dpu ท่องเที่ยว สกูตเตอร์ไฟฟ้า

DPU แนะนำท่องเที่ยวแบบ New Normal ด้วยสกูตเตอร์ไฟฟ้า

Home / วาไรตี้ / DPU แนะนำท่องเที่ยวแบบ New Normal ด้วยสกูตเตอร์ไฟฟ้า

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังไม่จบลงง่าย ๆ แต่รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ตามระบบห่วงโซ่อุปทาน คนไทยเองเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ด้วยความระมัดระวัง จากที่เคยถูกจำกัดพื้นที่ จำกัดการเดินทาง จึงเริ่มหันกลับมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอีกครั้ง แต่พฤติกรรมในการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป นักวิชาการได้ทำการวิจัยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า คนไทยจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ นิยมการเดินทางด้วยรถส่วนตัว เลือกไปในสถานที่ Unseen ผู้คนไม่พลุกพล่าน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เที่ยวแบบ New Normal ท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ

ด้วยสกูตเตอร์ไฟฟ้า

นางสาวยุวรี โชคสวนทรัพย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางการท่องเที่ยว แบบตอบโจทย์ยุค New normal หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ จะเป็นส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างดี จึงจัดทำโครงการบริการวิชาการ “เปิดมุมมองใหม่ไปกับสกูตเตอร์ ตอน หลงรักบางกอก บอกรักเจริญกรุง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบวิถีปกติใหม่และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism-RT) ในรูปแบบสกูตเตอร์ไฟฟ้า

นอกจากจะลดมลภาวะ ยังสามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายและทั่วถึง เชื่อมโยงกับการเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการแก่สังคม เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นพหุวัฒนธรรมในย่านเจริญกรุง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ และเขตพระนคร ของกรุงเทพมหานคร โครงการนี้จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 20 คน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

จุดหมายปลายทางท่องเที่ยว

จุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ที่สร้างความน่าสนใจในรายการนี้ คือการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย อันประกอบด้วยชุมชนนานาชาติ ร้านอาหารพื้นถิ่น และความเป็น ‘แห่งแรก’ ในเมืองไทย อาทิ ถนนสายแรก เส้นทางรถรางสายแรก โรงแรมแห่งแรก ประกอบกับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา กำหนดเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ตั้งแต่ท่าเรือสาทรสู่คลองโอ่งอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ

อาทิ ศาลเจียวเองเบี้ยว มัสยิดฮารูณ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โบสถ์กาลหว่าร์ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร วัดอุภัยราชบำรุง รวมถึงการรับประทานอาหารสไตล์อินเดีย-ปากีสถาน เพื่อสะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมในย่านเจริญกรุง การเยี่ยมชมสถานที่ ถ่ายภาพอาคารตึกเก่า วิถีชีวิตบนถนนเจริญกรุง โดยเชื่อมโยงเข้ากับงานสตรีทอาร์ต แสดงให้เห็นศักยภาพในพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์และแหล่งการค้าที่เคยรุ่งเรือง ตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ทำไมต้องเป็นสกูตเตอร์ไฟฟ้า

สกูตเตอร์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกของการใช้พาหนะเดินทาง ที่รวดเร็วกว่ารถจักรยาน คล่องตัวกว่ารถจักรยานยนต์ มีความสะอาดกว่าและปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีขนาดกะทัดรัด สะดวกในการจัดเก็บไม่ขวางทางเท้า อีกทั้งยัง สามารถเว้นระยะห่าง  ตอบโจทย์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในสถานการณ์เช่นนี้ และเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ทั่วถึงกว่า

ด้านความปลอดภัยของพาหนะเดินทางชนิดนี้ มีความเร็วสูงสุดประมาณ 20 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง นับว่าเป็นการจำกัดความเร็วอยู่ในระดับที่เหมาะสม สกูตเตอร์สามารถวิ่งได้ต่อเนื่องในระยะทางไม่เกิน 25 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางที่จัดขึ้นแม้จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่ก็อยู่ระยะทางเพียงแค่ 7 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้หมดความกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดเสียก่อน

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

การเดินทางรูปแบบนี้เป็นกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน เรียนรู้ได้ง่ายดาย เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย แม้เพิ่งได้ลองขับขี่เป็นครั้งแรก เสียงตอบรับของผู้ร่วมโครงการซึ่งเป็นสตรีอายุ 76 ปีท่านหนึ่ง กล่าวว่า “ขอบคุณคณะผู้จัดที่จัดโครงการดี ๆ และแปลกใหม่ แบบนี้ขึ้นมา นอกจากได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ยังได้ลองขี่สกูตเตอร์เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งมีความสุขและประทับใจมาก” ดังนั้น อายุจึงไม่ถือเป็นอุปสรรคต่อการขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้า

การทำทัวร์ด้วยสกูตเตอร์สำคัญที่การจัดการ แม้ว่าการท่องเที่ยวด้วยสกูตเตอร์จะสะดวกรวดเร็ว แต่ถนนหนทางในกรุงเทพฯ หลายเส้นทางผิวถนนไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนบางสายที่รถหนาแน่นอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นผู้ประกอบการที่ให้บริการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ จำเป็นต้องมีการจัดการและการวางแผนการเดินทางเป็นอย่างดี อาทิ

  • การเตรียมความพร้อมเพื่อใช้งานของสกูตเตอร์ทุกคัน การเตรียมสกูตเตอร์สำรองที่เพียงพอ หากเกิดความขัดข้องทางเทคนิค
  • การติดต่อประสานงานกับแหล่งท่องเที่ยวแต่ละจุด เพื่อจัดหาที่จอดสกูตเตอร์ที่ปลอดภัย
  • การเลือกใช้เส้นทางที่มีความปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
  • และต้องมีจำนวนทีมงานที่เพียงพอต่อการดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง

มัสยิดฮารูณ

มัสยิดฮารูณ

มัสยิดฮารูณ

วัดประทุมคงคา

วัดประทุมคงคา

วัดประทุมคงคา

วัดอุภัยราชบำรุง

วัดอุภัยราชบำรุง

โครงการบริการวิชาการ ของคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมในครั้งนี้ ได้พันธมิตรที่เป็นมืออาชีพในการจัดการ ทั้งด้านวิชาการ จาก อ.ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร และพันธมิตรด้านวิชาชีพ จาก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยสกูตเตอร์ Scoot de Urban กล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวโดยสกูตเตอร์เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้มีความทันสมัย รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถเพิ่มคุณค่าของการท่องเที่ยวโดยให้ความรู้ทางวิชาการ ด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม จะทำให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนต่อไป

บทความแนะนำ