สำหรับน้องๆ ที่กำลังเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เข้าเป็นนักศึกษาใหม่ของรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็คงกังวลกันอยู่ว่า เราจะต้องเจออะไรบ้าง? ต้องโดนรับน้องอย่างไรบ้าง? แล้วจะโดนรุ่นพี่แกล้งหรือไม่? ซึ่งในบทความนี้เราจะพาน้องๆ ย้อนกลับไปดูถึงประเพณีรับน้องในเมื่อสมัยอดีตของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ต้องขอบอกว่าเป็นประเพณีรับน้องที่น่ารักและสร้างสรรค์สุดๆ ไปเลย แล้วจะเหมือนการรับน้องในปัจจุบันหรือไม่ ต้องมาอ่านกันเองเลย
ประเพณีรับน้องในสมัยอดีต #UBU
ซึ่งในสมัยอดีตมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะแบ่งการรับน้องเป็นสองช่วงใหญ่ๆ คือ รับน้องรวมทั้งมหาวิทยาลัย (เชียร์กลาง) และรับน้องเป็นรายคณะ (เชียร์คณะ) จะเริ่มจัดขึ้นภายหลังจากเปิดเทอมและมีกำหนดเสร็จก่อนสอบกลางภาค และในทุกปีรุ่นพี่ ปี2- ปี4 จะจัดประชุมแบ่งงานเตรียมการรับน้องเชียร์กลางในช่วงก่อนเปิดเทอมภาคเรียนแรก โดยแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ ดังนี้
1. พี่สันทนาการ (ที่น่ารัก)
ส่วนใหญ่เป็นพี่ปี 2 เป็นหลัก หน้าที่สันทนาการทุกรูปแบบร้อง เล่น เต้น บ้า ร่าเริงเกินลิมิต ปรากฎตัวในทุกที่ เช่น สถานีรถไฟ ท่ารถบขส. มีอุปกรณ์ติดตัว รัวกลองรัวฉาบ ร้องเพลงรอขนกระเป๋าให้น้องๆ ปี 1 และรับน้องปี 1เดินทางเข้ามหาวิทยาลัย ร้องเพลงสร้างความบันเทิงในการเข้าห้องเชียร์ พวกนี้โลกสวย เฮฮา หน้าด้าน จินตนาการสูง… บางทีถึงขั้นโดนนายสถานีตำรวจรถไฟ เป่านกหวีดไล่ก็มี 555 หรือถูกตำรวจจับในข้อหาทำลายความสงบในพื้นที่สาธารณะตอนไปรับน้องนอกสถานที่ก็มีมาแล้ว
2. พี่พยาบาล (ผู้ใจดีมีเมตตา)
ปี2 – ปี4 (ส่วนใหญ่มาจากคณะเภสัช แพทย์ และสาธารณสุข) หน้าที่คือดูแลสวัสดิภาพทุกคนที่ร่วมในกิจกรรมเชียร์ พวกนี้ปิดทองหลังพระ ต้องดูแลพวกน้องใหม่ที่เป็นผลมาจากการกระทำ (อันน่าตกใจ) ของพี่วินัยและพี่ว๊ากนั่นเอง แต่น้องๆ ปี 1 จะรักมากเป็นพิเศษ บางทีก็ตกเป็นเครื่องมือ คือถูกพี่ว๊ากลากมาเชือดต่อหน้าเพื่อทำร้ายจิตใจน้องๆ (พี่ว๊ากซาดิส์มาก) เป็นพวกที่ถูกหมอ พยาบาลด่าทุกทีที่มีการนำน้องปี 1 ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเชียร์ไปส่งสถานพยาบาล
3. พี่สวัสดิการ
ปี 2 – ปี4 ทำหน้าที่ GB (General Bay) เจนเนอรอลเบ๊!!…. กรรมกรแบกหามวัสดุ อุปกรณ์ น้ำดื่ม ขนม อาหารการกิน ตลอดจนจัดเตรียม สถานที่จัดกิจกรรม ทุกสิ่งอันตลอดการเชียร์ และมักจะตกเป็นเป้าในการโจมตีของพี่ว๊ากอีกเช่นกัน เพื่อเรียกคะแนนให้ดูน่าสงสารจากน้องปี1 สวัสดิการ!!! พวกคุณ มัวทำอะไรทำไมช้า รู้ไหม น้องผมหิว! คุณทำให้น้องผมรอ สวัสดิการ!! สวัสดิการ! สวัสดิการ!… เรียกมันอยู่นั่นแหละตลอดการเชียร์ แต่ก็มีข้อดีคืออิ่มจากเศษขนม ที่น้องกินเหลืออยู่เสมอ 555+
4. พี่วินัย (ผู้ระเบียบจัด)
คือ ปี 3 ทุกคณะ หน้าที่คือตรวจความเรียบร้อยตาม “ระเบียบเชียร์” ได้แก่ เสื้อผ้า หน้าผม รองเท้า ป้ายชื่อสมุดเชียร์ จัดแถวนับจำนวน รับ-ส่งน้องปี1 จากหอในไปเข้าห้องเชียร์ทีโรงยิม (อาคารกีฬาอเนกประสงค์) มีความซีเรียสสูง ชอบสั่งให้ออกกำลังกายในระหว่างการเดินทาง (ที่ม.อุบลฯ แห่งนี้ ไม่ว่าพี่จะสั่งน้องทำอะไรลงโทษน้องอย่างไรรุ่นพี่เองก็ต้องปฎิบัติเองด้วย สั่งเองทำเองร่วมกันกับน้อง) น้องใหม่!! มองหน้าทำไมก้มหน้าลงไป (ประโยคหากินเขา) กอดคอสก๊อตจั๊มเท่าจำนวนรุ่น คูณด้วย 10 (สิบเท่ารุ่น ปฏิบัติ!!) สั่งเองตัวเองก็เหนื่อยเองไม่รู้จะสั่งทำไม!!
