BNK48 วิทยาลัยนานาชาติ มหิดล เฌอปราง อารีย์กุล แคปเฌอ

นิยามเด็กเนิร์ดนักเคมี ฉบับกัปตันเฌอปราง BNK48 | วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / นิยามเด็กเนิร์ดนักเคมี ฉบับกัปตันเฌอปราง BNK48 | วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล

เฌอปราง อารีย์กุล กัปตันวง BNK48 แคปเฌอของชาวโอตะ เจ้าของเพลงฮิต “คุกกี้เสี่ยงทาย” กับนิยามการเรียนในสายนักเคมีสุดเนิร์ด ปี 4 ในวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล : ดูเล่มนี้แบบออนไลน์ได้ที่ > MBookStore.com (หน้าที่ 38-39)

นิยามเด็กเนิร์ดนักเคมี ฉบับกัปตันเฌอปราง BNK48

จุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาในวง BNK48

เฌอติดตามวง AKB48 อยู่แล้ว พอรู้ว่าที่ไทยจะมีวงน้องสาวมา เฌอก็แค่อยากลองไปสักครั้ง ตอนนั้นอยู่ปี 3 ได้ ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะติด เพราะความสามารถเราไม่ได้มีตั้งแต่แรก แค่อยากลองไปสัมผัสว่าจะเป็นยังไง เพราะปกติจะอยู่แต่ที่มอ อยู่แต่กับห้องแล็ป ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน พอได้เข้าไปเรียนร้องเต้นเพิ่ม ก็ยาก เฌอก็ทำงูๆ ปลาๆ ของเฌอเท่าที่เราจะทำได้ไปก่อน (หัวเราะ) ก็แกะท่าเอง แล้วก็ร้องงงๆ ใช้เสียงก็ไม่เป็น แย่มาก สุดท้ายก็ค่อยๆ ปรับตัวพัฒนาขึ้นค่ะ

ทำไมเลือกเรียนสายเคมีที่มหิดล?

ม.ต้น เฌอชอบวิทยาศาสตร์ตั้งแต่แรกแล้ว รู้สึกตัวเองไปสายสังคมภาษาไม่ได้ ไม่เก่ง ก็ชอบการทดลองโน่นนี่ จนมาม.4 ตอนแรกคิดว่าจะลองไปทางสายคอมฯ ไอทีตามคุณพ่อ เพราะคิดว่ายังไงอนาคตในการทำงานทุกอย่าง ต้องใช้คอมฯ เป็นปัจจัยหลักอยู่แล้ว แต่พอลองไปเรียนดู คือตัวเองทำได้นะ แต่ไม่อินไปกับมัน

แล้วตอนนั้นได้ลองทำ โปรเจคที่ใหญ่ขึ้นกว่าตอน ม.ต้น เราลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จด้วยตัวเอง มันทำให้เราว้าวกับความรู้สึก ของการได้ค้นพบอะไรสักอย่างด้วยการศึกษาด้วยตัวเอง เพราะที่โรงเรียนไม่มีคนดูแลตรงนี้ ก็เลยแบบเฮ้ย สายนี้ สายนั่งทำงานวิจัยในห้องแล็ปนี่แหละเป็นสายของเรา

เลยตัดสินใจเรียนวิทยาศาสตร์ PURE SCIENCE ไปเลย แล้วเฌอก็มาคิดว่ามันต้องใช้ภาษาในการสื่อสารข้อมูลด้วย ตอนแรกเลยตั้งใจจะไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือไม่ก็เยอรมัน แต่ลองแล้วสุดท้ายด้วยเงินทุนด้วยอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่พร้อมที่จะไป ก็เลยตั้งเป้าว่าถ้าไม่ได้ต่างประเทศ ในเมืองไทยเราจะไปที่ไหน ที่อย่างน้อยเราจะได้ภาษาอังกฤษด้วย

ก็ไปเจอหลักสูตรวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหิดล แล้วก็เลือกสาขาเคมี เพราะคิดว่าเคมีมันคือ Base ของทุกอย่าง ทุกอย่างมันเกิดจากสสาร เกิดจากอะตอม ธาตุ ประกอบขึ้นมา ถึงจะกลายเป็นเรื่องของฟิสิกส์และชีววิทยาต่อไปได้

