Collocations XChange English กลุ่มคำ ภาษาอังกฤษ

รู้ทัน Collocations ใน Reading Comprehension – กลุ่มคำที่มักจูงมือกันมา

Home / วาไรตี้ / รู้ทัน Collocations ใน Reading Comprehension – กลุ่มคำที่มักจูงมือกันมา

ในบทความก่อนหน้านี้เรื่อง collocation เราได้ทำความรู้จักกับ ‘กลุ่มคำที่มักจูงมือกันมา’ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้เรียนภาษาอังกฤษอยู่มิใช่น้อยเลย ด้วยความ ‘อินดี้’ ของภาษาอังกฤษที่ดิ้นได้ บวกกับความไม่สนิทกับภาษาไทยเป็นทุนเดิม ทำให้เราไม่สามารถแปลความหมายกันแบบตรงๆ เป็น direct approach ได้ แต่ทว่าในความโชคร้ายยังมีความโชคดี เพราะความรู้เรื่อง collocation จะช่วยให้เราดักจับ (detect) คำแรกใน collocation เพื่อคาดการณ์ (forecast) คำที่เหลือที่ตามมารวมไปถึงความหมายของกลุ่มคำนั้นๆ ได้อีกด้วย

รู้ทัน Collocations ใน Reading Comprehension

ดังนั้นการใช้ collocation ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้เราสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยเพิ่มความคล่อง (fluency) ทั้งในภาษาเขียนและภาษาพูด นอกเหนือไปจากนี้ การรู้ทัน collocation ยังมีประโยชน์ในการอ่านบทความต่างๆ รวมไปถึงการอ่านจับใจความ (reading comprehension) ด้วย เชื่อว่าหลายๆ คนอ่านบทความยาวๆ แล้วเข้าใจความหมายได้ไม่ทั้งหมดซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถใช้ collocation มาช่วยจับใจความสำคัญของบทความยาวๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกคำในประโยค?

รู้ทัน Collocations ทำความรู้จักกับ collocation อีก 3 กลุ่ม

‘สละ-ยกเลิก-ปฎิเสธ’

ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ collocation อีก 3 กลุ่มที่มีความหมายว่า ‘สละ-ยกเลิก-ปฎิเสธ’ และมาพร้อมกับเพื่อนๆ หรือ คำเหมือน (synonyms) อีกหลายคำเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มอาวุธในคลังคำศัพท์ของเราแล้ว ยังช่วยให้เราเข้าใจความหมายของบทความได้เร็วขึ้น อ่านได้แบบไม่สะดุด ไม่ต้องหยุดอ่าน ประหยัดเวลาในการหาความหมายของคำศัพท์ยากๆ
เรามาทำความรู้จักกับ collocation 3 กลุ่มนี้กันเลย

‘สละ’ หรือ ‘ละทิ้ง’

รู้ทัน Collocations ใน Reading Comprehension

กลุ่มแรกเป็น collocation ที่มีความหมายว่า ‘สละ’ หรือ ‘ละทิ้ง’ ไม่ว่าจะสละบัลลังก์หรือราชสมบัติ ด้วยการ ‘abdicate the throne’ หรือ การสละสิทธิ์ที่ตนเองโดยชอบธรรม ด้วยการ ’forfeit the right’ และสุดท้าย การสละอำนาจ หรือ ลงจากตำแหน่ง ด้วยการ ‘relinquish control’

นอกเหนือจากนี้ ยังมี similar collocations หรือ กลุ่มคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น

  • abstain from, refrain from หรือ desist from ซึ่งหมายถึงการ ‘ละเว้นจาก’
  • let go ซึ่งหมายถึงการ ‘ปล่อยไป’

และยังมีคำเหมือน หรือ synonyms ที่มีความหมายคล้ายๆ กันอีก เช่น abandon, desert, exile, forsake, neglect, waive, quit, withdraw

‘ยกเลิก’

รู้ทัน Collocations ใน Reading Comprehension

กลุ่มที่ 2 เป็น collocation ที่มีความหมายว่า ‘ยกเลิก’ ไม่ว่าจะ เลิกทาส (ยกเลิกระบบทาส) ด้วยการ ‘abolish slavery’ หรือ การยกเลิก (เพิกถอน) ใบอนุญาตต่างๆ ด้วยการ ‘revoke the license’ และสุดท้าย ล้มล้างทฤษฏี (ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ) ด้วยการ ‘invalidate the theory’

