แคมปัส-สตาร์ ดาวเด่น ขอพาไปทำความรู้จักสาวสุดคิวท์ “อันอัน อัญชิสา” นิสิตภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แอดมินเพจ สองอัน (2an.) เจ้าของผลงานภาพวาดแสดงอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 “kingbhumibol” 2559 ซึ่งลายเส้นการวาดภาพของเธอนั้นน่ารักโดนใจจนชาวโซเชียลต้องกดไลค์และแชร์เป็นจำนวนมาก วันนี้เราจะมาพูดคุยกับเธอในเรื่องแรงบันดาลใจในการวาดภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 และ การเรียนด้านภูมิสถาปัตยกรรม สำหรับน้องๆ ที่ชื่นชอบในการวาดภาพ และสนใจอยากเรียนด้านภูมิสถาปัตยกรรม มาอ่านบทสัมภาษณ์นี้เพื่อเป็นแนวทางได้นะคะ
นิสิตภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาฯ นักวาดภาพลายเส้นน่ารัก
เจ้าของผลงาน “kingbhumibol” แชร์เทคนิคการเรียนภูมิสถาปัตยกรรม
1. แนะนำตัวกับเพื่อนๆ ชาวแคมปัส-สตาร์ หน่อยค่ะ
สวัสดีค่ะ ชื่อ “อัญชิสา ติระชูศักดิ์” นะคะ ชื่อเล่น “อันอัน” ค่ะ ตอนนี้เรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาภูมิสถาปัตยกรรม ชั้นปีที่ 5 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ
2. สาขาภูมิสถาปัตยกรรม เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง?
หลักๆ เลยก็จะได้เรียน ภูมิสถาปนิก เป็นภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นสาขาวิชาหนึ่งในคณะสถาปัตย์ค่ะ ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปีด้วยกัน เริ่มเรียนเนื้อหาของภาควิชาตอนปี 2 ในส่วนของการเรียน จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ใช้งานบริเวณภายนอกอาคาร หรือที่เรียกวา Open Space มีตั้งแต่ออกแบบสวนบ้านขนาดเล็กๆ รีสอร์ท หมู่บ้าน มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก อุทยาน พื้นที่ชุ่มน้ำ ไปจนถึงการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานพื้นที่นอกอาคาร และการปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล นอกจากความรู้ต่างๆ ที่พูดมาแล้ว คณะสถาปัตย์ยังสอนให้เรารู้จักแบ่งเวลาให้เป็นด้วยค่ะ ไม่ใช่เน้นเรียนเพียงอย่างเดียว หรือว่าทำกิจกรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยสอนให้เราจัดการตารางชีวิต สิ่งต่างๆ ได้อย่างสมดุลด้วย
3. การสอบเข้า ภูมิสถาปัตยกรรม ไม่จำเป็นต้องวาดรูปเก่ง
ถ้าน้องๆ มีความรู้พื้นฐานเรื่องต้นไม้ชนิดต่างๆ มาก่อนจะดีมาก หรือพอเห็นแล้วรู้ว่านี่คือต้นอะไรก็ถือว่าเป็นพื้นฐานได้แล้วค่ะ
“การสอบเข้าคณะนี้ไม่จำเป็นต้องวาดรูปเก่ง
แต่ควรจะฝึกวิเคราะห์ และตีโจทย์ให้เป็น
รู้จักเลือกมุมมองที่จะใช้นำเสนอ”
ยกตัวอย่างเช่น การหยิบยกเหตุการณ์ และบรรยากาศขึ้นมาวาดภาพ Perspective จากโจทย์ที่มีเนื้อหายาวเป็นหน้ากระดาษ แต่ไม่ใช่ว่าจะปล่อยตัวปล่อยใจไม่อ่านหนังสือ มาฝึกวาดอย่างเดียวนะคะ ต้องโฟกัสที่เนื้อหาวิชาการด้วย เพราะในส่วนของข้อสอบมีวิชา Pat 4 คือการสอบพาร์ทความถนัดทางวิชาชีพนั่นเองค่ะ เตรียมตัวให้พร้อม เมื่อถึงวันสอบก็มั่นใจแล้วทำให้เต็มที่ แล้วก็อย่าลืมแบ่งเวลาทำข้อสอบให้ดีๆ ด้วยนะคะ จะได้ทำข้อสอบได้ทันเวลา >//<
4. เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ 2an.
