สำหรับการสอบ ก.พ. ถ้าพูดแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไปที่ทุกคนจะนึกถึงเป็นอย่างแรกคือ เป็นการสอบเพื่อจะนำไปใช้บรรจุอาชีพราชการ ซึ่งอาชีพราชการก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่หลาย ๆ คนคิดว่ามั่นคง มีสวัสดิการที่ดีเพราะนอกจากได้กับตนเองแล้วยังคลอบคลุมไปถึงพ่อแม่ ในบทความนี้เราจะสรุปเกี่ยวกับเรื่องการสอบ ก.พ. มาให้ทุกคนได้อ่านแล้วเข้าใจง่าย ๆ ว่า ก.พ. คืออะไร สอบไปทำไม ใครสอบได้บ้าง?…
สรุปเรื่อง สอบ ก.พ. – ภาค ก,ข และ ค
ก.พ. คืออะไร? มีชื่อเต็ม ๆ ว่า..
ก.พ. คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นองค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการบริหารกำลังคนในราชการให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
การสอบ ก.พ. คืออะไร สอบไปทำไม?
การสอบ ก.พ. คือ การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าไปทำงานให้กับหน่วยงานราชการ และต้องสามารถทำงานตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นแล้วจึงจะต้องทำข้อสอบให้ผ่านก่อน โดยต้องสมัครสอบคัดเลือกตามหลักสูตรที่กำหนด
สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ หากคิดจะเข้าทำงานสายราชการแล้วล่ะก็… ต้องผ่านด่านแรกไปให้ได้ก่อนนั่นก็คือการสอบ ก.พ. หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เป็นระบบกลาง ระหว่างผู้ที่ต้องการเข้าทำงานในระบบราชการ กับ หน่วยงานราชการที่ขาดแคลนบุคคลในการทำงานก็ได้เช่นกัน ซึ่งทาง ก.พ. จะมีการเปิดรับสมัครสอบ 4 ระดับด้วยกัน
ใครสอบได้บ้าง – ระดับวุฒิการศึกษาที่รับสมัครสอบ ก.พ.
สำนักงาน ก.พ. จะเปิดรับสมัครสอบ จำนวน 4 ระดับ ดังนี้…
1. ระดับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
2. ระดับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
3. ระดับวุฒิปริญญาตรี
4. ระดับวุฒิปริญญาโท
การสอบ ก.พ. แบ่งออกเป็น 3 ภาค และต้องสอบให้ผ่านทุกภาค
ภาค ก คือ การสอบภาคความรู้ ความสามารถทั่วไป
เป็นการทำแบบทดสอบที่วัดระดับเชาว์ปัญญา ทุกคนที่จะสอบบรรจุข้าราชการต้องสอบภาค ก (เมื่อสอบผ่านแล้วสามารถใช้ได้ตลอดชีพ ไม่ต้องสอบใหม่อีก) โดยการสอบ ภาค ก. จะแบ่งเป็น 3 วิชา คือ
– ทดสอบวิชาความสามารถทั่วไป : ด้านการคิดคำนวณ และด้านการให้เหตุผล คะแนนเต็ม 100 คะแนน ( ป.ตรี ป.โท ต้องทำให้ 36 ข้อขึ้นไปถึงผ่าน)
– ทดสอบวิชาภาษาไทย : ด้านการเข้าใจภาษา ซึ่งจะทดสอบโดยการการอ่านและการทำความเข้าใจบทความ การเขียนประโยคให้ถูกต้องตามหลักภาษา จำนวน 40 ข้อ คะแนนเต็ม 50 คะแนน
– ทดสอบวิชาภาษาอังกฤษ : ทดสอบความรู้ในการใช้ภาษาอังกฤษเบื้องต้นจากการ ฟัง พูด อ่าน เขียน คะแนนเต็ม 50 คะแนน ข้อสอบแยกเป็นระดับวุฒิการศึกษา
ระยะเวลาการสอบ : มีการจัดสอบเป็นประจำทุกปี โดยช่วงเปิดรับสมัครประมาณ มีนาคม ช่วงสอบ มิ.ย.-ก.ค. และประกาศผลช่วงเดือน ก.ย. (ติดตามกำหนดที่แน่ชัดได้จากทางเว็บของ ก.พ. http://job.ocsc.go.th/Default.aspx)
คุณสมบัติผู้สอบ: ต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายของระดับ ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
ใครเป็นคนจัดสอบ: หน่วยงานที่จัดสอบคือ สำนักงาน ก.พ.
เกณฑ์การผ่านคะแนนทุกวิชาจะต้องผ่านเกณฑ์ที่ 60 % และต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่า 50 % ผู้สอบสามารถยื่นคะแนนภาษาอังกฤษมาตรฐานต่อไปนี้ แทนได้ IELTS , TOEIC , TU-GET , CU-TEP (ที่ยังไม่หมดอายุ และต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 % ของการทดสอบที่จะยื่นแทน)
** ทุกคนที่ต้องการจะสอบบรรจุข้าราชการจำเป็นต้องสอบภาค ก **
ภาค ข คือ การสอบภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง
– เป็นการสอบที่เน้นใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เช่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ, นิติกร, เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน เป็นต้น โดยข้อสอบจะเป็นการสอบแบบข้อเขียน (และผู้สอบต้องนำหนังสือรับรองมายืนยันว่าได้สอบผ่าน ภาค ก. แล้วจึงจะสมัครได้)
คุณสมบัติผู้สอบ: ต้องสอบผ่าน ภาค ก ก่อน
ใครเป็นคนจัดสอบ : หน่วยงานราชการที่เปิดรับสมัคร
ภาค ค คือ การสอบสัมภาษณ์
เป็นการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ เพื่อดูถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง อาจมีการทดสอบอย่างอื่นเพิ่มก็ได้ เช่น ทดสอบร่างกาย หรือ ทดสอบจิตวิทยา เป็นต้น
คุณสมบัติผู้สอบ : ผู้เข้าสอบจำเป็นต้องผ่านการสอบ ภาค ก. และ ภาค ข. มาก่อน
ใครเป็นคนจัดสอบ : หน่วยงานราชการที่เปิดรับสมัคร
**ทั้งนี้ผู้สอบ ก.พ. จะต้องสอบผ่านทั้ง 3 ภาค จึงจะได้เข้าการบรรจุเข้ารับราชการ
ในบทความต่อไป จะทำการรวบรวมแนวข้อสอบมาให้สำหรับทุกคนที่จะสอบนะคะ