คุณพ่อ คุณแม่ เคยสังเกตเด็กๆ กันหรือเปล่า ว่าตอนเริ่มเข้าโรงเรียนใหม่ๆ ลูกๆ ของคุณเรียนเป็นอย่างไร ได้ทำอะไรบ้างที่โรงเรียน หรือว่ามีนิสัยอย่างไรเมื่อเจอคนใหม่ๆ ซึ่งสำหรับเด็กๆ บางคนอาจจะรู้สึกสนุก ชอบไปกับสิ่งใหม่ๆ แต่เด็กบางคนอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น และนอกจากนี้ยังส่งผลทำให้เด็กเรียนได้ไม่ดีอีกด้วย
เด็กที่เข้าเรียนเร็ว มีผลเสียมากกว่าผลดี
นักวิชาการและนักจิตวิทยาหลายท่าน เช่น David Elkind, Meredith Robinson และ Dr. William D. Rohwer มีความคิดเห็นที่ตรงกันว่า “เด็กที่อายุยังน้อย หรือเข้าเรียนตอนที่ยังไม่พร้อมจะทำให้มีผลเสียมากกว่าผลดี พวกเขามีโอกาสสอบตกเรียนซ้ำชั้นมากกว่าเด็กที่เข้าเรียนช้า หรือเลิกเรียนกลางคันก่อนจะจบการศึกษา”
อย่างคำกล่าวของ Dr. J T Fisher อดีตคณบดีจิตแพทย์ของอเมริกา “ถึงแม้ว่าเด็กจะเริ่มเรียนตอนเป็นหนุ่มสาวแล้ว แต่พวกเขาก็สามารถเรียนทันเหมือนกับเด็กที่เริ่มเรียนตอน อายุ 5-6 ปี เพราะตัวผมก็เริ่มเรียนเมื่ออายุ 13 ปี และก็มีผลสำเร็จในชีวิตตามที่ปรากฏดังเช่นทุกวันนี้”
ซึ่งความพร้อมของเด็กแต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเพศเดียวกันและในวัยเดียวกันก็ตาม เหมือนกับผลไม้ต้นเดียวกันแต่สุกไม่พร้อมกัน การยัดเยียดให้เด็กที่ยังไม่พร้อมเข้าโรงเรียน ก็เปรียบเสมือนไปเร่งเด็ดผลไม้ที่ยังไม่สุก แล้วนำมาทาน ทำให้ได้รสชาติที่ไม่อร่อยมีรสชาติฝาดๆ ไม่หวานเท่าที่ควร
เปรียบได้เหมือนระบบการศึกษาในชั้นประถมศึกษาของไทย ที่กำหนดให้เด็กที่ถึงเกณฑ์เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีรูปแบบและเนื้อหาเดียวกันหมด ไม่ว่าเด็กจะมีพื้นฐานชีวิตจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกันตามภูมิหลังของสังคมหรือครอบครัวเพียงใดก็ตาม ทุกคนต้องเดินไปตามเส้นทางการศึกษาที่กำหนดไว้อย่างจำกัด ซึ่งหากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่า เป็นการบั่นทอนลักษณะสร้างสรรค์ของเด็กโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กที่ไม่พร้อมเกิดความเครียด ขาดความมั่นใจในตัวเอง เมื่อโตขึ้นมาเขาอาจจะเบื่อการศึกษาและไม่อยากไปเรียนหนังสือเลยก็เป็นได้
หากเด็กๆ อยากไปเรียนหนังสือเองโดยที่ไม่มีใครมาบังคับ หรือได้ไปโรงเรียนในช่วงที่เวลาที่เขาพร้อมเรียนรู้จริงๆ ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะการศึกษาจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ปัจจัยสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่งของครู ความดังของโรงเรียน หรือความทันสมัยของเทคโนโลยีในห้องเรียนเสมอไป
ความพร้อมและความสนใจ ของเด็กต่างหากที่จะช่วยผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จ เมื่อเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ เขาก็จะทำมันได้ดี แต่เมื่อใดที่เขายังไม่พร้อมหรือไม่สนใจ สิ่งที่เรายัดเยียดให้อาจจะย้อนมาทำร้ายเขาได้ในภายหลังนะ
————————————————
ที่มา : www.doctor.or.th, www.wegointer.com และ taamkru.com