คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. ….) ฉบับผ่านการพิจารณากฤษฏีกา โดยมีทั้งหมด 101 มาตราด้วยกัน ซึ่งได้มีการระบุถึงวิธีการรับนักเรียน-นักศึกษาเข้าเรียนไว้ในกฎหมายด้วย พร้อมทั้งได้มีการเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาเป็นใบรับรองความเป็นครู และครูใหญ่สามารถแต่งตั้งคนที่ไม่ใช่ครูมาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ได้
ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ผ่านการพิจารณากฤษฏีกาแล้ว
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ทำการเปิดเผยผลการประชุม กอปศ. ว่า รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการใน กอปศ. ได้รายงานว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยล่าสุดมี 101 มาตราเท่าเดิมตามที่ กอปศ. ได้นำเสนอไปในตอนแรก และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีการทำหนังสือถามไปยัง กอปศ. และทาง กอปศ. ก็จะทำหนังสือยืนยันส่งกลับมาว่าเห็นด้วยตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งขั้นตอนต่อไปขึ้นอยู่กับทางนัฐบาล
พ.ร.บ.การศึกษาฯ มีสาระสำคัญ 29 ประเด็น
นอกจากนี้ รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการใน กอปศ. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา มีสาระสำคัญใหญ่ ๆ 29 ประเด็น เช่น การกำหนดเป้าหมายการศึกษาบนฐานสมรรถนะ, การแบ่งรายละเอียดเป็น 7 ช่วงวัยในการศึกษา, การจัดระบบหน้าที่และสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาให้มีความชัดเจนและสร้างการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม
ทั้งนี้ได้มีการให้หลักการการจัดการศึกษาของเอกชนว่า จะต้องเป็นไปโดยไม่แสวงหาผลกำไร เว้นแต่กฎหมายอนุญาตไว้ สถาบันการศึกษาเอกชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาทุกระดับ รัฐต้องจัดงบประมาณให้แก่ผู้เรียนที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาเอกชนให้เพียงพอกับนักเรียนทุกคน ให้ครูเอกชนได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับเงินเดือนของครูภาครัฐ โดยรัฐอาจจะมีการจัดเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้กับครูเอกชนไว้ด้วย
สถานศึกษา เป็นแหล่งการเรียนรู้ของประชาชนทุกคน
รศ.นพ.จิรุตม์ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลได้ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนมีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนด้วยเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สถานศึกษามีอิสระตามหลักเกณฑ์ แนวทาง เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมการบริหารกระบวนการจัดการเรียนรู้ การบริหารเงิน การใช้จ่าย การบริหารงานบุคลากร การบริหารทรัพย์สิน ซึ่งเงินที่ได้มาของสถานศึกษาก็จะสะสมเป็นของสถานศึกษาได้ภายในหลักเกณฑ์ที่กำหนด
The Morning – “การศึกษาไทย” ปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่
Link : seeme.me/ch/goodmorningthailand/9aE641
แต่ก็ต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการไปเจรจากับกระทรวงการคลัง เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ การจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นเงินอุดหนุนทั่วไป ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์และไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินขั้นต้น โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นและให้กำหนดว่าเงินขั้นต่ำต้องเป็นจำนวนเท่าไร เพื่อแก้ไขปัญหาสถานศึกษาขนาดเล็ก มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกโดยผู้ปกครอง การศึกษาสำหรับคนพิการ และผู้ที่มีความสามารถพิเศษ กระจายไว้ในมาตราต่าง ๆ และให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลได้ เช่น สมัชชาการศึกษาจังหวัดและให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทำการช่วยเหลือสนับสนุนอุดหนุนต่อไป
การคัดเลือกระดับก่อนวัยเรียน & มหาวิทยาลัย ต่างกัน
สำหรับร่างกฎหมายยังให้หลักการวิธีการรับผู้เรียนเข้าศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ โดยการศึกษาระดับก่อนวันเรียนและการศึกษาภาคบังคับต้องไม่ใช้วิธีการสอบแข่งขัน หรือ คัดเลือกด้วยวิธีการอื่นใด ถ้าหากมีผู้เข้าเรียนมากกว่าหนึ่งที่นั่งเรียนให้ใช้วิธีการจับสลาก ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกับระดับอุดมศึกษาการคัดเลือกต้องใช้ผลการเรียน หรือสิ่งที่ได้เรียนมาในช่วงระดับก่อนหน้านั้น การวัดผลคัดเลือกที่สูงกว่าที่กำหนดถือว่าเป็นการจงใจทำให้บุคคลอื่นเสียหาย
เปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
นอกจากนี้ ยังให้หลักการสำคัญเกี่ยวกับครูและความเป็นครู โดยให้คณะกรรมการนโยบายและสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ไปศึกษาวิจัยต้นแบบและวิธีการในการพัฒนาหรือผลิตครูที่มีคุณภาพ และบังคับไว้ในกฎหมายอีกด้วยว่า คุรุสภาต้องนำผลการวิจัยไปประกอบหรือใช้กำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณครูด้วย
ครูที่ทำการเรียนการสอนในระดับก่อนวัยเรียนและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกเว้นครูอาชีวศึกษาต้องมี ใบรับรองความเป็นครู ยกเว้นครูผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จัดการศึกษาในวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยใบรับรองความเป็นครูสามารถใช้ได้ตลอดภายใต้เงื่อนไขของการได้รับการพัฒนาตามระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติให้มี ครูใหญ่ เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาและบังคับบัญชาครูในสถานศึกษา โดยครูใหญ่สามารถแต่งตั้ง ผู้ช่วยครูใหญ่ ในการบริหารได้ตามความจำเป็น ซึ่งผู้ช่วยครูใหญ่อาจจะไม่ใช่ครูก็ได้ เป็นต้น
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.dailynews.co.th