5. พี่เทคนิคเชียร์ (ผู้สุขุม อ่อนโยน)
คือ ปี2 – ปี4 ทุกคณะ หน้าที่คือสอนน้องร้องเพลงทุกเพลงที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย และทดสอบการร้องเพลง การคุมโทน ระดับเสียง พวกนี้เป็นพวกผู้ดี พูดเพราะ เสียงดี แต่ก็มีแอบกัดจิกน้องใหม่ตลอดการเชียร์… เช่น ร้องเพลงเร็วแบบนี้ไม่ทราบจะรีบไปตามควายที่ไหน!!!
6. พี่ลีดมหาวิทยาลัย
(ผู้เต้นมือเป็นระวิงคล้ายตำรวจจราจรบนเวที) คือ ปี2-ปี4 ที่เคยผ่านการเป็นลีดคณะและลีดกีฬาของมหาวิทยาลัยทุกคณะ หน้าที่คือแสดงท่าลีดเพื่อทดสอบบทเพลงในการสอบร้องเพลงเชียร์ของมหาวิทยาลัยทุกเพลง พวกนี้มีโอกาสทำท่าลีดผิดผลาดได้สูง แต่ทุกครั้งที่ตนเผลอทำท่าทางผิด หรือแสดงไม่พร้อม เพื่อนก็มักจะโทษว่าเป็นเพราะการร้องเพลงของน้องปี 1 เสมอ!! มักจะใจร้ายไม่ค่อยยอมให้น้องปี 1 ร้องเพลงผ่านไป ได้โดยง่าย (ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เหนื่อยแสนเหนื่อยในการที่ต้องเคลื่อนไหวท่าลีดซ้ำๆ วนไปวนมาจนเบลอและหลง อยู่บนเวทีจนกว่าจะมีคำสั่ง (จากพี่ว๊าก) ให้บอกน้องว่าผ่านได้
7. พี่ว๊าก (ชายชุดดำในตำนาน)
คือ ปี 4 คณะเกษตรและวิศวะเท่านั้น!!! หน้าที่คือ ไม่หล่อก็ต้องขอให้เท่ มักปรากฎตัวเป็นกลุ่มในชุดสีดำ ในยามที่น้องปี 1 กำลังรื่นรมย์ไปกับเพลงของสันทนาการและอาหารของสวัสดิการ พวกนี้ไม่ทราบไปอารมณ์เสียมาจากไหนชอบใช้เสียงสูงในการพูดคุยกับน้องใหม่ มีความปรารถนาในผลสัมฤทธิ์และพัฒนาการในทุกด้านๆ เช่น การแต่งกาย การมีสัมมาคารวะ การร้องเพลง จากน้องปี 1 สูง มักคิดเองเออเองว่าน้องปีหนึ่ง เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการตอบคำถามของพวกเขาได้ทุกข้อ คนพวกนี้นึกจะมาก็มา จะไปก็ไป ไม่มีการบอกกล่าว ประมาณว่า หล่อ เท่ โหด ดิบ เถื่อน รวมอยู่ในตัวคนพวกนี้ (คนหรืออะไร!!) น้องใหม่มองผมทำไม ผมไม่หล่อ ไม่สงสารผมเหรอที่พวกผมแต่งชุดดำมาวันนี้เพราะเพื่อนผมเพิ่งเสีย…. (พนันบอล) เมื่อคืน จะเอาฮาไปไหน ในห้องเชียร์ใครจะไปกล้าหัวเราะออก!!
โดยที่การรับน้องของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมของนักศึกษา และจัดโดยนักศึกษา แต่ทั้งหมดก็อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและให้คำปรึกษา โดยคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีการประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจและประเมินผลกิจกรรม ในทุกวันที่มีการจัดกิจกรรม โดยไม่มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายอย่างเด็ดขาด ไม่มีการสั่งลงโทษที่เป็นอันตรายหรือเกินกว่าเหตุ ไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ส่วนการรับน้องคณะ หรือเชียร์คณะนั้น จะมีขึ้นภายหลังจากเสร็จสิ้นเชียร์กลางแล้ว ส่วนระยะเวลา สถานที่ และรายละเอียดวิธีการต่างๆ แต่ละคณะจะแยกกันจัดเป็นการภายใน
แต่ว่าในปัจจุบันมหาวิทยาลัยอุบลราชธานียกเลิกประเพณีรับน้องแบบเดิม ที่เคยทำมาไปแล้ว และได้ทำการปรับเปลี่ยนเป็นกิจกรรมเพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่ โดยในแต่ละปีจะมีกิจกรรมที่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป แต่จะเน้นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ สร้างความสามัคคี และการมีส่วนร่วมแบบสมัครใจ ไม่บังคับ และไม่มีความรุนแรงทั้งในส่วนเชียร์กลางและเชียร์คณะ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย และนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการรับน้อง และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีการจัดงานพิธีบายศรีสู่ขวัญ เกศแก้วนิโรบล เอิ้นขวัญน้องใหม่ เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่เป็นประจำทุกปีการศึกษาเข้าสู่บ้านหลังใหม่ โดยมี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนชุมชน และนักศึกษาใหม่ เข้าร่วม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้ถือปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี และเป็นการรับขวัญน้องใหม่ สร้างความเป็นสิริมงคลก่อนเริ่มต้นการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
—————————————————————–
ข้อมูลและภาพ : ไร้สาระนุกรม (อัพเดทวันที่ 5 กันยายน 2559) และ www.ubu.ac.th