การจัดอันดับ การออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ นักศึกษาจบใหม่ ศิลปะ สายศิลป์ แนะแนวการศึกษา

14 อาชีพที่น่าสนใจ ทางด้านศิลปะ และการออกแบบ

Home / บทความการทำงาน / 14 อาชีพที่น่าสนใจ ทางด้านศิลปะ และการออกแบบ

น้องๆ หลายคนอาจจะสนใจ หากเรียนจบทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ จิตรกรรม ด้านการออกแบบ และด้านมัณฑนศิลป์ สามารถที่จะไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง แล้วแต่ละอาชีพจะต้องเจองานแบบไหน วันนี้ แคมปัส-สตาร์ ได้หาคำตอบมาให้แล้ว ” อาชีพทางด้านศิลปะ การออกแบบ ” พร้อมทั้งยังมีรายชื่อคณะที่เปิดสอน เกี่ยวกับทางด้านศิลปะมาบอกน้องๆ ที่มีความสนใจทางด้านนี้กันด้วย

แนะนำ 14 อาชีพทางด้านศิลปะ

1. อาชีพจิตรกร

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : ต้องสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทย์-คณิต หรือสายศิลป์ ก็ได้ และจะต้องมีความสนใจในงานศิลปะ เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ หรือคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านนี้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น

คุณสมบัติของจิตรกรที่ดี : ต้องเป็นคนที่มีจินตนาการสูง และสามารถถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นผลงานศิลปะที่ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ พร้อมทั้งยังจะต้องมีความถนัด มีความรู้ทางด้านศิลปะเป็นอย่างดี มีความชื่นชอบ สนใจ ในวรรณคดี ดนตรี และศิลปะ

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : จะทำงานเกี่ยวกับการเขียนภาพทิวทัศน์ ภาพเหมือน ภาพหุ่นนิ่ง ภาพแบบแอบสแตรกท์ และภาพองค์ประกอบที่มีความคล้ายคลึงกัน พร้อมทั้งลงสีภาพด้วย สีน้ำมัน สีน้ำ และสีอื่นๆ โดยจะต้องทำการร่างภาพองค์ประกอบเป็นเส้นโครงภายนอกลงบนผ้าใบ เพื่อเขียนภาพจากแบบ จากภาพภูมิประเทศ หรือจากความทรงจำ หลังจากนั้นจึงทำการลงสีภาพที่เขียนเอาไว้ นอกจากที่จิตรกรจะต้องเป็นคนที่เขียนภาพ ลงสีเองแล้ว ยังจะต้องทำการซ่อมบำรุงภาพที่มีความเสียหายหรือสีจืดจางอีกด้วย

แนวทางในการประกอบอาชีพ :

  1. รับราชการ
  2. ทำงานในบริษัทเอกชน
  3. เป็นศิลปินอิสระ

Sculptor

2. อาชีพประติมากร

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : สำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากจะประกอบอาชีพประติมากร สามารถเข้าศึกษาต่อได้ทั้งในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเลย เช่น วิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาเขตเพาะช่าง เป็นต้น ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง หรือมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

คุณสมบัติของประติมากรที่ดี : มีความรู้และความถนัดทางช่าง มีศิลปะ มีสุนทรียะ คือ การเข้าถึงความหมายและคุณค่าของงานทางด้านศิลปะ ชอบและสนใจในสิ่งที่สวยงามต่างๆ ทั้งทางด้านวรรณคดี ดนตรี และศิลปะ พร้อมทั้งยังต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะ คนตรี ในทุกแขนงอีกด้วย ว่าแต่ละแขนงมีความเกี่ยวข้องหรือแตกต่างกันอย่างไร มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบชิ้นงานแต่ละชิ้นให้มีความสวยงาม สมจริงมากที่สุด