เฌอปราง อารีย์กุล ชุดนักศึกษา

แรกเข้ามาเรียน

สัมผัสแรกก็โอ้โห ในเคมียังมีอีกเว้ย (หัวเราะ) เพิ่งมารับรู้ว่ามันมีเคมีที่แตกแยกย่อยไปอีก เราก็มานั่งเรียนจนรู้ว่าเราชอบแนว Physical Chemistry แต่คือตอนแรกที่เริ่มเรียน ทุกอย่างยากสำหรับเฌอหมด เลขก็ยาก ปัจจุบันฟิสิกส์สำหรับเฌอก็ยังยากมากๆ แบบโห เราเรียนอะไรเนี่ย เราไปเจอกำแพงของมัน ซึ่งเด็กฟิสิกส์จะทำได้ แต่เฌอทำไม่ได้ เฌอเข้าใจคอนเซ็ปต์ของมัน แต่ไม่สามารถคำนวณออกมาได้ ซึ่งก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เพื่อให้ทำงานตรงนี้ต่อไปได้

เทคนิคการเรียน ในแบบเฌอปรางเป็นยังไง?

ปรึกษาอาจารย์ค่ะ เฌอจะดูว่าตรงนี้ใช้โปรแกรมอะไร ใช้หนังสือตรงไหนไปอ่าน เพราะบางทีไม่มีเวลา แล้วเฌอจะค่อนข้างสนิทกับอาจารย์ที่ปรึกษาตัวเอง มีอะไรก็จะปรึกษาเขาว่าเออ ทำไงต่อดี  ส่วนวิชาต่างๆ เฌอก็จะใช้วิธีทำสรุปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ก่อนสอบ แต่บางวิชาที่มันง่าย ก็จะเรียนในห้องให้เข้าใจมากที่สุด พยายามสรุปในห้องตรงนั้นฟึบ.. วันนี้เรียนอะไร หัวข้อหลักๆ คืออะไร พอสรุปได้มันก็ไม่หนักเท่าวิชาที่มันยากแล้ว ก็จะอ่านน้อยลง พอถึงวันสอบก็จะทวนทั้งหมดเหมือนกันก่อนเข้าไปสอบ

ขึ้นปี 4 กับช่วงพีคของวง แบ่งเวลายังไงบ้าง

ช่วงแรกต้นปีจะซ้อมหนัก แต่ตอนนี้พอเริ่มเดบิวท์เปิดตัว ก็เริ่มมีงานมากขึ้น แต่ก็ต้องซ้อมเพื่องานแต่ละงาน 3-4 วันต่อสัปดาห์ ไม่รวมเวลาทำงาน ส่วนการเรียนตอนนี้ จะเหลือแต่วิชาพวกที่ Specific หน่อย เนื้อหาที่ยากขึ้น แต่ว่าก็ต้องลดวิชาเรียนให้น้อยที่สุดเท่าที่สามารถเรียนได้ จริงๆ จะจบ 4 ปีเต็ม แต่พอทำงานด้วยก็ต้องกระจายวิชา เรียนออกไป เลยน่าจะจบปี 5 กลางๆ เทอม ช่วงนี้ก็พยายามจัดตารางเรียนให้เช้าเป็นแปดโมงถึงเที่ยง แล้วบ่ายก็ออกไปทำงาน เย็นก็เป็นช่วงซ้อมสำหรับงานถัดไป แต่ถ้ามีงานจริงๆ ทั้งวันก็ต้องขออาจารย์ออกมา

เมื่อก่อนวันศุกร์จะช่วยสอนแล็ป แต่พอมาทำงาน ก็เลยต้องขออาจารย์ว่าไม่ได้ช่วยสอน ก็คือตอนนี้ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนชีวิตไปเรื่อยๆ ในแต่ละวัน เพราะมาทำงานตรงนี้เราไม่สามารถกำหนด Schedule ที่แน่นอนได้ขนาดนั้น

