issue54 พยาบาลสาวสวย เน็ต-กันยารัตน์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

เปิดหัวใจพยาบาลสาวหน้าหวาน เน็ต-กันยารัตน์ ที่หนุ่มๆ อยากให้มาพยาบาลหัวใจ!

Home / วาไรตี้ / เปิดหัวใจพยาบาลสาวหน้าหวาน เน็ต-กันยารัตน์ ที่หนุ่มๆ อยากให้มาพยาบาลหัวใจ!

สาวหน้าหวาน ยิ้มทีละลายหัวใจหนุ่มๆ เน็ต-กันยารัตน์ จารุศิริชัยกุล ด้วยรูปร่างหน้าตาจิ้มลิ้มน่ารัก ใครอาจจะคิดว่าเธอเป็นนางแบบหน้าใสในวงการบันเทิง แต่จริงๆ แล้วเธอเป็นพยาบาลสาวสวยคนเก่งของโรงพยาบาลอันดับหนึ่งของประเทศอย่างโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ด้วยการเติบโตจากการได้ใกล้ชิดดูแลคุณปู่คุณย่าที่บ้านมาตั้งแต่เด็ก หล่อหลอมให้สาวสวยคนนี้รักที่จะช่วยเหลือคนอื่น มุ่งมั่นเข้าเรียนคณะพยาบาลศาสตร์ ที่มหิดล และได้เป็นพยาบาลวิชาชีพสมใจจนถึงทุกวันนี้

เน็ต-กันยารัตน์

เปิดหัวใจพยาบาลสาวหน้าหวาน

INSPIRATION

เริ่มต้นจากการเป็นลูกคนเล็กที่ชอบดูแลเทคแคร์ผู้คนรอบข้าง และการได้เห็นการทำงานของพี่สาวคนโตที่เป็นพยาบาลเหมือนกัน ทำให้เน็ตตัดสินใจสอบตรงเข้าคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลด้วยความมั่นใจว่าวิชาชีพนี้แหละจะเป็นวิชาชีพที่ใช่ของตัวเองต่อไปในอนาคต

IMPORTANT IN A CAREER

“เราได้เห็นว่าพี่สาวเขาเหนื่อยแค่ไหน ต้องทำอะไรบ้าง แต่ก็ยังอยากเรียนอยู่ ก็สอบติดตรงที่พยาบาล มหิดลเลย พอไปเรียนก็รู้สึกว่าคุ้มมาก ไม่คิดว่าเรียนพยาบาลจะคุ้มขนาดนี้ คือได้เรียนตั้งแต่การพยาบาลเด็กทารกแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ ได้เรียนกฎหมายวิชาชีพด้วย สำหรับเน็ตอาชีพนี้มันคือใช่ ถึงแม้ช่วงที่เรียนมันก็มีท้อบ้าง เพราะวิชาเรียนมันจะไม่ฟรีสไตล์เหมือนเด็กคณะอื่นๆ ที่คุณจะตื่นสายได้ ปี 3-4 คือใส่ชุดพยาบาลมากกว่าชุดนักศึกษา คุณต้องขึ้นวอร์ด รับผิดชอบเคส ไปออกต่างจังหวัด เหมือนชีวิตคนทำงานจริงๆ แต่เน็ตชอบตรงทำให้เราได้ประสบการณ์อะไรเร็วกว่าคนที่อายุเท่านี้ แต่เราได้มากกว่าคนอื่น