นอกเหนือจากนี้ ยังมี similar collocations หรือ กลุ่มคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น

  • Do away with, dispense with หรือ take away from ซึ่งหมายถึงการ ‘กำจัด’

และยังมีคำเหมือน หรือ synonyms ที่มีความหมายคล้ายๆ กันอีก เช่น abrogate, cancel, repeal, void

‘ปฏิเสธ’ หรือ ‘ไม่ยอมรับ’

รู้ทัน Collocations ใน Reading Comprehension

กลุ่มที่ 3 เป็น collocation ที่มีความหมายว่า ‘ปฏิเสธ’ หรือ ‘ไม่ยอมรับ’ ไม่ว่าจะ ปฏิเสธข้อกล่าวหา ด้วยการ ‘deny accusations’ หรือ การปฏิเสธหน้าที่ความรับผิดชอบ ด้วยการ ‘abnegate the responsibility’ และสุดท้าย ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับข้อเสนอ ด้วยการ ‘decline the offer’

Collocation กลุ่มนี้มีคำเหมือน หรือ synonyms ที่มีความหมายคล้ายๆ กัน คือ reject, renounce, repudiate

เพียงแค่เรามีความรู้เท่าทันใน collocation เราก็พอที่จะคาดเดา (speculate) ความหมายของสิ่งที่เราอ่านอยู่ได้บ้าง ลองดูตัวอย่างบทความนี้กันครับ

“… And of course the final and most drastic choice would be for the king to renounce the throne.”

“Abdicate?” Julian asked, the word zipping into the air like a firework.

“Yes. It is true. There is the option of an abdication. But that would be a last resort,” Philip added hastily.

“I don’t think it will come to that. There are so many arguments against it and the king is not unaware of them. For a start, he knows the country loves him and would never forgive him if he abandoned them. And for another thing, it is uncertain where he would go. The king is not a man who would take easily to permanent exile.”

ในประโยคแรกเราเห็นส่วนที่บอกว่า “… the king to renounce the throne.” ซึ่งเป็น collocation ที่มีความว่า ‘ปฏิเสธ’ หรือ ‘สละ’ ดังนั้นเราพอจะเดาความหมายได้เลยว่าตรงนี้พูดถึงการตัดสินพระทัย ’สละราชบัลลังก์’ ของพระราชา ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า abdicate ในประโยคถัดมา และเหมือนกับคำว่า abdication ซึ่งแปลว่า ‘การสละ’ เช่นเดียวกัน ต่อมาบทความยังบอกอีกว่า พระองค์ทรงตระหนักดีกว่าประชาชนต่างก็รักพระองค์ และคงจะไม่พอใจเป็นแน่หากพระองค์จะ abandon หรือทรง ‘ทอดทิ้ง’ พวกเขาไปนั่นเอง และอีกอย่างคือพระองค์เองก็ยังไม่ทรงทราบว่าเมื่อสละแล้วจะเสด็จไปอยู่แห่งไหนใด เนื่องจากพระองค์มิใช่บุคคลที่จะทรงยอมรับสภาพ permanent exile หรือการถูก ‘อัปเปหิ’ อย่างถาวร ได้ง่ายๆ นั่นเอง

นอกเหนือจาก collocation ทั้ง 3 กลุ่ม ที่ได้แนะนำมานี้ ยังมี collocation อีกมากมาย รวมถึง 10 Verb Collocations ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการเขียน writing เช่น ในการทำข้อสอบ TOEFL ได้อีกด้วย อย่าลืมนะครับว่า collocation คือเครื่องทุ่นแรงในการเรียนภาษาอังกฤษ เพียงแค่มีคำขึ้นต้น เราก็สามารถดักจับกลุ่มคำที่จะตามมาแบบเป็น chunk ได้ ทำให้เราคาดเดาความหมายล่วงหน้าได้ทันที เท่านี้เราก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นโดยไม่รู้ตัวเลยครับ แล้วพบกับเทคนิคดีๆ ในการรู้ทันความอินดี้ในภาษาอังกฤษได้ใหม่ในตอนต่อไปนะครับ สวัสดีครับ

อ้างอิง:
Nicolson, J. (2012). Abdication: A Novel (1st ed.). New York, USA: Atria Books.
https://www.goodreads.com/book/show/12331573-abdication

โดย ครูพี่พีท XChange English

บทความแนะนำ