วิธีการใช้ชีวิตในแบบวิทย์กับศิลป์ ให้บาลานซ์กัน

ในพาร์ทของวง บางทีเฌอจะเป็นคนไม่ค่อยมี Emotional จะโดนดุตรงนั้นเยอะ แต่การเรียนวิทย์ก็ทำให้เฌอ เป็นลำดับขั้นตอนค่อนข้างจะปึกๆ ซึ่งมันก็ดีในเรื่องขั้นตอนการทำงาน แต่บางทีเราก็ต้อง Flexible มากกว่าเดิม ก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนความคิดตัวเองพอสมควร ว่าเวลาทำงานตรงนี้เราควรจะทำยังไง เวลาเรียนตรงนี้เรียนรู้ยังไง แต่ทั้งสองอย่างที่ทำจะยึดคติที่ว่า ต้องทำเต็มที่กับทุกอย่าง ไม่อยากมานั่งเสียใจทีหลังว่าทำไมตอนนั้นเราไม่ทำ ไม่ลองมันให้เต็มที่ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นแค่ประสบการณ์หนึ่งในชีวิตที่เราจะได้รับกลับมา ไอ้คำว่าแค่ มันมีได้แค่ครั้งเดียวในชีวิต ช่วงเวลาตรงนี้ผ่านแล้วก็ผ่านเลย เมื่อมันมาหาเราให้เราเรียนรู้แล้ว เราก็ต้องเต็มที่กับมัน เก็บเกี่ยวมันให้ได้มากที่สุด

นิยามการเรียนเป็นสูตรเคมี

ในความคิดเฌอ มองว่าเป็นโพลิเมอร์นะคะ (ยิ้ม) โพลิเมอร์มันเป็นโครงสร้างที่แบบว้าว มันเรียงตัวกันได้มหาศาล เป็นสายใยที่เชื่อมต่อกันไปได้เรื่อยๆ แต่ก็แข็งแกร่งเติบโตได้ เหมือนการที่เฌอทำอะไรหลายๆ อย่าง เหมือนมีโพลิเมอร์ หลายๆ แบบมาเชื่อมกัน แต่มันก็มีความแข็งแกร่งในสายของมัน และสามารถมามิกซ์กันอยู่ตรงกลางได้ค่ะ

กลุ่มเพื่อนๆ ชาวแก๊งค์อินเตอร์

ก็มีกลุ่มสนิททั้งต่างชาติและคนไทย อย่างเพื่อนชาวต่างชาติบางคนก็ไม่ค่อยรู้ก็จะแปลกใจ ยูทำงานข้างนอกด้วยหรอ ส่วนเพื่อนๆ คนไทยในสาขาก็อ้าว ไม่คิดว่าคนอย่างเฌอจะไปได้ เพราะเป็นพวกอยู่แต่ห้องแล็ป ไม่สนใจแต่งหน้าแต่งตัว ไม่ทำอะไร ร้องเพลงก็ไม่เป็น เต้นก็ไม่เต้น แกไปทำตรงนั้นได้ไง (หัวเราะ) แล้วยังไปเที่ยวด้วยกันได้อยู่เปล่า กินข้าวได้มั้ย เฌอก็บอกนานๆ ทีเดี๋ยวแวะไปหา ก็ยังติดต่อกันได้เหมือนเดิม แต่ที่สนิทจริงๆ ก็น่าจะเป็นรูมเมทที่อยู่ด้วยกัน เพราะทำงานเป็น Committee ด้วยกันตั้งแต่ปีแรกๆ

(แพรวรูมเมทแอบเม้าท์มอย :  เฌอจะมีความแมวมากๆ คือวันแรกที่ชวนกันมาอยู่หอ อยู่ๆ เฌอก็วางของปุ๊บ แล้วเข้าไปนั่งยองๆ ในซอกเตียง เราก็งงๆ ทำอาการอะไรออกมา ช็อกในความแมวตรงนี้ (หัวเราะ) เลยเป็น First impression ที่ทุกคนจำได้เลย)

ขอแก้ตัวนะคะ คือพอเข้าไปในห้อง แล้วก็คิดว่าจะนอนเตียงฝั่งไหน อยากนอนเตียงที่มันเป็นซอกตรงนี้ เฌอเป็นพวกชอบนอนที่แคบๆ ก็เลยอยากลองเข้าไปนั่งซุกดูว่าจะไปนอนในซอกนั้น ได้หรือเปล่า (ฮา) ไม่รู้สึกว่าตัวเองแมวเลยนะ แค่สงสัยแล้วลองลงไป นอนดูเฉยๆ

