คณะน่าเรียน คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาคฑากร จุฬาฯ อะตอม พิมพ์ชนก เทคนิคการเรียน เน๋ง ศรัณย์ นราประเสริฐกุล

เทคนิคการเรียนสัตวแพทย์ ของคุณหมอนิสิตหน้าใส “เน๋ง-อะตอม” รั้วจุฬาฯ

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / เทคนิคการเรียนสัตวแพทย์ ของคุณหมอนิสิตหน้าใส “เน๋ง-อะตอม” รั้วจุฬาฯ

สาวกคนรักสัตว์ต้องไม่พลาด กับการมาตามติดคุณหมอนิสิตหน้าใส คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสาวสวย มากความสามารถ แบรนด์แอมบาสเดอร์ของคณะอย่าง อะตอม-พิมพ์ชนก สุวรรณธีรางกูร และหนุ่มหล่อ จุฑาคฑากร รุ่น 69 เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล ไปดูกันสิว่า พวกเขามีเทคนิคการเรียนและการฝึกหัดเป็นคุณหมอผู้ดูแลของบรรดาน้องหมา น้องแมวทั้งหลายยังไงบ้าง

เทคนิคการเรียนสัตวแพทย์

เหตุผลที่เลือกเป็นคุณหมอหน้าใส

อะตอม : ที่บ้านเลี้ยงสัตว์อยู่แล้วค่ะ ก็มีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงเป็นพิเศษ เลี้ยงทั้งสุนัข แมว ปลา นก กระต่าย เลยอะ ส่วนที่เลือกจุฬาฯ อันนี้ก็เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะ ว่าอยากจะเข้าที่นี่ พอได้เข้ามาจริงๆ ก็รู้สึกดีมากค่ะ

เน๋ง : จริงๆ ตอนม.ปลาย ผมยังไม่รู้ตัวเองว่าชอบด้านไหนจริงจัง แต่ว่าคุณพ่อเป็นสัตวแพทย์ จบจากจุฬาฯ นี่แหละ แล้วก็มีคลีนิกที่บ้านด้วยครับ โดยส่วนตัวเป็นคนชอบดูสารคดีนะ ก็เลยรู้สึกว่าคณะนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจ อยากจะลองมาเรียนดู

การเรียนตอนนี้ของแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง

อะตอม : จริงๆ ตอนแรกที่เข้ามาค่อนข้างต้องปรับตัวพอสมควรเลย เพราะคนรอบข้าง เพื่อนๆ ขยันแล้วก็เรียนเก่งด้วย อีกอย่างคือที่นี่กิจกรรมก็เยอะ มีค่าย มีชมรมให้เราไปทำกิจกรรมมากมายเลย ก็ต้องแบ่งเวลาให้ถูก แต่ตอนนี้ก็เรียนปี 6 แล้ว เป็นช่วงที่ฝึกงานเลยค่ะ ได้นำความรู้จากปี 1 ถึงปี 5 มาใช้จริงๆ แล้วเป็นอะไรที่สนุกดี เหมือนเรากำลังเริ่มเข้าสู่การทำงานจริงๆ สักที

เน๋ง : ของผมเข้ามาตอนแรกก็ต้องปรับตัวเยอะเลย เพราะมันยากขึ้นจากตอนมัธยมก็ต้องขยันมากขึ้น ตอนปี 1 นี่ เกรดดร็อป มาก แต่ตอนนี้ปี 3 ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว แต่การเรียนก็เริ่มหนักขึ้นเหมือนกัน เรียนเลิกห้าโมงทุกวัน คือจะเน้นเลกเชอร์กับแล็ปในวันเดียว เลกเชอร์ซะชั่วโมงหนึ่ง แล้วก็เป็นแล็ปอีกสามชั่วโมง

เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล และ อะตอม-พิมพ์ชนก สุวรรณธีรางกูร

เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล และ อะตอม-พิมพ์ชนก สุวรรณธีรางกูร

