การศึกษา นักเรียน

ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน เน้นเรียนสนุก มิติการเรียนแบบใหม่(ของไทย) รร.สาธิต มธ.

Home / วาไรตี้ / ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน เน้นเรียนสนุก มิติการเรียนแบบใหม่(ของไทย) รร.สาธิต มธ.

เรียกได้ว่า เป็นมิติใหม่ของโรงเรียนในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ สำหรับ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Secondary School) ที่ได้ทำการเปิดการเรียนการสอนไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ในปีการศึกษา 2560 ซึ่งเป็นปีการศึกษาแรกที่ทางโรงเรียนได้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาอีกด้วย

เน้นให้นักเรียนค้นหาตัวเอง มากกว่าเรียนเพื่อเกรด

ซึ่งความพิเศษของโรงเรียนแห่งนี้ ก็คือ นักเรียนของที่นี่ไม่ต้องแต่งชุดนักเรียนมาโรงเรียน โดยสามารถใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรม แต่ทั้งนี้ ทางโรงเรียนก็ยังมีชุดยูนิฟอร์มให้นักเรียนใส่อยู่ 2 วัน คือ วันจันทร์และวันพฤหัสบดี เพราะเนื่องจากทางหน้าโรงเรียนได้มีการจัดตลาด จึงได้ให้นักเรียนใส่ชุดยูนิฟอร์มของโรงเรียนมา เพื่อความสะดวกในการดูแล โดยชุดยูนิฟอร์มของโรงเรียน เสื้อยืดคอโปโลสีขาว ที่มีตราธรรมจักรอยู่ที่กระเป๋าด้านซ้าย

หลักสูตรการสอน

แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มประสบการณ์เรียนรู้ ได้แก่

1. วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics)

2. มนุษย์กับสังคม (People and Society)

3. ภาษาและการสื่อสาร (Communication and Language)

4. สุขภาพและสุขภาวะ (Health and Well-being)

5. สุนทรียะทางศิลปะ (Appreciation of Arts)

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเรียนการสอนของโรงเรียน

สำหรับการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเน้นที่จะให้นักเรียนได้รู้จักวิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้และได้ลงมือทำจริงๆ ซึ่งนักเรียนจะไม่ได้เรียนอยู่แค่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการเรียนรู้นอกสถานที่ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นและสัมผัสถึงการเรียนรู้จริงๆ ได้ฝึกสังเกต ฝึกตั้งคำถาม ก็จะทำให้นักเรียนมีความสุข ตื่นเต้น อยากรู้ และค้นหาความรู้ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการเรียนกับลูกๆ ได้อีกด้วย และที่สำคัญการเมินการเรียนรู้ของนักเรียนที่นี่ ไม่ได้วัดผลจากเด็กที่ได้เกรด 4 แต่จะเป็นคำพูดอธิบายให้กับผุ้ปกครองฟังถึงความก้าวหน้าของเด็กๆ แต่ละคนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนักเรียนที่ต้องการนำผลการประเมินการเรียนรู้ไปสมัครเข้าศึกษาต่อที่อื่น ทางโรงเรียนก็สามารถที่จะออกเป็นเกรดเฉลี่ยให้ได้เช่นกัน

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน

แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. การประเมินก่อนกิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการพูดคุยสนทนาหรือใช้แบบทดสอบ เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจก่อนกิจกรรมการเรียนรู้ เก็บข้อมูลและค้นหาว่า ผู้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียน สิ่งที่รู้ถูกต้องหรือไม่ หรือใช้เพื่อหาสาเหตุของปัญหาหรืออุปสรรคต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนรายบุคคล เพื่อปรับปรุงให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาและเรียนรู้ขั้นต่อไป

2. การประเมินระหว่างกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ศักยภาพในการเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่การพัฒนาตนเอง เช่น การให้ข้อแนะนำข้อสังเกตในการนำเสนอผลงาน การพูดคุยระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล การสัมภาษณ์ ตลอดจนการวิเคราะห์ผลงาน

3. การประเมินหลังการเรียนรู้ เน้นกระบวนการสะท้อนการเรียนรู้หรือสรุปบทเรียนร่วมกัน ด้วยกระบวนการ AAR (After Action Reflection) เพื่อให้ครูผู้สอนและผู้เรียนทบทวนผลการพัฒนาของตน เพื่อนำผลไปออกแบบกระบวนการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนทั้งรายบุคคล รายกลุ่ม และรายชั้นเรียน และเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบกับการประเมินก่อนการทำกิจกรรมการเรียนรู้

ทั้งนี้ ทางโรงเรียน ยังได้ทำการเปิดให้นักเรียนสามารถเลือกเข้าชมรมที่ต้องการได้อีกด้วย เช่น ชมรมอาร์ต ชมรมนวัตกร และชมรมทางด้านดนตรี หรือกีฬาที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ เป็นต้น ซึ่งจะได้เรียนวันละ 1 ชั่วโมง ในวันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำถามเกี่ยวกับ สาธิต มธ.

