คุณภาพนักเรียน นักเรียน ประเทศฟินแลนด์ ระบบการศึกษา

ทำไม? ฟินแลนด์ จึงเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก

Home / ข่าวการศึกษา / ทำไม? ฟินแลนด์ จึงเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก

เพื่อนๆ เคยสงสัยไหมว่า ทำไมประเทศที่มีขนาดไม่ต่างจากไทยมากนัก อย่างประเทศฟินแลนด์ถึงได้มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก โดยในขณะที่ประเทศไทยนั้นมีคุณภาพทางการศึกษาที่ตกอันดับลงมาอยู่ท้ายๆ ตลอด

ฟินแลนด์ ประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก

ฟินแลนด์เป็นประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรปตอนบน ที่มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน นับว่ามีประชากรที่เบาบาง แต่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ตามสถิติของสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2549 อยู่ในลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากพื้นฐานด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความเหลื่อมล้ำทางเศรฐกิจน้อยมาก มีการพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะทำให้ประเทศฟินแลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก และนี่คือสิ่งที่ทำให้ระบบการศึกษาในประเทศฟินแลนด์แตกต่างจากประเทศอื่นๆ มีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

1. โรงเรียนอนุบาล ไม่ได้สำคัญมากเท่ากับการได้ใช้เวลากับครอบครัว

ประเทศฟินแลนด์ เขาจะไม่เน้นให้เด็กนักเรียนอายุ 6-7 ขวบ ใช้เวลาในการเรียนอนุบาลมากจนเกินไป แต่เขาจะให้ความสำคัญการที่เด็กๆ ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่า เพราะเขาเชื่อว่าครอบครัวจะมอบความรัก ความรู้ สร้างสิ่งที่ดีงาม และถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณีให้กับเด็กๆ ได้ดีกว่าโรงเรียนอนุบาล ซึ่งถ้าเป็นในบ้านเรานั้นเด็กอายุ 6-7 ขวบก็จะเข้าชั้นเรียนในวัยประถมแล้ว จากนั้นก็จะเริ่มแข่งขันในการเรียน ทั้งเรียนพิเศษ ติวเพิ่มเติมกันอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ฟินแลนด์ก็มีการเปิดรับนักเรียนตั้งแต่วัยเด็ก 8 เดือน – 5 ปีด้วยเช่นกัน แต่จะเรียกว่า “Daycare” ซึ่งโรงเรียนที่จะสามารถรับนักเรียนกลุ่มนี้ได้ต้องมีสนามเด็กเล่น ให้เด็กๆ ได้เอาไว้วิ่งเล่นกัน พร้อมทั้งนี้ผู้ปกครองก็สามารถเข้าไปเล่นกับเด็กๆ ได้ แต่ผู้ปกครองคนไหนที่ไม่อยากส่งลูกไปที่ Daycare ก็สามารถที่จะจัดบ้านตัวเองให้เป็น Daycare ได้และทางเทศบาลเมืองจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนให้อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูลูกๆ ได้ด้วยตัวเองนั่นเอง และก็ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองรับเงินมาแล้ว จะสามารถเลี้ยงดูลูกแบบทิ้งๆ ขวางๆ ได้ เพราะทางเทศบาลจะมีการสุ่มตรวจอยู่เสมอว่าผู้ปกครองดูแลเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

2. เรียนเยอะไปก็ไม่ดี ควรแบ่งเวลาให้เด็กๆ ได้ทำในสิ่งที่สนใจด้วย

เด็กในวัยประถมศึษาที่ฟินแลนด์ จะเรียนไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง เพราะเขาเชื่อว่าเด็กในวัยนี้ควรที่จะมีเวลาในการทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจมากกว่าการมาเรียนอยู่เฉยๆ ทั้งวัน ซึ่งในขณะที่เด็กไทยต้องเรียนตั้งแต่เช้าจนถึงตอนเย็น แล้วบางคนยังต้องไปเรียนพิเศษต่ออีกด้วย (อาจจะทำให้เด็กเกิดเป็นความเครียดสะสมได้และเกิดความรู้สึกต่อต้านการเรียนในที่สุด)

3. จำนวนเด็กในชั้นเรียนน้อย เพื่อสะดวกในการดูแลอย่างทั่วถึง

สำหรับห้องเรียนของประเทศฟินแลนด์ จะมีการกำหนดให้มีนักเรียนห้องละ 12 คน สูงสุดไม่เกิน 20 คน ง่ายต่อการดูแล พูดคุยกันได้อย่างใกล้ชิดระหว่างคุณครูและนักเรียน เพราะด้วยที่นี่จะเน้นการพัฒนาความสามารถของเด็กๆ ให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งมีความแตกต่างจากบ้านเราค่อนข้างมากเลยทีเดียว ที่จะมีนักเรียนห้องละ 40-50 คน และมีการเรียนการสอนที่ปลูกฝังให้นักเรียนมีค่านิยมเดียวกันหมด เช่น ต้องเป็นหมอ เป็นวิศวกร โดยที่ไม่พยายามพัฒนาและสนับสุนศักยภาพที่เหมาะสมกับบุคคล

4. การศึกษาไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน ที่นี่จึงไม่เน้นเกรดเฉลี่ย