พอเรียนจบก็เข้าทำงานใช้ทุนที่ศิริราชเลย ไปอยู่แผนกผู้ป่วยพิเศษ ที่เป็นผู้ป่วยทางศัลยศาสตร์ที่เข้ารับการผ่าตัดรักษา เน็ตสนใจทางด้านศัลยศาสตร์ รู้สึกมันตรงไปตรงมาดี ว่าก่อนผ่าตัดต้องเตรียมตัวยังไง หลังผ่าตัดต้องเทคแคร์ผู้ป่วยยังไง ทำงานช่วงแรก เข้าใจเลยว่างานพยาบาลมันไม่ใช่งานแบบรูทีนที่ทำตามแพทย์ออเดอร์ไปวันๆ แต่มันมีมากกว่านั้น เราต้องลำดับความคิดในหัวเยอะมาก ตอนแรกยอมรับว่ามีปัญหาบริหารจัดการตัวเองไม่ถูก แต่ก็ต้องขอบคุณพี่ๆ พยาบาลมากที่คอยแนะนำและเป็นแบบอย่างที่ดีให้เรา

ก็ทำอยู่ได้สองปีครึ่ง แล้วก็ลองย้ายมาที่แผนก OPD ที่ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งก็ได้ต้องเรียนรู้งานผู้ป่วยนอก และปรับตัวกับระบบของโรงพยาบาลใหม่ ตอนนี้ก็อยากจะเก็บประสบการณ์ต่อไปเรื่อยๆ อย่างเร็วๆ นี้ทางโรงพยาบาลกำลังจะเปิดศูนย์เซ็นเตอร์เฉพาะทางเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมันจะมีในส่วนที่จะต้องส่งผ่าตัดเล็กด้วย ก็น่าจะได้ทำตรงนี้ด้วยเลย ในอายุขนาดนี้กับประสบการณ์ตรงนี้ คิดว่าคุ้ม ก็จะพยายามเก็บเกี่ยวให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป”

HOW TO WORK

ปรับสุขภาพทั้งกายและใจของตัวเองด้วย 

“ตอนที่ทำอยู่วอร์ดพิเศษในเคสของคนไข้หนักๆ มันก็มีความเหนื่อยตรงที่เราเดาไม่ถูกว่าทำงานแต่ละวัน แต่ละเวรจะเกิดอะไรขึ้น สมมุติ ผ่าตัดกลับมาพักฟื้นเรียบร้อย แต่ใครจะไปรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นอีก เรามองผ่านไม่ได้เพราะห้องก็เป็นห้องปิด บางทีญาติและคนไข้ก็ไม่รู้ เคสๆ หนึ่งเป็นอะไรไป เขาอยู่ในมือของเรา ก่อนจะถึงหมอ หมอจะรู้มั้ย ก็เป็นเรานี่แหละ การบริหารจัดการอยู่ที่เราหมดเลย อย่างตอนทำงานได้ปีครึ่ง ก็ได้เป็นหัวหน้าทีมดูแลน้องๆ ก็มีความกังวลมาก (ยิ้ม) กลัวทั้งน้องและเราว่าจะทำงาน Complete หรือเปล่า

แล้วการอยู่วอร์ดจะมีบางวันที่ทำสองเวร ก็คือควบได้มากสุดสองเวร เวรละ 8 ชม. แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางทีอัตรากำลังคนไม่พอ บางวันก็จะเกินถึง 22 ชม. 4-5 วันทำงานติดกัน เราก็ต้องปรับตัวเรื่องการนอน ดูแลสุขภาพ มีเวลาก็ต้องรีบพักผ่อนทันที อีกอย่างคือด้วยความที่อยู่แต่ในโรงพยาบาลที่อาจจะเจอเชื้อโรคมากกว่าคนอื่น ก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง ถ้าจะทำหัตถการอย่างดูดเสมหะคนไข้ก็ต้องใส่แมสป้องกัน จะหยิบจับอย่างปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งเลือดก็ต้องใส่ถุงมือ แต่เน็ตว่าทุกอาชีพเหนื่อยหมด ก็มีเหมือนกันเคยคิดว่า โอ้ย ทำไมเราต้องมาอยู่เวรเช้าบ่ายดึกแบบนี้ แต่พอเห็นแพทย์เขาทำงานแล้วเขาหนักกว่าเราอีก เขายังทำได้เลย เราก็ต้องทำได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการตัวเองของเรามากกว่า”

เคสประทับใจให้คนไข้ได้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง 

“เคสประทับใจมีหลายเคสมากๆ อย่างตอนอยู่วอร์ด ทำงานแรกๆ เคยมีเคสหนึ่งที่หัวใจคนไข้หยุดเต้น แต่เป็นวอร์ดตรงข้ามกับเรา แล้วตอนนั้นเวรดึก พยาบาลก็น้อย เราก็วิ่งไปช่วยพี่เขา แต่เรายังเป็นแค่พยาบาลน้องใหม่ จบไม่ถึงปี ก็ยืนงง ไม่รู้จะทำอะไรดี แต่พี่ๆ เขาก็ซัพพอร์ตบอกให้เราทำดู บอกว่าทำได้ อบรมมาแล้ว แล้วคือพอทำไปแล้วกลับกลายเป็นว่าปั้มหัวใจกลับมาได้ เขาก็ได้กลับบ้าน หลังจากนั้นเขาก็กลับมาที่โรงพยาบาลดูดีเลย เดินมาขอบคุณเรา ก็รู้สึกดีมากๆ”

กำไรชีวิตจากวิชาชีพพยาบาล

“ตลอดสามปีที่ทำงานมา มันทำให้เราได้ความรู้บางอย่างที่เพิ่มขึ้น เหมือนเป็นกำไรชีวิตนะ “ใจเขาใจเรา” เข้าใจคำนี้ชัดเจนมาก ได้ฝึกความอดทน ฝึกการรู้จักมองคนอื่น อย่างที่บอกว่า งานพยาบาลมันไม่ใช่แค่ทำรูทีนตามแพทย์ออเดอร์ไปวันๆ แต่เราต้องมองถึงการดูแลคนๆ หนึ่ง ทั้งร่างกาย สภาพจิตใจ และสังคมของคนๆ นั้นแล้วเอามาบาลานซ์กัน บางทีการที่เราได้เห็นคนๆ หนึ่งมาพูดนั่นนี่โวยวายใส่เรา ถ้าเป็นเมื่อก่อนเน็ตคงรู้สึกหงุดหงิดแล้ว ทำไมคุณต้องมาพูดแบบนี้ แต่คือพอเรามาเป็นพยาบาล เราก็เริ่มใจเย็นลง และมองในมุมของคนอื่นมากขึ้นว่าเขาคงมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เขาคิดหรือแสดงออกมาแบบนี้”

THINKING TO CAMPUS

“ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย อยากให้น้องๆ ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าชอบอะไร แต่ถ้าคำว่าชอบอะไรสำหรับบางคนยังตอบไม่ได้ งั้นให้เปลี่ยนคำถามใหม่ ให้ถามตัวเองว่าเราทำอะไรแล้วมีความสุข ทำอะไรแล้วแอคทีฟอยากจะทำสิ่งนั้น มันจะเป็นไกด์ไลน์ที่จะทำให้เราเลือกคณะที่เราชอบได้

ส่วนถ้าคนไหนสนใจอยากเรียนพยาบาลจริงๆ ก็ขอให้อย่าไปกลัวว่างานพยาบาลมันจะเหนื่อย มันต้องอยู่กับสิ่งสกปรก เชื้อโรค คือชีวิตมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น อย่างที่เน็ตทำอยู่ทุกวันนี้ เหนื่อยมันก็มีกันอยู่แล้ว ก็บ่นกันเป็นปกติ แต่ถามว่าแฮปปี้มั้ย ในความเหนื่อยเราได้อะไรกลับมามั้ย เราได้กำไรชีวิตกลับมามั้ย วิชาชีพนี้ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน เน็ตเชื่อว่าได้ตรงนี้กลับมาแน่นอน”

เครดิตภาพจาก Facebook : Net Jarusirichaikul

 

ติดตามได้ในคอลัมน์ Worker นิตยสาร Campus Star No.54

www.facebook.com/campusstar