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : ทำงานศิลปะเกี่ยวกับ การปั้น สร้างหุ่นจำลอง อนุสาวรีย์ ภาพวาดหรืองานมัณฑนศิลป์ โดยทั่วไปจะเป็นแบบลอยตัวหรือแบบนูน ด้วยการแกะสลักหิน แกะสลักไม้ หรือปั้นด้วยดินเหนียว ต้องคัดเลือกวัสดุที่มีสัดส่วน และคุณภาพตามที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงทำการร่างแบบของงานที่จะทำ แล้วใช้ขี้ผึ้งหรือปูนพลาสเตอร์ จำลองแบบตามอัตราส่วน วัดสัดส่วนด้านนอกจากแบบแล้ว เอาสัดส่วนจากแบบไปทำเครื่องหมายเป็นจุดๆ ลงบนแท่งวัสดุที่จะใช้ ใช้เครื่องมือที่พอเหมาะสลักหรือขึ้นรูป พยายามจัดเส้นและมวลให้อยู่ในตำแหน่งที่กลมกลืนและสวยงาม ส่วนในขั้นสุดท้ายทำการตกแต่งผิวให้เรียบร้อย

แนวทางในการประกอบอาชีพ

น้องๆ ที่เรียนจบทางด้านนี้สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น ครู-อาจารย์ ช่างปั้นหุ่น หรือจะประกอบอาชีพอิสระ ผลิตงานด้านศิลปะก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปั้นหุ่น การตกแต่งสถานที่ต่างๆ

3. อาชีพมัณฑนากร

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ น้องๆ จะต้องมีพื้นฐานทางศิลปะและเป็นคนที่มีความละเอียดถี่ถ้วน จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป์ เข้าศึกษาต่อคณะมัณฑนศิลป์ ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และจุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น สำหรับระยะเวลาตามหลักสูตรมีทั้งที่เปิดสอน 4 ปี และ 5 ปี ในระดับปริญญาตรี และ 2 ปี ในระดับปริญญาโท สามารถเลือกเสริมประสบการณ์ได้โดยการเข้าฝึกงานกับบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านนี้อยู่ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งของไทยและต่างชาติ

คุณสมบัติของมัณฑนากรที่ดี : ต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงลักษณะงานและสภาพแวดล้อมของงานนั้นๆ มีทักษะและมีความเข้าใจทางด้านงานศิลปะในเชิงสร้างสรรค์และมองการณ์ไกล สามารถเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ได้ ต้องเป็นนักตั้งปัญหาที่ดีและมีความละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงการมีรสนิยมที่ดีด้วย มีมนุษยสัมพันธ์ดีในการติดต่อประสานงานกับทุกฝ่าย ชอบและสนใจสิ่งสวยงามด้านศิลปะ ดนตรี และวรรณคดี เข้าใจงานช่างเทคนิค เพื่อทำงานร่วมกันได้ในสาขาเกี่ยวข้องกัน พร้อมทั้งยังจะต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของวงการ และการเปลี่ยนแปลงของศิลปะการออกแบบ ทั้งในด้านการตลาดและธุรกิจ

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : ศึกษาโครงสร้างของงานและดำเนินการออกแบบตกแต่ง จัดหาเครื่องตกแต่งภายใน เพื่อตอบสนองงานนั้นๆ ให้ตรงเป้าหมายและประโยชน์ใช้สอย ประเมินราคาและควบคุมการตกแต่งรวมถึงการติดต่อประสานกับผู้ทำงานระบบต่างๆ ตั้งแต่อาคารที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน รวมถึงอาคารสาธารณะ หรือสถานบริการที่มีลักษณะพิเศษ เช่น พิพิธภัณฑ์ สนามบิน เป็นต้น

แนวทางในการประกอบอาชีพ

มัณฑนากร เป็นอาชีพที่ต้องให้บริการ แนะนำ และแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์แก่ผู้ว่าจ้าง โดยน้องๆ ที่ต้องการเรียนต่อทางด้านนี้ จะต้องเป็นคนที่ความละเอียด ถี่ถ้วน และมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ที่ดี ส่วนรายได้ของอาชีพนี้ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาด้วย โดยอาชีพมัณฑนากร หรือนายช่างออกแบบตกแต่งภายใน สามารถเลือกที่จะทำงานได้ทั้งในหน่วยราชการ สำนักงาน ห้างร้านต่างๆ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว

งานทางด้านสายศิลป์

4. ช่างเขียนแบบโฆษณา (ศิลปะไทย)

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 4 ปี หรือคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 5 ปี เป็นต้น

