต่เราต้องฝึกฝน พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คือนอกจากตั้งใจเรียนในห้อง ก็ต้องหาเวลาซ้อมกับเพื่อน บางทีช่วงสอบก็นัดกับเพื่อนๆ มาซ้อม เอาคลิปการเต้นมาแชร์กัน หลายคนอาจมองว่าเต้นบัลเล่ต์ง่าย แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ มันต้องฟังเพลง ดูวิดีโอเยอะๆ การสอบมันมีหลายเพลง มีหลายท่า ก็ต้องจำให้ได้

แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ

เอกลักษณ์ ความเป็นเด็กแนวศิลปกรรมแต่ละประเภท

แจ็คพ็อต : ส่วนใหญ่คนจะไม่ค่อยเห็นพวกเรา เพราะว่าพวกเราจะซ้อมกัน ก็จะหมกตัวอยู่บนภาคนี่แหละ สาขาอื่นเขาไปนั่งอ่านหนังสือติวกันที่ร้านกาแฟ แต่จะให้ผมเอากีต้าร์ไปเล่นที่สตาร์บัคส์ เขาก็คงไม่ให้เล่น (หัวเราะ) ก็มีที่ซ้อมอยู่ที่เดียว อย่างผมในวงมีกันอยู่สามคน เป็นแก๊งค์กีต้าร์ ก็แยกกันไปซ้อมของตัวเองก่อน แล้วค่อยมาประกอบรวมวงกันอีกที ถึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด

คำพูดติดปากของเด็กคณะนี้จะเป็น “จูนเนอร์มั้ย” คือ จูนเนอร์เป็นอุปกรณ์ตั้งสายเวลาเสียงเพี้ยน แล้วจะใช้ล้อเวลาเห็นเพื่อนๆ ทำอะไรที่เปิ่นๆ หรือล้อคนที่ร้องเพลงเพี้ยนว่า “จูน442 หรือเปล่า” คือค่าปกติจะจูน 440 ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะที่พวกเราจะรู้กันเอง ส่วนอีกสองภาคจะมีสไตล์ต่างกันมาก ภาคทัศนศิลป์ จะเซอร์ๆ ชอบใส่ชุดนอกมาเรียน คนอาจจะมองว่าแหกกฏ ไม่มีระเบียบ แต่จริงๆ คือ ถ้าเขาใส่ชุดนิสิตมาเวลาวาดรูปหรือปั้นจะเลอะ อาจารย์ก็เลยให้ใส่แบบนี้ได้ ส่วนนฤมิตศิลป์ จะต่างกันเลย คือ จะแต่งตัวสวยกันทุกคน ชุดข้างนอกก็แฟชั่น ส่วนชุดนิสิตเขาก็สามารถหาอะไรมาแมตซ์กันจนได้ แต่ก็ถูกระเบียบนะ

ใหม่ : บุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ของเด็กบัลเล่ต์คงเป็นผู้หญิงร่าเริง เอนเตอร์เทนท์หน่อย อย่างกลุ่มที่สนิทจะมี 7-8 คน เลิกเรียนแล้วก็จะชอบไปรวมตัวกันที่เรียนพิเศษข้างนอกค่ะ คำพูดติดปากก็เป็น “หนูจ๊ะ” ติดมาจากคุณครูที่สอนตอนปีหนึ่งที่จะชอบพูดแบบ “หนูจ๊ะ ทำดีๆ สิ” ก็เลยจะชอบเอามาเรียกเพื่อนๆ กันขำๆ

แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ

คำคมวันนี้ ฝากถึงรุ่นน้องที่จะเข้าต่อไป

แจ็คพ็อต-ใหม่ : อยากฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเล็งหาภาคที่ตัวเองอยากเรียน ไม่ว่าสาขาไหนๆ อย่างแรกเลย คือ ต้องมีใจรัก เพราะมันเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนไปถึงสี่ปี อย่างดนตรี ก็คือต้องซ้อมไปตลอดชีวิต วันที่หยุดซ้อมคือวันที่ตาย บัลเล่ต์ก็ไม่ใช่เรียนวันสองวันแล้วจะเต้นได้เลย ต้องมีการฝึกซ้อม ต้องมีเรื่องรองเท้าที่บางทีใส่แล้วเจ็บ ถ้าคุณใจไม่สู้ ไม่รักมันจริงๆ อย่าเข้ามาเรียนดีกว่า แล้วก็ต้องขยันซ้อมให้เก่งๆ เราต้องซ้อมเพื่อที่จะไปแข่งกับคนอื่นๆ เพราะเด็กแต่ละรุ่นก็เก่งขึ้นทุกปีๆ และที่สำคัญคือเรื่องระเบียบวินัย มีระเบียบในการฝึกซ้อม ในการวาดรูปก็ต้องฝึกเหมือนกัน เราต้องแบ่งเวลา จัดตารางซ้อมให้ได้ อย่างถ้าเป็นนักดนตรี ก็ต้องแก้เพลงใหม่ ทวนเพลงเก่า เพราะอีกสิบปีเพลงที่เคยเล่น อาจจะเล่นไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ได้ฝึกซ้อมมา ดังนั้น แค่คุณมีสองสิ่ง ใจรักกับระเบียบวินัย ก็ถือว่าคุณก้าวเข้ามาได้ครึ่งก้าวแล้ว

แจ็คพ็อต-ใหม่ สองเด็กแนวคณะศิลปกรรม จุฬาฯ

ตามดูคอลัมน์ about campus ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.40

www.facebook.com/campusstars