การเลือกตั้ง ประวัตินักการเมือง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พรรรคเสรีรวมไทย พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เลือกตั้ง62

เปิดประวัติ “เสรีพิศุทธ์” วีรบุรุษนาแก สู่เส้นทางสายการเมือง หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

Home / วาไรตี้ / เปิดประวัติ “เสรีพิศุทธ์” วีรบุรุษนาแก สู่เส้นทางสายการเมือง หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

ตอนนี้เรียกได้ว่านอกจากอากาศเมืองไทยจะร้อนแล้ว การเมืองไทยก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน เพราะหลังจากมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ตอนนี้เราก็เริ่มที่จะทราบผลคะแนนกันอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ซึ่งผลคะแนนอย่างเป็นทางการทาง กกต. จะทำการประกาศอีกครั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 นี้

“เสรีพิศุทธ์” วีรบุรุษนาแก สู่เส้นทางสายการเมือง

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจคือ การเลือกฝั่งของพรรคการเมืองต่าง ๆ และพรรคการเมืองที่ทุกคนกำลังจับตามองก็คือ พรรรคเสรีรวมไทย ที่นำทัพโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ซึ่งได้เข้าร่วมฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคประชาชาติ (รวม 255 เสียง) พร้อมเรียกร้องให้ กกต. เปิดผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาก่อน และแสดงจุดยืนของพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

ภาพจาก FB : พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง เราคงต้องรอติดตามกันต่อไป แต่ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมาย้อนเส้นทางการเมืองของอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส กันค่ะ

ประวัติส่วนตัว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ชื่อเดิมว่า เสรี) มีชื่อเล่นว่า ตู่ เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2491 เป็นบุตรของนายชื้น และนางอรุณ สมรสกับพัสวีศิริ (สกุลเดิม เทพชาตรี) สำหรับสกุล เตมียเวส ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2457

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

ภาพจาก FB : พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

เส้นทางการรับราชการ

ด้านการศึกษาจบการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนทวีธาภิเศก จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 8 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 24 ซึ่งได้เริ่มชีวิตราชการในพื้นที่ภาคอีสาน จ.นครพนม ในช่วงปี พ.ศ. 2515 – 2524 ได้ต่อสู่เข้าปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ จนบ้านเมืองกลับมาสงบเรียบร้อยอีกครั้ง พร้อมได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลา เข็มกล้ากลางสมร และเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1

ซึ่งจากเหตุกาณ์ในครั้งนี้ก็ทำให้เขาได้รับการขนานนามและยกย่องว่าเป็น วีรบุรุษนาแก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังได้รับพระราชทานรางวัลคนไทยตัวอย่าง, รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และรางวัลข้าราชการที่ประพฤติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัย อีกด้วย

โดยในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ถูกส่งไปช่วยราชการที่ตำรวจภูธรภาค 2 ได้จับกุม นายสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะที่เข้าไม้แก้ว จนศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกกำนันเป๊าะ

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปรามเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงปีพ.ศ. 2533 – 2534 และจากเหตุการณ์รัฐประหารใน ปี พ.ศ. 2534 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ได้เปลี่ยนชื่อจาก เสรี มาเป็น เสรีพิศุทธ์ เพื่อเป็นการแก้เคล็ด เนื่องจากชื่อไม่ถูกโฉลก

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

ภาพจาก : news.mthai.com

และจากภาพลักษณ์ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่เป็นนายตำรวจมือปราบซื่อตรงก็ทำให้เขาได้รับฉายาว่า มือปราบตงฉิน เนื่องจากการที่เขาได้ทำคดีสำคัญ ๆ มากมายที่ได้รับความสนใจจากสังคมและสื่อต่าง ๆ มีการจับกุมนักการเมือง รัฐมนตรี เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลหลายคนด้วยกัน ทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถูกโยกย้ายอยู่บ่อยครั้งไปดูแลในส่วนงานที่ไม่ต้องมีการควบคุมกำลัง เช่น กองวิทยาการตำรวจ หรือ ประจำกรมตำรวจ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่แล้วก็เหมือนถูกฟ้ากลั่นแกล้งให้ถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา สบ. 10 ก่อนที่จะกลับมารักษาการในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 (แทน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ได้รับคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี) และได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้มีประกาศ ฉบับที่ 1 แต่งตั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

เส้นทางการเมือง

เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2551 ภายหลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง พ.ต.อ.ทินกร มั่งคั่ง อดีตนายเวร ที่ถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ปลดออกจากราชการได้ลงนามในหนังสือร้องเรียนทั้ง 3 ฉบับถึง นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งในขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และในวันรุ่งขึ้น นายสมัคร นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวยทางวินัยร้ายแรงกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ทันที และในวันเดียวกันนี้ได้มีการออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ทันที

ต่อมาในวันที่ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 นายสมัคร นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 73/2551 ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการเอาไว้ก่อน หลังจากนั้นในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ได้จัดแถลงข่าวถึงเรื่องที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม

‘เสรีพิศุทธ์’ ลั่น!! ได้เป็นนายกฯวันไหน สั่งเลิกเกณฑ์ทหารทันที

Link : seeme.me/ch/newsmthai/9xGVg1

และในเวลาต่อมาในสมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการสั่งหยุดการสอบสวน และยกเลิกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ได้เปิดตัวแสดงเจตนาที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ในนามกลุ่มพลังกรุงเทพ  โดยได้เบอร์ 11 และได้รับคะแนนทั้งสิ้น 166,582 คะแนน โดยมีคะแนนเป็นอันดับ 3 ต่อจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรค และอันดับหนึ่งจากผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคอีก 23 คน

และในเวลาต่อมาก็ได้เข้ามาอยู่ใน พรรคเสรีรวมไทย (จดทะเบียนตั้งเป็นพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2556) โดยมีนายไพบูลย์ พึ่งทองหล่อ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก แต่ต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 คณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรกได้ขอลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ จึงเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคโดยได้เชิญ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยจนถึงในปัจจุบัน

ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ออกมาาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลอยู่หลายครั้งด้วยกัน จนฝ่ายกฎหมาย คสช. ต้องเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ในข้อหากระทำการที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

บทความที่น่าสนใจ