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : เขียนและออกแบบภาพเพื่อลงในหนังสือ วารสาร แผ่นป้ายโฆษณา แผนภูมิ ฉลากปิดภาชนะ ศึกษารายละเอียดต่างๆ หรือปรึกษางานกับผู้ควบคุมงาน หรือลูกค้า เพื่อพิจารณากำหนดความคิดที่จะออกแบบแผนภาพ และเนื้อที่ที่ใช้ในการเขียนภาพ ข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเขียนภาพ ทำความเข้าใจในข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะนำมาเขียนภาพแล้วนำเสนอลูกค้าเพื่อพิจารณาอนุมัติ และยังจะต้องรู้จักเลือกใช้เครื่องเขียน เช่น ดินสอ หมึก สีน้ำมัน สำหรับนำมาเขียนภาพที่ต้องการอีกด้วย

คุณสมบัติของช่างเขียนแบบโฆษณาที่ดี

  1. เป็นผู้มีความสนใจและมีทักษะในวิชาศิลปะไทย
  2. มีนิสัยและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแสดงออกทางศิลปะไทย
  3. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความอดทน
  4. เห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปะไทย
  5. มีมนุษยสัมพันธ์ดี

แนวทางในการประกอบอาชีพ

  1. ภาครัฐ รับราชการในหน่วยงานที่ทำหน้าที่เผยแพร่การทำงานหรือการให้บริการ เช่น ศูนย์สารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ ศูนย์วิเทศสัมพันธ์ เป็นต้น
  2. ภาคเอกชน เข้าทำงานในบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการโฆษณา หรือการประชาสัมพันธ์
  3. ประกอบอาชีพส่วนตัว โดยการรับทำป้ายโฆษณาหรือออกแบบโฆษณาต่างๆ

14 อาชีพที่น่าสนใจ ทางด้านศิลปะ

5. ศิลปินสาขาทัศนศิลป์

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : มีความตั้งใจจริง มีความรู้พื้นฐานทางศิลปกรรม ซึ่งน้องๆ สามารถเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิด เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น โดยใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี คือ ในระดับปริญญาตรี และ 2 ปี ในระดับปริญญาโท นั่นเอง

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : ผลิตผลงานศิลปกรรม ที่มีคุณค่าทางความงามและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ : เป็นผู้มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ทางด้านศิลปะ มีทักษะในการนำเสนอความคิดอย่างมีรสนิยม มองการณ์ไกล และสามารถเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ได้

แนวทางในการประกอบอาชีพ

เป็นศิลปิน ความสำเร็จในอาชีพขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัว

6. นักออกแบบนิเทศศิลป์

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : เป็นผู้ที่มีความต้องการเป็นนักออกแบบนิเทศศิลป์ เข้าใจลักษณะงาน หน้าที่และความรับผิดชอบของวิชาชีพนี้ โดยจะต้องผ่านการคัดเลือกในการสอบวิชาพื้นฐานทางศิลปะ และความถนัดทางศิลปะเฉพาะด้านเพิ่มเติม จึงจะสามารถเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี (4 ปี) สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ หรือคณะมัณฑนศิลป์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น

ลักษณะงานมี 3 แบบด้วยกัน คือ

1. การออกแบบเรขศิลป์ ทางการพิมพ์ ได้แก่ การออกแบบเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร หนังสือ ภาพโฆษณา เครื่องหมายการค้า บรรจุภัณฑ์ และสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ

2. การออกแบบเรขศิลป์ สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การออกแบบที่แสดงสินค้า นิทรรศการ ตัวอักษรสัญลักษณ์ของอาคารสถานที่ เครื่องหมายจราจร แผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในที่สาธารณะ

3. การออกแบบหัวเรื่องภาพยนตร์และโทรทัศน์ ภาพนิ่งโฆษณาทางโทรทัศน์ และภาพยนตร์โฆษณา

คุณสมบัติของนักออกแบบนิเทศศิลป์ที่ดี : มีความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีทักษะทางวิชาชีพโดยสามารถสื่อสารได้ชัดเจนและตรงเป้าหมาย รอบรู้ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ รอบตัว ช่างสังเกต มีทักษะทางภาษาดี มีจริยธรรมโดยไม่ลอกเลียนความคิดของผู้อื่น มีสำนึกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีวินัยของนักออกแบบ คือ ตรงต่อเวลา มีความพร้อมในการทำงาน และไม่เอาเปรียบลูกค้าอีกด้วย