ส่วนที่ยากที่สุด ส่วนที่ชอบที่สุดในการเรียนสัตวแพทย์

อะตอม : ชอบช่วงฝึกงานนี่แหละค่ะ ทำให้เราได้ไปเจอเคสต่างๆ แล้วเอาสิ่งที่เรียนมาแก้ปัญหา อย่างเวลาไปออกค่ายต่างจังหวัด ไปช่วยวัวควายชาวบ้าน แล้วเขาก็มาขอบคุณเรา ก็รู้สึกภูมิใจ มันมีคุณค่าทางจิตใจ แต่ส่วนที่ยากคงเป็นเนื้อหา เพราะว่าสัตวแพทย์เรียนสปีชีส์เยอะมาก เรียนสัตว์ทุกอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างก็มีความแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เวลาเรียน หนูก็จะตั้งใจเรียนในห้องก่อน หรือเวลาเข้าแล็ปปฎิบัติการ เราก็ต้องอ่านทบทวนความรู้มาก่อน แล้วก็ต้องศึกษาจากพี่ Technician ว่าจะเริ่มต้นยังไง รักษายังไง เวลามีอะไรสงสัยก็รีบถามพี่เขาหรือถามอาจารย์เลย

เน๋ง : ผมชอบเวลาได้เรียนกลไกการทำงานของร่างกาย ว่าร่างกายคนหรือสัตว์ทำงานยังไง แต่ที่ยากก็คือเรื่องเนื้อหาท่องจำนี่แหละครับ 55 ผมไม่ค่อยชอบท่องจำเท่าไหร่นะ เวลาผมเรียน ผมก็เลยจะเรียนประหลาดกว่าคนอื่นเขา คือผมจะชอบเรียนในห้องแล็ปมากกว่า เพราะมันเห็นภาพจำได้ง่ายกว่า อย่างเลกเชอร์มันเยอะมาก เก็บในห้องเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์คงไม่หมด ผมก็จะใช้วิธีอัดเสียงแล้วเอาไปนั่งฟังทบทวนเองอีกที

เคสการเรียนสุดโหดหรือสุดประทับใจ

อะตอม : มีเคสหนึ่งที่ประทับใจ คือมีสุนัขพันธุ์บางแก้วตัวหนึ่ง ที่ไปวิ่งกับเจ้าของ พอกลับมาก็เดินไม่ได้ แล้วก็ตาบอดด้วย เจ้าของเลยต้องพามาหาหมอ ก็รักษาที่นี่อาทิตย์หนึ่ง จนมันเริ่มอาการดีขึ้น เจ้าของเขาก็ดีใจมาขอบคุณเราใหญ่เลยค่ะ แต่ถ้าเป็นเคสโหดๆ ต้องเคสที่ต้องไปที่ฟาร์มต่างๆ อย่างฟาร์มหมู วัวอย่างนี้ ก็จะต้องเป็นแนวลุยๆ อะ อย่างวัวที่เขาจะเน้นอยากได้ลูกวัว เราก็เลยต้องตรวจระบบสืบพันธุ์ของเขา โดยการล้วงเข้าไปในก้นวัว 55 มันก็ออกจะสกปรกอยู่ แต่ตอนนี้ก็เริ่มชินแล้วค่ะ

เน๋ง : ของผมปี 3 ยังไม่ได้ฝึกงานเคสใหญ่ๆ เท่าไหร่ จะมีแค่เรียนแล็ปดูซากสัตว์เหมือนอาจารย์ใหญ่บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้โหดอะไรนะ แต่แค่มันจะเหม็นฟอร์มาลีนหน่อย คือจริงๆ ตอนแรกก็ไม่มีใครชินหรอก แต่อยู่ไปสักพักผมก็เริ่มชินแล้วล่ะ

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพื่อนๆ คุณหมอสัตวแพทย์

อะตอม : ในคณะค่อนข้างติดดินกันค่ะ ลุยๆ กินง่าย อยู่ง่ายนะ เพราะเราต้องไปฝึกงานตามฟาร์ม ก็ต้องคุยกับเจ้าของฟาร์ม กับคนงานได้ แล้วส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงค่ะ ในกลุ่มมีกัน 9 คน เป็นผู้ชายคนเดียว 55 ว่างๆ ก็ชอบไปออกกำลังกาย เพราะว่าคณะหนูเรียนหนักนะ ต้องฝึกหนัก ตากแดด ช่วงฝึกงานนี่หนักสุดแหละ เพราะงั้น ก็เลยต้องเริ่มหันมาดูแลตัวเองกันบ้าง