2an.ชื่อเพจอ่านว่า อ่านว่า สองอัน นะคะ มาจากเพื่อนชอบเรียกเราว่า อันอัน แล้วเพื่อนเรียกกันไปเรียกกันมาเริ่มเพี้ยนไปเรื่อยๆ จนได้ชื่อว่า สองอัน มา ซึ่งเราก็รู้สึกว่า น่ารักดีนะชื่อนี้ เลยเอามาใช้เป็นชื่อในภาพที่วาดค่ะ จนหลังๆ เริ่มมีภาพวาดเยอะขึ้น อยากจะเปิดเพจไว้เป็นเหมือน Portfolio และเก็บผลงานเราด้วย ก็เลยเลือกชื่อนี้แหละเป็นลายเซ็นต์ และเป็นชื่อเพจด้วย ^^
5. เล่าถึง แรงบันดาลใจในการวาดภาพ “kingbhumibol” 2559
ปกติเป็นคนที่ชอบวาดภาพ ชอบบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ที่เจอเป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ แต่การเล่าเหตุการณ์แต่ละเรื่องในไดอารี่ ส่วนใหญ่จะเป็นการวาดภาพแล้วเขียนบรรยายสั้นๆ แทรกไปมากกว่า เพราะเหมือนตัวภาพที่เราวาดมันสามารถเล่าเรื่องด้วยตัวมันเอง หรือสะกิดความจำเราให้นึกย้อนกลับไปได้ จบในภาพเดียวไม่ต้องอ่านเยอะค่ะ
สำหรับคอนเซปท์ในการวาดครั้งนี้ คือ ตั้งใจจะวาดภาพ Portrait ออกมาในลักษณะแบบลดทอนเส้น และสีจากภาพต้นแบบซึ่งภาพต้นแบบที่เราเลือก จะพยายามเลือกภาพถ่ายที่ยังไม่ค่อยเห็นคนเลือกมาใช้ค่ะ โดยธีมสีที่เลือกมาใช้จะเป็นโทนสีน้ำเงิน/กรมท่า ที่จะมีความเรียบง่าย สงบ และดูมีความคลาสสิค ส่วนสีของพื้นหลังที่หยิบมาใช้นั้น ด้วยความที่เราอยากจะวาดภาพพระองค์ท่านเก็บไว้ในโทนสีที่ดูไม่เศร้า ไม่ให้ความรู้สึกหม่นหมอง จึงเลือกใช้โทนสีพาสเทล น่ารักๆ อย่างสีเหลือง สีชมพู สีฟ้า ค่ะ ^^
6. อุปกรณ์ที่ใช้ในการวาดภาพ
ชอบใช้เม้าส์ปากกา กับโปรแกรม Adobe illustrator ค่ะ แต่ละภาพที่วาดก็จะใช้เวลาคร่าวๆ ประมาน 2 – 3 ชม. ขึ้นอยู่กับรายละเอียด และความพอใจในชิ้นงานของตัวเราเองในแต่ละภาพด้วยค่ะ
7. ภาพไหนที่ตัวเราเองชอบมากที่สุด
ชอบภาพที่พระองค์ทรงชุดราชปะแตน โจงสีแดง ประทับอยู่ที่ใต้ต้นไม้ค่ะ ส่วนตัวชอบ การจัดองค์ประกอบและบรรยากาศของภาพต้นแบบมากค่ะ เป็นมุมเผลอที่มีใบไม้ปิดบางส่วนของพระพักตร์ แบบว่าดูแล้วมีความเท่และฮิปสเตอร์มากๆค่ะ
8. ผลงานเป็นที่ชื่นชอบ อยากบอกอะไรกับคนที่ติดตามเราอยู่บ้าง?