แนวทางในการประกอบอาชีพ

ทำงานเป็นนักออกแบบ ในสาขาที่เกี่ยวข้องในหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ที่ดำเนินกิจการ ทางด้านการออกแบบกราฟิก การพิมพ์ และการโฆษณา หรืออาจเป็นเจ้าของกิจการเอง ความสำเร็จในอาชีพขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัว และการพัฒนาตนเองให้มีความเหมาะสมในการเป็นหัวหน้างาน

7. อาชีพนักแสดง

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป์ (ภาษา) มีความถนัดและสนใจด้านศิลปะ ศึกษาต่อสาขาดนตรีไทย สาขาดนตรีสากล สาขาศิลปการละคร สาขาสื่อสารการแสดง คณะครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ หรือคณะนิเทศศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : แสดงบทบาทต่างๆ ในการแสดงละครหรือภาพยนตร์ ซ้อมบทบาทที่ต้องแสดงโดยการศึกษาเนื้อเรื่องและบทที่ได้รับมอบหมายให้แสดง แสดงบทตลก บทที่เคร่งเครียด โดยการใช้ถ้อยคำหรือกิริยาท่าทางแสดงประกอบ อาจร้องเพลง เต้นรำ หรือฟ้อนรำ ในการประกอบการแสดงด้วย

คุณสมบัติของนักแสดงที่ดี : มีความถนัดทางศิลป์ สนใจสิ่งสวยงาม ดนตรี วรรณกรรม มีอารมณ์อ่อนไหว มีจินตนาการสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และต้องไม่ลอกเลียนแบบใคร

แนวทางในการประกอบอาชีพ

รับราชการ หรือทำงานเอกชน เป็นนักแสดง นักร้อง นักดนตรี โอกาสก้าวหน้าขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้แสดง และความนิยมของผู้ชม

งานทางด้านสายศิลป์ 14 อาชีพทางด้านศิลปะ

14 อาชีพทางด้านศิลปะ

8. ช่างตกแต่งหน้าร้าน (นฤมิตศิลป์)

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : ต้องสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ และเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะเวลาการศึกษาอบรมประมาณ 4 ปี

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : เขียนภาพศิลป์ จัดแสดงหน้าร้าน หรือสถานที่แสดงสินค้าอื่นๆ เขียนภาพสเกตซ์และแผนผังการแสดง ตลอดจนออกแบบเครื่องติดตั้งอยู่กับที่หรือแผ่นป้ายโฆษณา จัดสีให้กลมกลืนกันและออกแบบให้มีสินค้าที่จะนำออกแสดง และสร้างเครื่องติดตั้งอยู่กับที่ ให้คำแนะนำชี้แจงและควบคุมคนงานในการจัดวางสิ่งของที่นำออกแสดง นอกจากนี้ยังจะต้องสร้างเครื่องติดตั้งอยู่กับที่ จัดฉากหลังและเครื่องติดตั้งอยู่กับที่ไว้ตามที่ต่างๆ และจัดวางสินค้า โดยเน้นให้เห็นตัวสินค้าอย่างชัดเจน

คุณสมบัติของช่างตกแต่งหน้าร้านที่ดี

  1. เป็นผู้ที่มีความสนใจและมีทักษะในวิชาด้านศิลปกรรม
  2. มีนิสัยและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแสดงออกทางศิลปะ
  3. มีความรู้และความสามารถทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  4. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบ
  5. มีบุคลิกภาพดี และมีมนุษยสัมพันธ์
  6. มีความอดทน และขยันหมั่นเพียร

แนวทางในการประกอบอาชีพ

สามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยการรับออกแบบตกแต่งหน้าร้าน รายได้และความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับผลงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

9. ผู้แสดงระบำ (รำฟ้อน)

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชานาฏศิลป์หรือนาฏยศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันราชภัฏและวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ ระยะเวลาการศึกษาประมาณ 4 ปี

