อันนยองฮาเซโย วันนี้เราก็มีประสบการณ์เรียนต่อที่ประเทศเกาหลีใต้มาฝากกันอีกแล้ว หลังจากที่เราเขียนแนะนำการไปเรียนต่อแบบไม่ง้อทุนกันไปแล้ว ลองมาดูประสบการณ์เรียนต่อที่ ม. สตรีอีฮวา ประเทศเกาหลีใต้กันบ้าง การไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในกรุงโซลจะเป็นยังไงนะ
ประสบการณ์เรียนต่อที่ ม. สตรีอีฮวา ประเทศเกาหลีใต้
และคนที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์ในวันนี้คือ อาจารย์มินตรา อินทรารัตน์ อาจารย์สอนวิชาภาษาเกาหลี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.มินตราได้ไปเรียนปริญญาโท ที่ประเทศเกาหลีใต้ ด้านการสอนภาษาเกาหลี จากมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ewha Womans University – 이화여자대학교) ด้วยทุน POSCO
ได้ทุนไปเรียนได้ยังไง?
ตอนที่เรียนในระดับปริญญาตรี อ.มินตรา ก็ได้เรียนพิเศษภาษาเกาหลีไปด้วย จากที่เรียนไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงใกล้เรียนจบ อาจารย์คนเกาหลีก็แนะนำทุน POSCO ให้ เลยลองสมัครไปดู
ทุน POSCO คืออะไร? ตอนนั้นสมัครยังไง
ทุน POSCO เป็นทุนจากบริษัทใหญ่ในประเทศเกาหลี เพราะประเทศเกาหลีมีมาตรการว่า บริษัทต่างๆ จะต้องจัดให้มีบริการเพื่อสังคมในทางใด ทางหนึ่ง ทางบริษัท POSCO จึงให้ทุนกับนักศึกษาต่างชาติไปเรียนที่ประเทศเกาหลี
ทุนนี้จะให้การสนับสนุนคล้ายกับทุนรัฐบาลคือ จ่ายค่าเรียนให้หมด มีค่าเบี้ยเลี้ยงให้อีกเดือนละ 1 ล้านวอน (ประมาณ 27,000 บาท) แต่ระยะเวลาการให้ทุนจะจำกัดการให้เพียงแค่ 2 ปี ซึ่งทุนตัวนี้แตกต่างจากทุนรัฐบาลตรงที่ ไม่มีทุนให้เป็นเรียนภาษาก่อน ดังนั้นผู้ที่จะขอทุนนี้ก็อาจจะต้องมีต้นทุนทางภาษามาค่อนข้างดี จะเป็นภาษาอังกฤษ หรือเกาหลีก็ตามแต่ที่เราถนัด เพราะเราสามารถเลือกว่าจะเรียนเป็น หลักสูตรอินเตอร์ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ หรือจะเป็นหลักสูตรที่เรียนด้วยภาษาเกาหลีก็ได้
ส่วนขั้นตอนการสมัครก็เตรียมเอกสาร เขียนใบเสนอว่า เราอยากทำวิทยานพนธ์เรื่องอะไร แล้วก็ยื่นผลสอบ TOPIK ซึ่งตอนนั้นยื่นผลสอบ TOPIK ระดับ 5 ไป
ภาพ : foodinloveid.com
ทำไมต้องเป็นอีฮวา เพราะเป็น ม.ดัง?
เพราะว่าเป็นมหาวิทยาลัยดังที่คนทั่วไปรู้จักกันก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยดังการสอนก็คงต้องมีมาตรฐาน แต่สาเหตุหลักที่เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา เพราะว่าอาจารย์คนเกาหลีที่เคยสอนก็บจบมาจากอีฮวา และที่นี่ก็เด่นในเรื่องของการสอนภาษา
ประสบการณ์การเรียนที่เกาหลี
ในห้องเรียนปริญญาโทที่นี่จะเรียนรวมกันมีทั้งคนเกาหลีครึ่งห้อง และคนต่างชาติอีกครึ่งห้อง เพื่อนต่างชาติที่มาเรียนก็มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็น คนจีน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างเยอะ คนญี่ปุ่น กัมพูชา อียิปต์ อินเดีย บังกลาเทศ หรืออินโดนีเซีย เป็นต้น แต่โดยส่วนมากนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนก็เป็นประเภทที่ได้ทุนมา
เปิดเรียนวันแรกก็มีการบ้านเลย!
ในวันเปิดเทอมวันแรกอาจารย์จะแจก Course Syllabus หรือแผนการสอนในเทอมนี้ให้กับนักศึกษาทุกคนเพื่อแจ้งว่าในแต่ละสัปดาห์จะเรียนเรื่องใดบ้าง และต้องไปอ่านตำราเล่มไหนบ้าง ซึ่งที่หนักไปกว่านั้นคือ ในคาบแรกนี้เราจะต้องจับกลุ่มทำงานเลย โดยเลือกหัวข้อที่จะศึกษาจาก Course Syllabus แล้วมาพรีเซนต์ ตามสัปดาห์ที่กำหนดเอาไว้ ในคลาส ป.โท อาจารย์จะมีบทบาทคอยช่วยเสริม เป็นที่ปรึกษาให้ แต่อาจารย์จะไม่เลกเชอร์แล้ว
ในระดับปริญญาโทจะต้องเรียนทั้งหมดประมาณ 36 หน่วยกิต ใน 1 เทอมจะเรียนกันประมาณ 3-4 วิชา ดังนั้นใน 1 เทอม ทุกคนจะได้พรีเซนต์เป็นอย่างน้อย 4 ครั้ง กลุ่มทำงานจะจับกลุ่มละ 3-4 คน ใน 1 กลุ่มจะต้องมีคนเกาหลี 1 คน เพราะเด็กต่างชาติก็จะมีปัญหาเรื่องภาษาเกาหลี หรือความรู้เรื่องของประวัติศาสตร์เกาหลี ส่วนคนเกาหลีที่ในอนาคตจะต้องไปสอนชาวต่างชาติ จะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
ได้เกรดยากไหม?
เด็กที่ได้ทุนจะต้องรักษาเกรดตามเงื่อนไข ที่สัญญาทุนกำหนด แล้วการไปเรียนต่างประเทศจะทำเกรดยากไหม? อันที่จริงถ้าเป็นระดับปริญญาโทก็ไม่ยากมาก เพราะอาจารย์ไม่กดเกรด และคลาสเรียนไม่ใหญ่มาก ถ้าหากเราไม่ตั้งใจเรียนก็จะเห็นชัด อีกทั้งถ้าเราไม่ตั้งใจเรียนจะทำให้เราตามเนื้อหาไม่ทันเพื่อนๆ และถ้าเกรดเราร่วง อาจารย์ที่ปรึกษาก็จะเรียกไปคุย ว่าทำไมถึงได้เกรดเท่านี้ ดังนั้นสถานการณ์หลายๆ อย่างก็ทำให้เราต้องตั้งใจเรียน
เรียนจบมาเป็นอาจารย์สอนภาษาเกาหลีอย่างเดียวไหม?
จริงๆ ก็ไม่จำเป็นนะ เพราะเมื่อเราได้ภาษาติดตัวมาก็สามารถทำงานอย่างอื่นได้ด้วย เพราะก่อนหน้าที่จะมาสมัครงานเป็นอาจารย์ ก็ทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมาก่อน