อนาคตที่วาดไว้

ถ้าเฌอไม่ได้เข้า BNK48 ตอนนี้ก็คงไปเรียนต่อป.โท แล้ว เป็นนักวิจัยป.โท ป.เอก แล้วอยากจะกลับไปเป็นครูสอนในมหา’ลัย เป็นเป้าหมายหนึ่งที่อยากจะทำในชีวิต แต่ตอนนี้ก็คงต้องพับเรื่องเรียนไปก่อน ก็ต้องเรียนไปเรื่อยๆ ทำงานไปด้วย จนกว่าจะจบ แล้วก็มีโปรเจคหนึ่งที่ยังไม่ได้ลงมือทำจริงจัง แต่แค่ตอนนี้รู้สึก ยังไม่มีเวลา พลังมันหมด มันเหนื่อยจริงๆ ซึ่งอาจารย์บอกว่าถ้าไม่ไหวจริงๆ สิ่งที่ทำก่อนหน้านี้คุณเอามาเป็นตัวจบได้ เพราะมันผ่านการตีพิมพ์ กับวารสารต่างประเทศไปแล้ว แต่เฌอคิดว่าอันนั้นมันไม่ได้เป็นของเราทั้งหมด เราทำร่วมกับอาจารย์ ก็เลยคิดว่าจะตั้งใจทำออกมาเองสักอันจริงๆ แต่ขอรวบรวมพลังงานและแรงใจที่จะทำขึ้นมาอีกนิดค่ะ

ข้อคิดจากกัปตันฝากให้ชาวมอ

มหา’ลัยเป็นช่วงเวลาที่เปิดกว้างให้พวกเราได้เรียนรู้ลองทำสิ่งต่างๆ ทุกอย่างในชีวิต คือเราเรียนมัธยมจะแค่บ้านกับโรงเรียนเป็นหลัก มีเพื่อน มีออกข้างนอกบ้าง แต่มหา’ลัยไม่ใช่โรงเรียน มันเป็นสิ่งที่เราต้องขวนขวายด้วยตัวเอง โรงเรียนยังมีครูป้อนให้ แต่มหา’ลัยคือแค่เอามาวางให้ คุณจะกินไม่กินก็เรื่องของคุณ เวลาแค่ 4-5 ปี อยากจะได้อะไรกับมันมากที่สุด ลองทำงานอะไรไปหรือยัง ลองเรียนรู้การเข้าสังคม การทำงานนอกสาขาตัวเองหรือยัง ตรงนี้มันคอนเฟิร์มว่าใช่จริงๆ หรือเปล่า สาขาที่เรากำลังเรียนอยู่ เราพยายามเต็มที่กับมันหรือยัง มันจะเป็นตัวส่งผลต่ออนาคตมากมายหลายอย่าง

ถึงแม้บางคนจะมองใบปริญญาเป็นแค่กระดาษใบหนึ่ง แต่อีใบกระดาษใบนั้นมันก็มี Value ของมันในระดับหนึ่งที่เป็นใบเบิกทางให้เราในอนาคต มันก็ไม่เสียหายที่เราจะมีไว้ ทำไปเถอะค่ะ แล้วประสบการณ์ที่ได้มันมาโอเคคุณมีเครดิตอันหนึ่งแล้วแน่ๆ ถึงแม้ตอนนี้เราจะไม่ได้เครียดเรื่องการทำงานขนาดนั้น แต่ก่อนจะไปทำงานจริงจัง ช่วงนี้คือช่วงทดลองทดสอบตัวเราว่าเราแบกรับมันได้แค่ไหน เพราะฉะนั้น อยากให้ลองทำให้เยอะไว้ก่อนดีที่สุด

Gallery

Clip สอนเต้น

ติดตามบทสัมภาษณ์เฌอปรางได้ในคอลัมน์ Campus Impart นิตยสาร Campus Star No.55

หรือติดตามแคมปัสสตาร์ได้ที่ > www.facebook.com/campusstar

ดูเล่มนี้แบบออนไลน์ได้ที่ > MBookStore.com

บทความแนะนำ