1. เป็น ร.ร. อินเตอร์?

– รร. สาธิตฯ มธ. ไม่ใช่อินเตอร์ แต่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์เจ้าของภาษา ทำการสอน รวมทั้งมีการจัดชั่วโมงการเรียนรู้และฝึกฝนให้เด็กสามารถสื่อสาร ฟัง-พูด-อ่านเขียน ได้ดี

– รร. สาธิตฯ มธ. เป็นหลักสูตรภาษาไทย แต่มีอาจารย์ชาวต่างชาติประจำโรงเรียนหลายท่านเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ทุกห้องใช้หลักสูตรเดียวกัน ไม่มีการแยกห้อง EP หรือ สสวท. แต่ทุกห้องจะได้รับการพัฒนาในมาตรฐานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี และมีทักษะทางวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ซึ่งเป็นทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล

2. รายละเอียด เกี่ยวกับหลักสูตรและวิชาต่างๆ เป็นอย่างไร?

– แบ่งเป็น 5 กลุ่มประสบการณ์เรียนรู้ ได้แก่

1. วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
2. มนุษย์กับสังคม
3. ภาษาและการสื่อสาร
4. สุขภาพและสุขภาวะ
5. สุนทรียะทางศิลปะ

– ส่งเสริมให้เด็กเป็น Active Learners และสามารถกำกับทิศทางการเรียนรู้ของตนเองได้ โดยระดับมัธยมต้น เน้นการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้เด็กค้นพบความถนัดความสนใจของตนเอง เพื่อก้าวสู่ระดับมัธยมปลายอย่างมีทิศทาง

– จำนวนเด็กนักเรียนไม่เกิน 30 คน/ห้อง ครูจึงสามารถให้ความสนใจกับปัญหาและพัฒนาการของเด็กเป็นรายบุคคล ส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนพัฒนาศักยภาพสูงสุด ตามความถนัดความสนใจ โดยนอกจากการเรียนทางด้านวิชาการที่มีอาจารย์ระดับปริญญาโทและเอกเช่นเดียวกับที่สอนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว โรงเรียนมีห้องปฏิบัติการและให้เวลาเต็มที่กับการให้เด็กทุกกลุ่มได้ลงมือทำงานตามความสนใจ ไม่ว่าทางด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ภาษา คอมพิวเตอร์ หอดูดาว โดยเฉพาะงานช่างฝีมือต่างๆ ที่เป็นโมเดลจากโรงเรียนมัธยมในต่างประเทศ ที่เป็นมัธยมกึ่งอาชีวะ เพื่อส่งเสริมให้เด็กทดลองประกอบอาชีพที่สนใจได้จริง

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. ค่าเล่าเรียน รวมค่าอาหารกลางวันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วยหรือไม่?

– เป็นค่าเล่าเรียนโดยไม่รวมค่าใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ ค่าหนังสือเรียน ค่าอาหาร ค่ากิจกรรมพัฒนานักเรียน ฯลฯ

4. ข้อสอบเป็นแบบไหน? ต้องติวไหม? พ่อ-แม่ต้องสอบด้วยหรือไม่?

– ข้อสอบเด็กเป็นข้อสอบวัดทักษะการคิดเเละการให้เหตุผลขั้นพื้นฐานของผู้เรียน ทั่วๆ ไป ไม่ได้เน้นเนื้อหาวิชาการ ไม่ต้องติว

– ข้อสอบข้อเขียนมีเพื่อวัดทักษะการคิดเเละการให้เหตุผลขั้นพื้นฐานของผู้เรียน ตัวชุดข้อสอบ ไม่ได้มุ่งเน้นการวัดความรู้ที่เกิดจากการท่องจำ เเต่วัดการใช้ตรรกะ โดยเน้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล จากข้อมูลพื้นฐานหรือเงื่อนไขบางอย่างที่กำหนดให้ ชุดข้อสอบประกอบด้วยการวัดทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการคิดคำนวณ ด้านมิติสัมพันธ์ และด้านการสื่อสารและภาษา

– ในส่วนของผู้ปกครอง เป็นเเบบสอบถามทัศนคติเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาศักยภาพของบุตรธิดาและการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้กับทางโรงเรียน

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อมูลและภาพจาก : FB โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Youtube MIND WORK CHANNELhttp://satit.tu.ac.th