เน๋ง : ผมว่าคณะนี้มันเล็ก เพราะรุ่นหนึ่งมีแค่ร้อยคนเอง ก็ค่อนข้างอบอุ่นนะ รู้จักกันหมด มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ใครมีข้อมูลอะไรก็มาแบ่งปันกันตลอด

กิจกรรมเด่นในคณะ

อะตอม : เพิ่งได้ตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์มาตอนต้นปีนี่ค่ะ ก็ได้เป็นตัวแทนของคณะไปทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์คณะกับน้องแม็กค่ะ แล้วก็ยังมีกิจกรรมออกค่ายต่างๆ ที่เคยไปทำอีก เป็นกิจกรรมช่วยเหลือสังคม หรือไม่ก็ค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ

เน๋ง : ก็ได้เป็นจุฬาคฑากรรุ่นที่ 69 คือตอนแรกเป็นเชียร์ลีดเดอร์คณะ แล้วพี่เขาก็อยากให้ไปสมัครเป็นคฑากร เพราะในคณะยังไม่มีตัวแทนเลย พอได้ไปทำจริงๆ ก็สนุกนะ แต่มันก็มีส่วนที่ยาก ทั้งการฝึกคุมไม้ การซ้อมที่หนักอยู่ แต่พอถึงวันสุดท้าย วันจริง เราก็รู้สึกภูมิใจมาก ตอนเดินผ่านสแตนด์จุฬาฯ นี่เกือบร้องไห้ มันตื้นตันอะ อีกอย่างกิจกรรมมันก็ทำให้เราได้เพื่อนกลุ่มใหม่หลายๆ คณะ ได้รู้จักคนเยอะมากขึ้นด้วยครับ

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บรรยากาศภายในห้องเรียน คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความประทับใจที่มีต่อคณะและมหาวิทยาลัย

อะตอม-เน๋ง: สังคมที่นี่อบอุ่น เรามีความเป็นพี่เป็นน้องกันตลอด มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เพราะคณะเราค่อนข้างเล็ก อยู่มาตั้ง 80 ปี ก็รู้สึกผูกพันกับที่นี่มากๆ

ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเป็นสัตวแพทย์หน้าใสบ้าง

อะตอม : สิ่งแรกที่อยากให้ทำคือค้นหาตัวเองก่อนเลย ว่าเราชอบทางด้านนี้จริงๆ หรือเปล่า เพราะคณะนี้เรียนหนักติดท็อปเหมือนกันค่ะ ไม่ได้เรียนหนักอย่างเดียว ฝึกหนักด้วยนะ เพราะฉะนั้น อยากให้มีใจรักกับงานตรงนี้จริงๆ เพราะไม่ว่าน้องจะฝึกหนักแค่ไหน ถ้าใจรัก มันก็จะผ่านพ้นไปได้แน่นอน

เน๋ง : อยากให้ตั้งใจอ่านหนังสือสอบเข้าให้มาก เพราะคณะนี้คะแนนค่อนข้างสูง ถ้าเรามีพื้นฐานจากมัธยม มันก็ช่วยเราได้มาก อย่างวิชาชีววิทยาหรือเคมี ที่ถ้าเรามีพื้นฐานก็สามารถจะเอามาต่อยอดได้เลย แล้วที่สำคัญคือต้องมีใจรักสัตว์ ไม่รังเกียจมัน แม้ในสภาพที่เหม็นมาก เราก็ต้องรับได้ เพราะว่าเราต้องทำงานกับสัตว์ ต้องรักษาสัตว์ที่เป็นโรค คือไม่ใช่ว่าเราไม่มีสิทธิไม่ชอบนะ แต่ว่าเราต้องอยู่กับมันให้ได้ ให้มันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อะตอม-พิมพ์ชนก สุวรรณธีรางกูร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล

เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อะตอม-พิมพ์ชนก สุวรรณธีรางกูร

ข้อมูลจาก นิตยสาร Campus star V.21 (กุมภาพันธ์ 2015)