ด้วยความที่ประเทศฟินแลนด์เห็นว่าเกรดเฉลี่ยไม่ใช่การแข่งขัน หรือเป็นตัวแบ่งแยกความภาคภูมิใจ หรือสร้างความอับอายให้แก่นักเรียน เขาจึงเน้นการเรียนที่เป็นการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้มากกว่าเกรดเฉลี่ย ทำให้เด็กๆ เกิดความสนใจในการเรียนรู้มากกว่า และสามารถทำให้พวกแสดงตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจนว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แต่ถ้าเป็นในบ้านเรานั้นจะเห็นได้ว่าเด็กๆ ต้องแข่งขันกันมากเพียงใด ถึงจะสามารถทำเกรดเฉลี่ยออกมาได้ตามเกณฑ์ที่ได้วางเอาไว้

ทำไม ระบบการศึกษาประเทศฟินแลนด์ ถึงดีที่สุดในโลก

5. ไม่มีข้อสอบกลางในวัดระดับ

เพราะเขาเชื่อว่าแต่ละโรงเรียนมีจุดประสงค์และเป้าหมายในการมอบความรู้ หรือการศึกษาให้กับเด็กๆ แตกต่างกันออกไป จึงไม่สามารถที่จะใช้ข้อสอบมาตรฐานมาเป็นตัวชี้วัดผลคะแนนได้ ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราที่ต้องใช้ข้อสอบกลางในการวัดผลทางการเรียนของนักเรียนจากทั่วประเทศ

6. บริหารโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ มีประโยชน์แก่นักเรียนมากที่สุด

ที่นี่เขาจะจ้างผู้อำนวยการจากภายนอกโรงเรียนมาบริหารงาน และให้กรรมการโรงเรียนดูแล ซึ่งถ้าผู้อำนวยการมีผลงานที่ไม่ดีก็ต้องเชิญออกได้ เขาจะไม่ใช้ระบบราชการ หรืออายุราชการในการคัดเลือกคนเข้ามาบริหารโรงเรียน และจะไม่ใช้อาจารย์ในสถาบันมาเป็นผู้บริหาร ด้วยความที่เขาเชื่อว่าจะต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถในการบริหารจริงๆ เพราะการที่สอนเก่ง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเก่งในเรื่องการบริหารด้วย

7. ครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับและมีเกียรติ

ที่ฟินแลนด์ ครูของเขาทุกคนตั้งใจอยากเป็นครู คนที่เก่งที่สุดของประเทศจะแข่งกันเป็นครู เพราะครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับ ไม่ต่างจากแพทย์หรือทนายความ ระบบการศึกษาในฟินแลนด์กำหนดให้อาจารย์ประจำชั้นต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ

ส่วนอาจารย์ประจำวิชาจะต้องจบการศึกษาในคณะวิชาที่สอนก่อน และจึงมาศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาโทในคณะศึกษาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดพิเศษสำหรับครูการศึกษาพิเศษและครูแนะแนว ที่ต้องมีคุณวุฒิระดับปริญญาโทด้านการศึกษาพิเศษและการแนะแนวอีกด้วย

ข้อควรรู้เพิ่มเติม

โดยกฎหมายฟินแลนด์ กำหนดให้เด็กทุกคนเรียนภาคบังคับถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (เกรด 9) ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบ 85% และพอจบมัธยมต้นแล้ว ใครไม่อยากเรียนต่อก็ได้ ส่วนใครที่อยากเรียนต่อ รัฐจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้ผู้เรียนเกือบทั้งหมด ยกเว้นค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์การเรียน สามารถแบ่งไปได้ 2 ทาง ได้แก่

โรงเรียนมัธยมปลาย คือ เรียนต่อไปตั้งแต่เกรด 10-12 เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสายวิชาการ เช่น แพทยศาสตร์ ครุศาสตร์ นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น

โรงเรียนสายอาชีพ จะคล้ายๆ การเรียน ปวช. ของบ้านเรา เหมาะสำหรับนักเรียนที่ต้องการฝึกทักษะวิชาชีพเฉพาะทาง

เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมปลายหรือโรงเรียนสายอาชีพแล้ว ก็จะแยกไปได้อีก 2 ทางคือ มหาวิทยาลัย และโพลีเทคนิค ซึ่งระบบมหาวิทยาลัยของฟินแลนด์จะไม่ต่างจากในบ้านเรา พอเรียนจบปริญญาตรี ก็สามารถเรียนต่อปริญญาโทและเอกได้ ส่วนโพลีเทคนิคนั้น จะคล้ายๆ ปวส. ของเมืองไทยแต่จะใช้เวลาในการเรียน 3-4 ปี ปัจจุบันฟินแลนด์มีจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่เป็นของรัฐประมาณ 20 แห่ง และมีจำนวนโพลีเทคนิคประมาณ 30 แห่ง ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล เทศบาลและเอกชน

นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังเป็นประเทศหนึ่งที่ผลิตหนังสือสำหรับเด็กมากที่สุดในโลก รายการต่างประเทศที่เข้ามาฉายในช่องทีวีของฟินแลนด์ มักไม่ค่อยมีการพากย์เสียงภาษาฟินแลนด์ จะยังคงพูดภาษาเดิมนั้นๆ แต่จะขึ้นซับไตเติ้ลด้านล่างให้อ่านแทน และยังเป็นประเทศที่มีคอรัปชั่นน้อยมากถึงมากที่สุด

ข้อมูล : www.adviceforyou.co.th, th.theasianparent.com
ภาพประกอบ : www.scmp.comwww.moroccoworldnews.com

บทความแนะนำ