แฟ้มสะสมผลงาน

เทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงาน ใน 10 หน้า – PORTFOLIO

Home / วาไรตี้ / เทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงาน ใน 10 หน้า – PORTFOLIO

สวัสดีค่ะ น้องๆ ที่กำลังเตรียมทำ “แฟ้มสะสมผลงาน” หรือ “PORTFOLIO” หลายคนตั้งกระทู้ในกลุ่มต่างๆ ขอดูตัวอย่างพอร์ต หรือขอคำแนะนำเรื่องการทำพอร์ต เพราะงุนงงว่าจะทำอย่างไร ให้แฟ้มสะสมผลงานที่จะถือเข้าไปในวันสัมภาษณ์ หรือที่ส่งให้คัดเลือกใน TCAS รอบแรก เข้าตากรรมการ หรือช่วยให้การสอบสัมภาษณ์ผ่านฉลุย ยิ่งตอนนี้หลายสาขาวิชากำหนดจำนวนหน้า กำหนดหัวข้อ กำหนดขนาด น้องๆ ก็ยิ่งกังวลเข้าไปใหญ่

เทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงาน

วันนี้ครูพี่โบว์มี “เทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงาน ใน 10 หน้า ให้มีคุณค่าและเข้าตากรรมการ” มาฝากน้องๆ กันค่ะ

องค์ประกอบหลักๆ ได้แก่ หน้าปก หน้าสารบัญ ประวัติส่วนตัว ผลงาน ความสามารถพิเศษ และอยากเข้าคณะนี้เพราะอะไร?

เทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงาน ใน 10 หน้า

น้องๆ คงเคยเห็นรูปเล่มแฟ้มสะสมผลงานในรูปแบบต่างๆ มาบ้างแล้ว และก็คงจะมีรูปแบบในใจกันแล้วนะคะ แต่ก่อนที่เราจะมาจัดทำแฟ้มสะสมผลงานกันนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า รูปเล่มของเราจะเตะตากรรมการได้นั้น ไม่ควรเกิดจากการลอกเลียนแบบ แต่ควรแสดงความเป็นตัวตนของเรา เกิดจากความคิดสร้างสรรค์หรืออาจเกี่ยวข้องกับสาขาวิชา คณะ หรือมหาวิทยาลัยที่เราสมัคร โดยองค์ประกอบที่สำคัญอย่างแรกที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย ก็คือ หน้าปกค่ะ

หน้าปกหรือปกหน้า ควรประกอบด้วย รายละเอียดส่วนบุคคล ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ภาพถ่าย ชื่อโรงเรียน อาจใส่คณะหรือมหาวิทยาลัยที่กำลังยื่นสอบสัมภาษณ์ หรืออาชีพในฝันเพิ่มเติมก็ได้ค่ะ

เทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงาน ใน 10 หน้า - PORTFOLIO

หน้าปกจะแสดงถึงความเป็นตัวตนของเรา รูปแบบที่เราชอบหรือที่เราเลือก บางคนเลือกทำเป็นนิตยสาร อัตชีวประวัติ ปกซีดี โปสเตอร์ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพการ์ตูนในอิริยาบถต่างๆ รูปแบบดี มีความคิดสร้างสรรค์และความน่าสนใจก็สามารถทำให้ปกดีมีชัยไปกว่าครึ่งนะจ๊ะ

เมื่อเปิดเข้าไปจะพบรายละเอียดในหน้าแรก คือ หน้าสารบัญ

หน้าสารบัญ

สารบัญ 1 หน้า จะประกอบด้วย หัวข้อที่เราได้แบ่งหมวดหมู่ไว้ เช่น ประวัติส่วนตัว ผลงานทางด้านกิจกรรม ผลงานวิชาการ ผลงานเพื่อส่วนรวม หรือความสามารถพิเศษ รวมทั้งเหตุผลที่อยากเข้าสาขาวิชา หรือคณะนี้ พร้อมแจ้งเลขหน้าประกอบเพื่อง่ายต่อการเปิดของกรรมการค่ะ (ส่วนสารบัญนี้สำหรับบางคน บางสาขา บางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้กำหนด ดังนั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้ค่ะ)

ส่วนต่อไปจะเป็นหัวข้อต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ในสารบัญ ได้แก่

• ประวัติส่วนตัว

ความยาวประมาณ 1 -2 หน้า ควรประกอบด้วย ชื่อ – นามสกุล ภูมิลำเนา (อาจส่งผลต่อการยื่นโควตาในพื้นที่ที่กำหนด) ที่อยู่ปัจจุบัน (เพื่อง่ายต่อการส่งเอกสาร) วัน เดือน ปีเกิด ข้อมูลบิดา มารดา ผู้ปกครอง ประวัติการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีผลการเรียนและหลักฐานประกอบชัดเจน

นอกจากนั้นสามารถเพิ่มหัวข้อ “ความสามารถพิเศษ” แต่ต้องพิเศษจริงๆ ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงศักยภาพ ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและสามารถเป็นข้อได้เปรียบในการพิจารณา เช่น ความสามารถทางภาษา ความสามารถทางโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

เทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงาน ใน 10 หน้า - PORTFOLIO

• ผลงาน

ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานที่เกิดขึ้นในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ควรมีรายละเอียดประมาณ 4-6 หน้า ซึ่งกำหนดหัวข้อและรูปภาพกิจกรรมที่อาจมีข้อความสั้นๆ กำกับ โดยสามารถแบ่งออกเป็น

ผลงานทางด้านกิจกรรม เช่น กิจกรรมกีฬาสี การแสดงในงานต่างๆ การแสดงดนตรี กิจกรรมวันสำคัญ เช่น วันสุนทรภู่ วันภาษาไทย วันวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเป็นนักกีฬาโรงเรียน เขต หรือจังหวัด เป็นต้น

ผลงานทางด้านวิชาการ เช่น การประกวดแข่งขันทางด้านวิชาการ ไม่ว่าจะเป็น แข่งขันคิดเลขเร็ว แข่งขันตอบคำถามวิทยาศาสตร์ ประกวดเขียนเรียงความ ประกวดแต่งคำประพันธ์ แข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ เป็นต้น

ผลงานเพื่อส่วนรวม ที่แสดงถึงความมีจิตสาธารณะ การช่วยเหลือหรือบริการสังคมส่วนรวม เช่น เป็นกรรมการห้อง เป็นประธานนักเรียน กรรมการชมรม หรือเป็นตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เป็นต้น

ผลงานน่าจะเป็นส่วนที่จัดทำได้ยากที่สุด บางคนอาจมีผลงานจนเลือกไม่ได้ ในขณะที่อีกหลายคนอาจไม่มีข้อมูลมากพอ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องรีบหาตัวเองให้เจอ สรุปให้ได้ว่าเราต้องการจะเรียนอะไร หลังจากนั้นพยายามเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เราจะสมัครเข้าเรียน ยิ่งวางแผนเร็วมากเท่าไหร่ โอกาสของเราก็จะมากขึ้นเท่านั้น

• ความสามารถพิเศษ

เป็นส่วนที่แสดงถึงการพัฒนาตนเอง โดยน้องๆ สามารถใช้หัวข้อนี้ขยายความจากที่กรอกในประวัติส่วนตัว เช่น การเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษที่มีการสอบวัดระดับ การเรียนดนตรีที่มีการเลื่อนชั้น หรือการแสดงความสามารถที่ได้รับโอกาสเป็นตัวแทนจังหวัด ภาค หรือประเทศ ใช้พื้นที่ประมาณ 1-2 หน้า โดยใส่รูปภาพกิจกรรม เกียรติบัตร หรือประกาศนียบัตรประกอบด้วยค่ะ

• “อยากเข้าคณะนี้เพราะอะไร?”

ในหัวข้อนี้น้องๆ อาจจะจัดรูปแบบเป็นแผนภาพ หรือใช้การเขียนบรรยายเพื่อบอกความต้องการ เป้าหมายที่จะเข้าเรียนในสาขาวิชานั้นๆ ด้วยความจริงใจ สุภาพ และอ่อนน้อม

• ปกหลัง

ซึ่งจะต้องมีรูปแบบเหมือนกับปกหน้า อาจจะมีคำคม รูปภาพเพิ่มเติม หรือใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้เต็มที่

อย่าลืมนะคะว่าทั้งเล่มจะต้องมีความเป็นเอกภาพ ทั้งเรื่องรูปแบบ สี และรูปแบบตัวอักษร ภาษาอาจไม่ถึงขั้นสละสลวย หรือเป็นทางการจนน่าอึดอัด แต่ควรใช้ภาษาที่เหมาะสม ไม่ใช้คำหยาบ คำสแลง หรือภาษาวัยรุ่นมากจนเกินไปค่ะ

“แฟ้มสะสมผลงาน 10 หน้า” ไม่มีทางที่จะเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในคืนเดียว ครูพี่โบว์แนะนำว่าน้องๆ ควรวางแผนเข้าร่วมกิจกรรมและเก็บภาพถ่าย เกียรติบัตร หรือหลักฐานไว้แต่เนิ่นๆ ถึงแม้เราจะไม่สมัครรอบแฟ้มสะสมผลงาน แต่ไม่ว่าเราจะไปสัมภาษณ์รอบไหน การที่เรากอดแฟ้มสะสมผลงานเข้าไปด้วยก็อุ่นใจกว่าไปตัวเปล่าใช่มั้ยล่ะคะ …

ครูพี่โบว์ หวังว่า เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการทำแฟ้มสะสมผลงานฉบับมินิจะช่วยให้น้องๆ วางแผนทำ “แฟ้มสะสมผลงานฉบับสมบูรณ์” ในรูปแบบของแต่ละคนได้ง่ายขึ้นนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้ากับเกร็ดความรู้ดีๆ ที่นี่ที่เดียวจ้า

SEEME.ME : KruBow

บทความแนะนำ