สวัสดีค่ะ น้องๆ ช่วงนี้ถ้าไม่พูดถึง การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังเป็นที่จับตามองของคนทั้งประเทศเลยก็คงจะไม่ได้ ยิ่งมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาภาษาไทย ในหนังสือ “หลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5” ยิ่งไปกว่านั้นคือออกข้อสอบ O-NET ทุกปี และยิ่งไปกว่านั้นๆ คือ ออกข้อสอบ 9 วิชาสามัญทุกปีอีกด้วย !!!! แบบนี้ครูพี่โบว์จะพลาดสรุปเทคนิคให้น้องๆ ได้ยังไงละเนี่ย … วันนี้ครูพี่โบว์มีเกร็ดความรู้ เรื่อง “ ศัพท์ในการประชุม ที่มักใช้ผิด ” มาฝากกันค่ะ
ศัพท์ในการประชุม ที่มักใช้ผิด
“ประชุม” เป็นคำกริยา มีความหมายว่า รวมกันหรือเรียกให้มารวมกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามกำหนดนัดหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อชี้แจง เพื่อปรึกษา เป็นต้น ถ้าหากเป็นคำนามใช้คำว่า “การประชุม” ซึ่งเป็นอาการนามค่ะ
การประชุมสามัญ – การประชุมวิสามัญ
- การประชุมสามัญ คือ การประชุมที่มีข้อบังคับ ข้อกำหนดเรื่องเวลาไว้ตายตัว
- การประชุมวิสามัญ คือ การประชุมที่ข้อบังคับเปิดโอกาสให้กระทำได้ตามความจำเป็น
ผู้มีสิทธิ์เข้าประชุม – ผู้เข้าประชุม – องค์ประชุม – ที่ประชุม
- ผู้มีสิทธิ์เข้าประชุม คือ ผู้ที่มีสิทธิ์หรือมีคุณสมบัติที่จะได้รับเชิญให้เข้าประชุม
- ผู้เข้าประชุม คือ ผู้มีสิทธิ์เข้าประชุมที่มาปรากฏตัวอยู่ ณ ที่ประชุมนั้น และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการประชุม
- องค์ประชุม คือ ผู้มีสิทธิ์เข้าประชุมตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ในการดำเนินการประชุม เช่น เปิดประชุม ปิดประชุม หรือลงมติ โดยทั่วไปองค์ประชุมต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (ครึ่ง) ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
- ที่ประชุม คือ บุคคลผู้เข้าประชุมทั้งหมด แต่ไม่รวมผู้จัดการประชุม (*ไม่ได้หมายถึง สถานที่ที่จัดประชุม)
- คำศัพท์ที่เกี่ยวกับ สภาพอากาศ ฤดูกาลต่างๆ ภาษาอังกฤษ | Seasons and Weather
- Phrasal verb ตัวอย่าง คำศัพท์ภาษาอังกฤษ มักออกข้อสอบบ่อยๆ GAT
ญัตติ – มติ
- ญัตติ คือ ข้อเสนอที่ผู้เข้าประชุมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อลงมติ
- มติ คือ ข้อตกลงของที่ประชุมในญัตติต่างๆ โดยส่วนมากใช้การออกเสียง เพื่อลงมติในประเด็นต่างๆ หากที่ประชุมเห็นพ้องทั้งหมด เรียกว่า มติเป็นเอกฉันท์ หากที่ประชุมเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า มติโดยเสียงข้างมาก การลงมติอาจเป็นการลงมติโดยเปิดเผยหรือเป็นความลับก็ได้
เสนอ – อภิปราย – สนับสนุน – คัดค้าน
- เสนอ คือ บอกให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และเรื่องที่เสนอเรียกว่า “ข้อเสนอ”
- อภิปราย คือ การแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอหรือญัตติที่มีผู้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา ทั้งนี้ต้องมีเหตุผลประกอบ
- สนับสนุน คือ การแสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอในที่ประชุม
- คัดค้าน คือ การแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในที่ประชุมหรืออาจขอแก้ไขบางประเด็นก็ได้
กำหนดการประชุม – ระเบียบวาระ
- กำหนดการประชุม เป็นการแจ้งกำหนดขั้นตอนของการประชุมที่ผู้จัดประชุมเป็นผู้กำหนด มักประกอบด้วยบุคคลผู้เกี่ยวข้อง วันเวลา สถานที่ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ
- ระเบียบวาระ หมายถึง หัวข้อแต่ละเรื่องในการประชุม แบ่งออกเป็น
ระเบียบวาระที่ 1 รับรองรายงานการประชุม
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องสืบเนื่อง
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องพิจารณา
ปิดท้ายด้วย เรื่องแจ้งให้ทราบ หรือเรื่องอื่นๆ ที่อาจไม่นับเป็นวาระในการประชุมเพราะไม่มีการอภิปราย มักเป็นเรื่องแจ้งให้ทราบและนัดหมายการประชุมครั้งต่อไป
เลขานุการ – เลขาธิการ
• เลขานุการ คือ ผู้ทำหน้าที่จัดระเบียบวาระการประชุมโดยความเห็นชอบของประธานและมีหน้าที่สำคัญในการบันทึกรายงานการประชุม พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้การประชุมลุล่วง
• เลขาธิการ คือ ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงตำแหน่งหนึ่งในองค์กร เช่น เลขาธิการพรรค เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นต้น
การประชุมมีบริบททางการใช้ภาษาที่มีข้อกำหนดชัดเจน คำศัพท์ที่ใช้ในการประชุมจึงมีลักษณะที่แตกต่างไปจากการสนทนาในชีวิตประจำวัน แต่ถึงแม้จะห่างไกลจากความจำเป็นในการใช้ แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีโอกาสใช้นะคะ ดังนั้นการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้เราได้คะแนนจากการทำข้อสอบที่โรงเรียน ข้อสอบ O – NET และข้อสอบ 9 วิชาสามัญแล้ว ยังช่วยให้เรามีส่วนในการธำรงภาษาและวัฒนธรรมของชาติอีกด้วยค่ะ
บทความหน้าครูพี่โบว์จะมีเกร็ดความรู้เรื่องอะไรมาฝากน้องๆ อย่าลืมติดตามกันนะจ๊ะ