ไม่คิดมาก่อนเลยจริงๆ ว่าภาพที่เราวาดจะได้รับความสนใจจากคนขนาดนี้ รู้สึกดีใจที่เห็นหลายๆคนชอบผลงานที่เราวาดออกมา ถึงแม้เพจเราจะเป็นหนึ่งเพจเล็กๆ แต่ก็ยังมีคนเข้ามาชื่นชม ให้กำลังใจแล้วก็ติดตาม ยังไงก็ ขอขอบคุณทุกคนมากๆ มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ นอกจากงานชิ้นนี้ ก็มีงานที่ทดลองวาดด้วยเทคนิคอื่นๆ ด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นภาพลายเส้นปากกาแบบง่ายๆ อย่างเช่น ภาพสีน้ำสเก็ตช์บุค (Sketchbook) มีงานแบบดิจิตอลอาร์ต (Digital art) บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะใช้วาดพวกคาแรคเตอร์ ดีไซน์ (Charactor Design) เช่น พวกสติกเกอร์ไลน์ หรือวาดพวกตัวการ์ตูน ค่ะ กำลังใจที่ได้จากการวาดภาพในครั้งนี้ ทำให้เราอยากแบ่งปันความสุขจากการวาดของเรา ให้คนอื่นไปเรื่อยๆ ยังไงก็ขอฝากทุกคนติดตามผลงานด้วยนะคะ
9.ช่องทางการติดตาม
ติดตามผลงานได้ทั้งทาง FB Page:: 2an. และ IG:: an.2an_doodle
ภาพผลงาน “kingbhumibol 2559”
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ
บทสัมภาษณ์โดย เว็บไซต์แคมปัส-สตาร์ ดอทคอม ภาพได้รับการอนุญาตแล้ว ขอบคุณ “น้องอันอัน” ด้วยนะคะ ^^
**เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ หลักสูตรการเรียน ภูมิสถาปัตยกรรม**
หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ภ.สถ.ม.) Master of Landscape Architecture (M.L.A) เป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับศิลปะของการออกแบบ การวางแผน และการจัดการผืนแผ่นดิน ทั้งในพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ในเมือง โดยใช้ความรู้ทางวัฒนธรรม และทางวิทยาศาสตร์ คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อสนองต่อประโยชน์ใช้สอยและความรื่นรมย์
งานภูมิสถาปัตยกรรม เกี่ยวข้องกับงานหลายขนาด ตั้งแต่สวนขนาดเล็ก งานวางผัง งานวางแผนจัดการ พื้นที่ขนาดใหญ่หลายตารางกิโลเมตร ภูมิสถาปนิกจึงต้องมีความสามารถที่จะศึกษา วิเคราะห์และแก้ปัญหาในงานออกแบบ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของงานออกแบบชิ้นนั้นกับธรรมชาติด้วย ให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานในหลายๆวิชา ได้แก่ ศิลปะ สถาปัตยกรรม วิศวกรรมโยธา นิเวศวิทยา สังคมวิทยา ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา และความรู้ทางพืชสวนด้วย
ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร สามารถประกอบวิชาชีพในฐานะภูมิสถาปนิก หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตยกรรม ทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชนได้อย่างกว้างขวาง โดยสามารถทำการออกแบบตั้งแต่งานขนาดเล็ก เช่นการตกแต่งบริเวณพื้นที่เล็กๆ ไปจนถึงงานขนาดใหญ่ เช่นการวิเคราะห์และการวางแผนจัดการทรัพยากร
อาชีพที่เกี่ยวกับภูมิสถาปัตยกรรม เช่น ผู้จัดการดูแลภูมิสถาปัตยกรรมขณะก่อสร้างหรือหลังก่อสร้าง นักวิจัย นักเขียนและนักวิจารณ์งานออกแบบ รวมถึงนักอนุรักษ์จัดการสิ่งแวดล้อมทั้งธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม
ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม มีการเรียนการสอน 2 ระดับ
ระดับปริญญาบัณฑิต
หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต เป็นหลักสูตรการศึกษา 5 ปี หรือ 10 ภาคการศึกษา ไม่เกิน 20 ภาคการศึกษา หรือ 10 ปี จำนวนหน่วยกิตรวม 177 หน่วยกิต แบ่งเนื้อหาเป็นหมวดการศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต หมวดวิชาเฉพาะ 141 หน่วยกิต และหมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต
ระดับปริญญามหาบัณฑิต
ผู้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จะต้องมีวุฒิปริญญาตรีในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์
หลักสูตรมหาบัณฑิตนี้มีจำนวนหน่วยกิตรวมทั้งสิ้น 36 หน่วยกิต แบ่งเป็น หมวดวิชาหลัก 15 หน่วยกิต หมวดวิชาเลือก 9 หน่วยกิต และวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต สำหรับผู้สมัครที่ได้รับปริญญาตรีจากสาขาอื่นที่ไม่ใช่ปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จะต้องเรียนวิชาพื้นฐานเพิ่มเติมอีก 12 หน่วยกิต ผู้สำเร็จการศึกษาได้ต้องมีหน่วยกิตสะสมครบตามหลักสูตร และสอบได้แต้มเฉลี่ยสะสม 3.00 ขึ้นไป
ดูข้อมูลเพิ่มเติม:: http://www.land.arch.chula.ac.th