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : แสดงระบำ (รำฟ้อน) ในฐานะเป็นผู้แสดงเดี่ยว ผู้แสดงร่วมคู่ หรือเป็นกลุ่ม ฝึกฝนตามแบบฝึกหัด เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนมีความว่องไว อ่อนไหว ดูนุ่มนวล มีพลัง (กล้ามเนื้อ) ทั้งแขนและขา หมั่นฝึกซ้อมเป็นประจำ แสดงระบำทั้งในด้านการเต้นแบบวิสุทธิศิลป์ หรือแบบประยุกต์ เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกทั้งร่างกายและใบหน้า ตามบทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ อาจขับร้องเพลง หรือนำสิ่งที่เหมาะสมมาประกอบในการแสดงระบำด้วย โดยปกติมักจะเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามแบบอย่างของการแสดงระบำ เช่น ท่าเต้นรำแบบทั่วๆ ไป นาฏศิลป์ไทย หรือการร่ายรำแบบพื้นเมือง เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้แสดงระบำที่ดี

  1. เป็นผู้ที่มีความสนใจและมีทักษะในวิชานาฏยศิลป์
  2. มีความอดทน ขยัน และมีความรับผิดชอบต่อการฝึกฝนทักษะทางด้านนาฏศิลป์
  3. มีสุขภาพอนามัยทางร่างกายและทางจิตใจดี
  4. มีมนุษยสัมพันธ์และบุคลิกภาพดี
  5. มีความเชื่อมั่นในตนเองและกล้าแสดงออก
  6. มีคุณธรรม จริยธรรม และซื่อสัตย์

แนวทางในการประกอบอาชีพ

รับราชการในหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย เป็นต้น หรือรับจ้างบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านการแสดงนาฏศิลป์ ในโรงแรม ภัตตาคาร หรือสวนอาหาร ฯลฯ

10. อาชีพนักดนตรี

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : เข้าศึกษาต่อในคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถาบันราชภัฏฯ เป็นต้น

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : เป็นผู้ปฏิบัติเครื่องดนตรีตั้งแต่ 1 เครื่องขึ้นไป โดยไม่คำนึงว่าเป็นผู้แสดงเดี่ยว ผู้เล่นแนวคลอ หรือเป็นนักดนตรีประจำอยู่ในวงดุริยางค์ วงดนตรี หรือกลุ่มดนตรีประเภทใด ฝึกฝนและหมั่นซ้อมตามบทเพลง รู้วิธีการเทียบเสียงให้ถูกต้องตามระดับเสียงของเครื่องดนตรี และเล่นดนตรีด้วยการอ่านโน้ตเพลง หรือจากความจำ โดยทั่วไปอาจมีชื่อเรียกตามชื่อของเครื่องดนตรีที่ปฏิบัติอยู่ เช่น นักไวโอลิน นักเซลโล่ นักเป่าคาลิเน็ต เป็นต้น

คุณสมบัติของนักดนตรีที่ดี : มีความขยันหมั่นเพียร อดทน มีมนุษยสัมพันธ์ดี คล่องแคล่ว ทันสมัย มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออก และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา

แนวทางในการประกอบอาชีพ

ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี ตามวงดุริยางค์ วงดนตรี หรือกลุ่มดนตรี ตามความสามารถในเครื่องดนตรีที่ตนถนัดนั่นเอง

11. นักออกแบบผลิตภัณฑ์

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : น้องๆ จะต้องจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์ หรือสายศิลป์ มีความคิดสร้างสรรค์ และเข้าศึกษาต่อในภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นต้น

คุณสมบัติของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดี : รักการเรียนรู้ ช่างสังเกต และมีเหตุผล สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว มีความเชื่อมั่น มีศักยภาพทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ตรงต่อเวลา รักษาความถูกต้อง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างมีจริยธรรม

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : จะทำงานในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ของตกแต่ง หีบห่อ กราฟิก เครื่องประดับโลหะ หรือพลาสติก เป็นต้น พร้อมทั้งยังจะต้องเขียนแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และควบคุมดูแลการผลิตให้เป็นไปตามแบบ เพื่อให้ได้งานในลักษณะที่ต้องการอีกด้วย

แนวทางในการประกอบอาชีพ

การออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่มีจุดอิ่มตัว เนื่องจากสังคมยังมีความต้องการสิ่งใหม่ๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สามารถประกอบอาชีพเป็นได้ทั้งนักออกแบบ หัวหน้า ผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

12. นักออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป์ หรือสายวิทยาศาสตร์ หรืออาชีวะศิลป์ ปวช. ที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าศึกษาต่อสาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (โดยประมาณรับนักศึกษาปีละประมาณ 25 คน) โดยผ่านการสอบคัดเลือกของทบวงมหาวิทยาลัย

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : นักออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา จะมีหน้าที่ในการทำต้นแบบของผลิตภัณฑ์ตลอดจนถึงควบคุมดูแลกระบวนการผลิต ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและตรงต่อความต้องการออกมา

คุณสมบัติของ นักออกแบบเครื่องเคลือบดินเผาที่ดี : เป็นผู้มีความคิดในเชิงสร้างสรรค์ รักงานศิลปะ ชอบค้นคว้า ทดลองประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ แปลกๆ มีความสนใจและติดตามงานศิลปะอื่นๆ มีความอดทน และสู้งานหนัก

แนวทางในการประกอบอาชีพ

เป็นมัณฑนากร หรือนักออกแบบเซรามิกส์ ในหน่วยงานของราชการ โรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกส์ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นศิลปินอิสระ คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่อความสำเร็จคือ จะต้องมีทัศนคติอันดีเลิศต่องานที่ทำ รักงานที่ทำ มีความอดทน และสู้งานหนัก

งานทางด้านสายศิลป์ 14 อาชีพที่น่าสนใจ ทางด้านศิลปะ

13. นักออกแบบเครื่องแต่งกาย

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : น้องๆ จะต้องเข้าศึกษาต่อในคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาบ้านและชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : สร้างแบบผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ออกแบบโดยพิจารณาถึงจุดมุ่งหมาย ต้นทุน รายการทางเทคนิคต่างๆ วิธีการผลิต และความพอใจของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย ร่างแบบ นำภาพเขียนเสนอขอความเห็นชอบจากฝ่ายจัดการหรือลูกค้า และต้องดัดแปลงแก้ไขแบบตามความจำเป็น

คุณสมบัติของ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย : เป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ ประณีต มีใจรัก และสนใจในวิทยาการและแฟชั่นใหม่ๆ เสมอ มีมนุษยสัมพันธ์ดี ใจเย็น มีศิลปะ และมีรสนิยมการแต่งกายดี

แนวทางในการประกอบอาชีพ

เป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายของห้องเสื้อ สถาบันสอนการออกแบบ เป็นนักออกแบบอิสระ หรือประกอบอาชีพส่วนตัว เปิดห้องเสื้อออกแบบเครื่องแต่งกาย

14. นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม/พาณิชยกรรม

การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพนี้ : สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ใช้เวลาในการศึกษา 5 ปี ฯลฯ

ลักษณะงานที่ต้องเจอ : ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น เครื่องเรือน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว เครื่องเพชรพลอย สิ่งทอ สิ่งถัก และเครื่องใช้ภายในบ้านเรือน โดยออกแบบให้มีรูปลักษณะที่สวยงามและใช้ประโยชน์ได้ด้วย พิจารณาถึงจุดมุ่งหมาย ต้นทุน รายการทางเทคนิคต่างๆ วิธีการผลิต และความพอใจของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ร่างแบบแสดงลักษณะ รูปร่าง ขนาดและรายการอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์ นำภาพเขียนเสนอขอความเห็นชอบจากฝ่ายจัดการหรือลูกค้า และดัดแปลงแก้ไขแบบให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า

คุณสมบัติของนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

  1. มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจินตนาการ
  2. มีความสามารถและทักษะในการออกแบบผลิตภัณฑ์
  3. มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
  4. มีความสนใจทางด้านศิลปะการสื่อความหมายประเภทต่างๆ
  5. มีความรู้กว้างขวาง และสนใจที่จะใฝ่หาความรู้ด้านต่างๆ อย่างจริงจัง
  6. มีคุณธรรมและจริยธรรม

แนวทางในการประกอบอาชีพ

สามารถประกอบวิชาชีพอิสระ รับราชการ หรือทำงานบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น เครื่องเรือน เครื่องแก้ว เครื่องเพชรพลอย เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

ข้อมูลจาก : www.kku.ac.thวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีwww.fineart.tu.ac.thhttp://decorate.su.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง