อ่านหนังสือสอบ เคล็ดลับการอ่านหนังสือ เคล็ดลับการเรียน

เคล็ดลับ 5 ข้อ ที่ช่วยให้การอ่านหนังสือสอบเป็นเรื่องง่าย

Home / วาไรตี้ / เคล็ดลับ 5 ข้อ ที่ช่วยให้การอ่านหนังสือสอบเป็นเรื่องง่าย

ในเดือนหน้าเป็นช่วงที่เด็กมหาลัยบางแห่งจะต้องสอบปลายภาค และยังเป็นเดือนที่น้องๆ ม.6 ต้องสมัครสอบ GAT PAT และ 9 วิชาสามัญกันแล้ว แต่ถึงจะใกล้สอบแค่ไหน ถ้าไม่เหลือเวลาแค่อาทิตย์เดียวก่อนสอบ ก็ยังขี้เกียจอ่านหนังสือกันอยู่ดีใช่ไหมล่ะคะ

เคล็ดลับ 5 ข้อ ที่ช่วยให้การอ่านหนังสือสอบเป็นเรื่องง่าย

วันนี้เราเลยมีวิธีง่ายๆ มาฝากกัน ถ้าเราไม่ใช่เด็กหัวดีที่สามารถอ่านหนังสืออาทิตย์เดียวแล้วก็ไปสอบได้ และก็ไม่ใช่เด็กที่ขยันเรียน แต่อยากสอบผ่านได้ เรามาดูกันดีกว่าว่ามีวิธีอะไรบ้างที่ทำให้เราอยากอ่านหนังสือ

1. หาวิชาที่ชอบ

เป็นเรื่องปกติที่เราไม่ได้ชอบเรียนทุกวิชา ซึ่งเราอาจจะชอบวิชาใดแค่วิชาหนึ่งก็ได้ และถ้าเราเริ่มต้นอ่านหนังสือวิชาชอบก่อนก็จะทำให้เราอยากอ่านหนังสือมากขึ้น จากนั้นค่อยไปเริ่มอ่านหนังสือวิชาอื่นที่เราชอบรองลงมาเรื่อยๆ เพราะถ้าเราอ่านหนังสือวิชาแรกจบ เราก็จะรู้สึกว่า ถ้าตั้งใจอ่านไม่นานก็จบ ทำให้เรามีกำลังใจในการอ่านวิชาต่อๆ ไปได้

วิธีการจดเลกเชอร์

2. เลือกวิธีจดโน้ตย่อที่เหมาะกับตัวเอง

แต่ละคนมีวิธีการจดเลกเชอร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งการจดเลกเชอร์นั้นจะช่วยให้เราจดจำได้ง่ายขึ้น เพราะเราจะได้อ่านทวนทั้งหมดก่อน ก่อนที่จะทบทวนซ้ำด้วยการจดเลกเชอร์ แต่เคล็ดลับอยู่ตรงที่จะจดเลกเชอร์ยังไง เพราะแค่อ่านหนังสืออย่างเดียว ปกติก็ขี้เกียจอ่านอยู่แล้ว แต่ถ้าเราลองจดเลกเชอร์ด้วยวิธีที่เราชอบเช่น วาดการ์ตูน ตกแต่ง mind map ด้วยปากกาหลากสี ร้องเพลง ดูหนัง ดูการ์ตูน ก็ลองเอาสิ่งเหล่านี้มาประกอบในการสร้างความจดจำ

  • คนทีชอบวาดการ์ตูนอาจจะเอาเนื้อหาที่จะสอบมาวาดเป็นตัวการ์ตูน หรือวาดรูปประกอบเพิ่มความเข้าใจลงไป และถ้าเราจำรูปนั้นได้ เราก็มีความรู้ไปสอบแล้ว
  • เป็นคนชอบสีสันเยอะๆ ลองวาด mind map ด้วยปากกาหลากสีที่มีเลยค่ะ แล้วแถมสีพวกนี้ก็ยังช่วยในการจดจำด้วย เราก็จะได้วาดรูประบายสีไป แถมยังได้ความรู้ด้วย
  • เป็นคนชอบร้องเพลง ชอบครีเอท เวลาว่างลองเอาเนื้อหาที่จะสอบมาแต่งเป็นเพลงเลยค่ะ เพราะนี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการเลกเชอร์ที่สนุก แล้วยังได้ความรู้อีกด้วย
  • ชอบดูการ์ตูน ชอบดูหนัง ฟังเพลงภาษาต่างประเทศ ซึ่งเวลาที่เราใช้ไปกับสิ่งบันเทิงเหล่านี้ให้ลองฟัง ลองพูดตามในหนัง เพลง หรือการ์ตูน ว่าในนั้นมีคำศัพท์อะไรบ้าง นอกจากนี้หนังแนววิทยาศาสตร์ก็พอจะมีเกร็ดความรู้วิทยาศาสตร์อยู่บ้าง นั่นก็จำไปเป็นประโยชน์ในการสอบได้

โดยส่วนตัวเราก็เป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือสอบเหมือนกัน เราก็ใช้วิธีพวกนี้ไนการจำไปสอบ มีครั้งหนึ่งที่เราจำชื่อดาวต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษได้ เพราะเราจำมาจากตอนดูเซเลอร์มูน หรือตอนก่อนสอบ GAT เราจำคำศัพท์เป็นเพลง ซึ่งเราไม่ได้ใช้เวลาเป็นวันในการนั่งท่องศัพท์ แต่ใช้เวลาแค่ตอนที่นั่งฟัง ผ.อ. พูดหน้าโรงเรียนร้อนๆ ทุกเช้าก็เปิดเพลงศัพท์ นั่งขยับปากร้องไปเบาๆ คือมันช่วยให้เราจำคำศัพท์ได้เยอะขึ้นจริงๆ

3. ให้รางวัลตัวเอง

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง อย่างการอ่านหนังสือสอบก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ปัญหาคือรางวัลอย่าตั้งให้ได้ยากเกินไป หรืออย่าเป็นสิ่งที่ได้ง่ายเกินไป เช่น ถ้าเราอ่านหนังสือจบเล่มแล้ว จะให้รางวัลตัวเองด้วยการเล่นเกมส์ 2 ชั่วโมง แบบนี้ก็อาจจะเป็นการตั้งรางวัลที่ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะกว่าจะอ่านหนังสือจบทั้งเล่มใช่เวลานานเท่าไหร่ แล้วกว่าจะได้เล่นเกม แต่ถ้าจะตั้งว่าอ่าน 10 หน้าแล้วเล่นเกมก็อาจจะเร็วเกินไป อ่านหนังสือ 10 หน้าไม่นานก็จบแล้ว เล่นเกมส์ไปอีก 2 ชั่วโมงอีกก็คงไม่ไหว

ดังนั้นเวลาตั้งรางวัลตั้งให้สมดุลกับกับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นคนที่มีสมาธิสั้นอาจจะรางวัลง่ายๆ อย่างถ้าอ่านหนังสือครบ 10 หน้าจะได้เล่นเกมหนึ่งตา เราก็จะได้อ่านไปเรื่อยๆ 50 – 60 หน้าก็เป็นได้

ให้รางวัลตัวเอง

4. กำหนดเป้าหมาย

ตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าเราอยากเข้าคณะอะไร อยากได้เกรดอะไร พอเรามีเป้าหมาย แล้วเราก็จะมีแรงสู้ไปอ่านหนังสือ แต่การตั้งเป้าหมายก็แล้วบุคคลอีกนั่นแหล่ะ เพราะบางครั้งเป้าหมายสูงเกินไป ยากที่จะได้มา แล้วใจเราไม่สู้พอมันก็ไม่มีผล ดังนั้นอยากให้ดูจากตัวเองเป็นหลักว่าใจสู้แค่ไหน การตั้งเป้าหมายเล็กๆ แล้วค่อยก้าวไปก็สำเร็จ ได้เหมือนกับการตั้งหมายสูง เช่น ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าเราอยากได้เกรด 4 แต่ขยันอ่านหนังสือสอบได้ 3 วันก็ไม่ไหวแล้วยากเกิน ลองเปลี่ยนมาเป็นสอบย่อยแต่ละรอบยังไงให้ได้คะแนนเยอะๆ แล้วเราก็จะได้ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปทีละบทเรียนก็จะง่ายกว่า

5. หาแรงบันดาลใจ

แรงบันดาลใจอาจจะเป็นคำที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย แต่แรงบันดาลใจนั้นเป็นสิ่งที่ได้ผลเยอะกว่า เพราะแรงบันดาลใจอาจจะไม่สิ่งที่ดูเป็นเป้าหมายชีวิตแบบจริงจังมาก แต่เป็นสิ่งที่ตอนนั้นเราอินแบบจริงจังมาก เช่น เป้าหมายอาจจะเป็นผู้ชายก็ได้ อย่างเมื่อก่อน ต่อ ฮอร์โมนเรียนอยู่ที่เกษตร แล้วถ้าเราชอบต่อมากๆ เราก็จะพยายามสอบให้ติด ม. เกษตร เพราะอยากเจอพี่ต่อ เป็นต้น

ภาพ : pinterest

บทความแนะนำ