CMMU ครูอาชีวะ อาชีวศึกษา

กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา ชี้โจทย์ปี 65 เร่งเพิ่มทักษะครูอาชีวะ ผ่านระบบ Training

Home / วาไรตี้ / กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา ชี้โจทย์ปี 65 เร่งเพิ่มทักษะครูอาชีวะ ผ่านระบบ Training

รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แนะภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชน จับมือพัฒนาศักยภาพการผลิตครูอาชีวะ ผ่านระบบ “เทรนนิง” (Training) เพื่อเสริมทักษะให้กับครูอาชีวะ เท่าทันโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ ทั้งความรู้ด้านวิชาการและทักษะทางวิชาชีพในอุตสาหกรรม พร้อมหนุนแนวคิดแปลงครูเป็น ฟาซิลิเทเทอร์ (Facilitator) ทำหน้าที่ช่วยชี้แนะนักเรียน ทั้งความรู้และทักษะร่วมกับสถานประกอบการ ในการพัฒนานักเรียน/นักศึกษาสายอาชีพให้มีคุณภาพ เพื่อป้อนตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนเป้าหมายการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ในกิจกรรมการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาค และระบบอื่นๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน (บิ๊กร็อกที่ 4) หวังช่วยลดปัญหาบริบททางศักยภาพแรงงานไทย

โจทย์ปี 65 เร่งเพิ่มทักษะ ครูอาชีวะ

รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า หนึ่งในกลไกสำคัญ ของการผลิตนักเรียน/นักศึกษาอาชีวะ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในยุคนี้ คือการมีบุคลากรครูที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งทางด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับทักษะทางอุตสาหกรรม

ปัญหาขาดแคลนบุคลากร

โดยรายงานของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า มีบุคลากรประเภทข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด จำนวนเพียง 14,693 คน ในขณะที่จำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษามีจำนวนสูงถึง 1,481,055 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่ 1:100

จากจำนวนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากร ทางด้านอาชีวศึกษา ส่งผลกระทบ ต่อคุณภาพของการผลิตแรงงานสายอาชีพ เพื่อตอบสนองต่อสถานประกอบการในประเทศ เพราะฉะนั้นการเร่งผลิตครูอาชีวะให้มีคุณภาพนั้น จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ภายใต้กิจกรรมการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่นๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน หรือ บิ๊กร็อกที่ 4 ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น

ค่าตอบแทนที่เหมาะสม

รศ. ดร. ศักรินทร์ กล่าวเสริมว่า การผลิตครูอาชีวะที่มีคุณภาพในยุคปัจจุบันนั้น จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ทั้งห่วงโซ่อุปทานอันได้แก่ ภาครัฐ ภาคการศึกษา และ ภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับวงการอาชีวะศึกษา โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ให้กับทั้งครูผู้สอนและนักเรียนอาชีวะ เพื่อให้สอดรับกับโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนี้ ภาครัฐ เน้นการสร้างแรงจูงใจ ผ่านสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่ครูอาชีวะ ภาคการศึกษา เน้นปรับสมรรถนะความรู้ทางวิชาการและทักษะในอุตสาหกรรมให้ทันกับยุคสมัย และภาคอุตสาหกรรม/สถานประกอบการ

ในฐานะผู้ทีมีประสบการณ์ในวิชาชีพ และชำนาญเรื่องทักษะในสายงาน จะต้องเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพ การอบรม (Training) ให้กับครูผู้สอนและนักศึกษา ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนี้ สร้างประโยชน์ร่วมกันให้กับทุกภาคส่วน ทั้งด้านภาคอุตสาหกรรมที่ได้แรงงานคุณภาพ มีทักษะสูง ภาคการศึกษาได้รับประโยชน์ในเชิงความร่วมมือและการพัฒนาหลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และภาครัฐแก้ปัญหาการผลิตบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ

 

ปัจจุบันมีความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม ที่จะช่วยเสริมศักยภาพและแก้ปัญหาบุคลากรไม่พร้อมรองรับทั้งด้านจำนวนและศักยภาพในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรม ด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง หรือ TIME (Total Innovation Management Enterprise)

ซึ่ง TIME ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงรูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีความรู้เชิงวิชาการ ควบคู่ไปพร้อมกับทักษะด้านอุตสาหกรรมพัฒนา ตลอดจนสร้างรูปแบบการทำงาน อันก่อให้เกิดการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน การสร้างและการนำไปใช้ประโยชน์ขององค์ความรู้ จนนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เร่งเพิ่มทักษะครูอาชีวะ

“สำหรับคุณสมบัติครูอาชีวะในยุคปัจจุบันนั้น ต้องมีทักษะในเชิงฟาซิลิเทเทอร์ (Facilitator) หรือ ผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ที่สำคัญของนักเรียน ทั้งในแง่ของการให้องค์ความรู้ทางวิชาการแก่นักเรียน และการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ที่มีสมรรถนะความสามารถสูง จากสถานประกอบการ

เพราะฉะนั้นแล้วสถาบันการผลิตครูอาชีวะ ควรที่จะส่งเสริมให้มีการ Up-Skill Re-Skill และ Add-Skill ทักษะของครูอาชีวะ ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อพัฒนาทั้งหลักสูตรและความสามารถให้ไปควบคู่กัน นำไปสู่การขยายผลต่อการพัฒนาบัณฑิตอาชีวะให้มีศักยภาพสอดรับกับความต้องการของสถานประกอบการในประเทศ” รศ. ดร. ศักรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ www.thaiedreform2022.org , เฟซบุ๊กแฟนเพจ Thaiedreform2022 , ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ Thaiedreform22

บทความแนะนำ