tu กลุ่มวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะน่าเรียน สาขาวิชาน่าเรียน

เจาะลึก 8 หลักสูตรน่าเรียน กลุ่มวิทยาศาสตร์-สังคมศาสตร์ จากรั้วธรรมศาสตร์

Home / ข่าวการศึกษา / เจาะลึก 8 หลักสูตรน่าเรียน กลุ่มวิทยาศาสตร์-สังคมศาสตร์ จากรั้วธรรมศาสตร์

ในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นเดือนแห่งหัวเลี้ยวหัวต่อของนักเรียนหลายคนที่กำลังจะเข้าสู่การตัดสินใจเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยนอกจากคณะฮิตๆ ที่ถูกมองว่าจบมาเมื่อไหร่ก็มีงานทำแน่นอน เช่น สาขากลุ่มแพทย์ศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์แล้ว ในอนาคตสังคม เศรษฐกิจ โลกและประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้เรามองถึงอนาคตการทำงานที่กว้างและนอกกรอบจากที่เราเคยคิด…

และนี่คือ 8 หลักสูตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นอกจากจะมีคณะและสาขายอดฮิตที่หลายคนฝันอยากแล้ว ยังมีสาขาวิชา “กลุ่มวิทยาศาสตร์-สังคมศาสตร์” ใหม่ที่รองรับกับความต้องการของสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมีหลักสูตรอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย

รับเทรนด์โลกปี 2020 เจาะลึก 8 หลักสูตร น่าเรียน

หลักสูตรการแพทย์แผนจีน 2 ปริญญา

1. หลักสูตรการแพทย์แผนจีน 2 ปริญญา วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ธรรมศาสตร์-มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง

หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต มธ. ที่ได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์แผนจีนชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง น้องๆ จะได้เรียนศาสตร์การแพทย์แผนจีนขนานแท้ ไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็ม ครอบแก้ว กัวซา ทุยหนา ฯลฯ โดยเฉพาะในปี 2, 5 และ 6 น้องๆ จะได้ไปสัมผัสบรรยากาศการเรียนจริงๆ ที่ประเทศจีนด้วย แม้ว่าหลักสูตรนี้จะใช้เวลาถึงเรียน 6 ปี แต่จบออกมาแล้วจะได้ปริญญาถึง 2 ใบ อีกทั้งยังสามารถประกอบอาชีพได้ทั้งในประเทศไทยและจีนอีกด้วย ทั้งนี้ประเทศไทยก้าวเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดเข้าไปทุกที ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการเจ็บป่วยของประชากรคงต้องมากตามไปด้วย โดยแพทย์แผนจีนซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีมายาวนานนับ 5,000 ปี และได้รับการยอมรับองค์การอนามัยโลกว่ารักษาโรคได้กว่า 100 ชนิดแพทย์แผนจีนจึงถือเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่น่าสนใจไม่น้อย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตรการแพทย์แผนจีนได้ที่ www.cicm.tu.ac.th

 หลักสูตรโลกคดีศึกษาและการประกอบการสังคม

2. หลักสูตรโลกคดีศึกษาและการประกอบการสังคม (Global Studies and Social Entrepreneurship: GSSE) วิทยาลัยโลกคดีศึกษา

อ่านชื่อหลักสูตรนี้แล้วอาจจะเกิดคำถามว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร สำหรับหลักสูตรนี้จะเน้นปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำความคิด นักเปลี่ยนแปลง และนักธุรกิจที่มีความใส่ใจต่อส่วนรวม อีกทั้งยังอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ผ่านการเรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านสังคม การสื่อสารภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ การสร้างนวัตกรรม และการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้นักศึกษามีมุมมองที่หลากหลายได้ทดลองแก้ปัญหาจริงและอัดแน่นไปด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่นายจ้างทุกองค์กรกำลังต้องการในปัจจุบันจบออกมาแล้วสามารถทำงานได้ทุกองค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งภาคเอกชน และรัฐบาลเลยทีเดียว โดยมีตำแหน่งงาน อาทิ ที่ปรึกษาด้านการประเมินองค์กร นักบริหารโครงการธุรกิจเพื่อสังคม นักวิเคราะห์ในองค์กร NGO ฯลฯ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตร GSSE ได้ที่ www.sgs.tu.ac.th

หลักสูตรการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี

3. หลักสูตรการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี (Design, Business & Technology Management: DBTM) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง

เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่าการออกแบบเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ การบริการ รวมทั้งการจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และจากคำถามที่ว่าเราจะก้าวเข้าสู่ยุคที่โลกแข่งขันด้วยนวัตกรรมได้อย่างไร

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมืองและคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ร่วมกับพันธมิตรทางด้านวิชาการ ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และธนาคารกสิกรไทย จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษปริญญาตรีควบโท 5 ปี ทางด้าน “การจัดการออกแบบ” ที่นับได้ว่าเป็นแห่งแรกของเอเชียขึ้น เพื่อผลิตบัณฑิตยุคใหม่ ผ่านการเรียนการสอนบนพื้นฐานการคิดเชิงออกแบบ การวิจัยและพัฒนารวมทั้งการเรียนรู้จากการทำงานจริงและการฝึกงานตลอดภาคการศึกษาในภาคธุรกิจและองค์กรชั้นนำที่เป็นพันธมิตรทางด้านวิชาการเพื่อให้เป็นนักจัดการการออกแบบ นักคิดค้นนวัตกรรมและผู้ประกอบการ ที่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตร DBTM ได้ที่ www.tds.tu.ac.th

หลักสูตรวิทยาการเรียนรู้

4. หลักสูตรวิทยาการเรียนรู้ (Program in Learning Sciences: PLS) คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

หลักสูตรวิทยาการเรียนรู้ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. เป็นหลักสูตรที่พร้อมบูรณาการสาขาวิชาต่างๆ เช่น ศิลปะและการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง สื่อและเทคโนโลยี ธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การคิดเชิงวิทยาศาสตร์ การมีส่วนร่วมกับชุมชน ฯลฯ ขึ้นเป็นสหวิทยาการเพื่อปลุกปั้น “คุณครูและนักขับเคลื่อนการเรียนรู้” ผู้มีทักษะในการวิเคราะห์ ออกแบบ จัดกระบวนการ และประเมินการเรียนรู้ในบริบทต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ที่จะจบมาเป็นบุคลากรด้านการเรียนรู้และการศึกษาที่สามารถทำงานได้ในทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีอาชีพ เช่น นักเทคโนโลยีการศึกษานักศิลปะสร้างสรรค์นักออกแบบสื่อการเรียนการสอน นักออกแบบการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น

ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตร PLS ได้ที่ lsed.tu.ac.th

หลักสูตรการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์

5. หลักสูตรการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ (Program in Creative Development: PCD) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนเป็นเทรนด์ระดับสากลที่เป็นแนวทางปฏิบัติในแทบทุกประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านดังกล่าวยังมีน้อย มธ. ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญตรงนี้จึงได้เปิดหลักสูตรการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเร่งสร้างบุคลากรที่มีคิดสร้างสรรค์ บูรณาการนอกกรอบ และรับผิดชอบต่อส่วนรวม ออกสู่สังคมไทย โดยผู้เรียนจะได้รับการศึกษาแบบพหุวิทยาการ คือการเลือกเรียนตามกลุ่มวิชาที่สนใจ ได้แก่ กลุ่มวิชาการพัฒนาชุมชนร่วมสมัย กลุ่มวิชาการพัฒนาองค์กรและธุรกิจเพื่อสังคม และกลุ่มวิชาการจัดงานอาสาสมัคร ที่สำคัญคือจะได้เน้นการลงพื้นที่ปฏิบัติให้รู้ลึกรู้จริง และเมื่อเรียนจบก็สามารถไปประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย อาทิ นักสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม ที่ปรึกษาในองค์กรต่างๆ ด้านโครงการธุรกิจเพื่อสังคมนักวิเคราะห์ วิจารณ์ ด้านการพัฒนา ฯลฯ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตร PCD ได้ที่ psds.tu.ac.th

 หลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

6. หลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Bachelor and Master of Arts Program in Management of Cultural Heritage and Creative Industries: BMCI) วิทยาลัยนวัตกรรม

วัฒนธรรม มีความสำคัญนับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากเป็นสิ่งแสดงถึงความเจริญหรือความมีอารยะของประเทศเจ้าของวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศอีกด้วย ดังนั้นการศึกษาด้านวัฒนธรรมจึงเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจ โดยหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นหลักสูตร 5 ปี ปริญญาตรี โทต่อเนื่อง ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของไทย อาเซียน และโลก อย่างลึกซึ้งรอบด้าน รวมไปถึงการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม หลักการตลาดเพื่อการจัดการทางวัฒนธรรม นโยบายและองค์กรทางวัฒนธรรม เป็นต้น

จบออกมาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นนักวิชาการอย่างเพียงเดียว สามารถเป็นได้ทั้งนักจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินงานด้านวัฒนธรรม เช่น UNESCO, ผลิตสื่อภาพยนตร์-โทรทัศน์ และงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมประเภทต่างๆ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตร BMCI ได้ที่ www.citu.tu.ac.th

 หลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ

7. หลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (Industrial Science and Management Program: ISC) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นักวิทยาศาสตร์ใส่สูทสวมมาดนักธุรกิจจะกลายเป็นเทรนด์ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ มธ.ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ ขึ้น โดยผนวกความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เคมีประยุกต์และเทคโนโลยีชีวภาพ ผสานเข้ากับทักษะด้านบริหาร การวางแผนการตลาดผ่านการเรียนทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติรวมถึงลงพื้นที่ศึกษาการทำงานจริงในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น เช่น ซีพีเครือเบทาโกรไบโอเนท-เอเชีย ฯลฯ เพื่อสร้างผลลัพธ์สู่การกำเนิด “นักวิทย์คิดประกอบการ” ที่สามารถนำงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ มาต่อยอดสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไปตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 อีกด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตร ISC ได้ที่ www.isctu.com

หลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัลและหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลแนวสร้างสรรค์

8. หลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล (Innovative Digital Design: IDD) และหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลแนวสร้างสรรค์ (Creative Digital Technology: CDT) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคดิจิทัลที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นั่นรวมไปถึงเกมส์และแอนิเมชั่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมดิจิทัลมาแรงสุดๆ โดยที่ มธ. ก็ได้มีการเปิดหลักสูตรเพื่อรองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยหลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล (IDD) จะเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการออกแบบเกมอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสิ่งแวดล้อมในเกม การใช้แสงเงาและสีกำหนดอารมณ์ภาพในเกม เทคนิคสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างผู้เล่นกับระบบ เป็นต้น

ขณะที่หลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลแนวสร้างสรรค์ (CDT) จะเป็นการรวมวิทยาการคอมพิวเตอร์กราฟิก ฟิสิกส์และศิลปะเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาซอฟแวร์ สร้างกราฟิกแสดงภาพเคลื่อนไหวจำลองสถานการณ์ และพัฒนาเกมประเภทต่างๆ ที่สมจริงยิ่งขึ้น โดยทั้ง 2หลักสูตรดังกล่าว ถือเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ได้รับความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน (DigiPen) ประเทศสหรัฐอเมริกาสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลคอนเทนต์ระดับโลก อย่างไรก็ดีเมื่อจบออกไปแล้วไม่ใช่ว่าจะต้องไปเป็นผู้ผลิตเกมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถไปเป็นโปรแกรมเมอร์ นักออกแบบกราฟิกนักออกแบบโปรแกรมประยุกต์นักออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ ฯลฯอีกด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตร IDD และ CDT ได้ที่ www.idd-cdt.sci.tu.ac.th